โรคขาดวิตามินเอ หรือโรคเกล็ดกระดี่ขึ้นตา คืออะไร ทำไมถึงส่งผลทำให้ลูกตาบอดได้ มาหาคำตอบกันค่ะ
คุณพ่อคุณแม่กำลังสงสัยกันอยู่ใช่ไหมละคะว่า แค่ขาดวิตามินถึงขั้นทำให้ลูกตาบอดได้เลยจริง ๆ หรือ คำตอบก็คือ โอกาสที่จะเป็นนั้นเป็นไปได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีฐานะยากจน หรืออยู่ในพื้นที่ชนบทบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มักพบในเด็กวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี ส่วนในผู้ใหญ่จะพบเป็นโรคนี้ได้น้อย
โรคขาดวิตามินเอ คืออะไร?
เราสามารถเรียกโรคนี้ได้อีกชื่อหนึ่งว่า เกล็ดกระดี่ขึ้นตา ด้วยภาวะที่ร่างกายขาดวิตามินเอ ทำให้ประสาทตาส่วนที่เรียกว่า จอตา หรือเรตินา นั้นเสื่อมลง ทำให้เยื่อบุตาแห้งและต่อมน้ำตาไม่ทำงาน จึงอาจทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้ตาบอดได้
นายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงอาการตาบอดกลางคืน ว่า เนื่องจากจอตาของคนเราจะมีเซลล์อยู่สองชนิดคือ Rod cells รับแสงในเวลากลางคืน และ Cone cells รับแสงในเวลากลางวัน ซึ่งหาก Rod cells เสียหายก็จะมีอาการตาบอดกลางคืนได้ ปกติคนเราจะมองเห็นไม่ได้ดีนักในเวลากลางคืนอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการมองเห็นภาพในเวลากลางคืนได้แย่กว่าคนปกติทั่วไป การขาดวิตามินเอก็มีส่วนทำให้มีอาการตาบอดกลางคืนได้ เพราะวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการทำงานของ Rod cells นั่นเอง
ร่างกายขาดวิตามินเอได้อย่างไร? คลิก >>
เครดิต: นายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข
สาเหตุที่ร่างกายขาดวิตโรควิตามินเอ
- ร่างกายได้รับวิตามินเอจากอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และถ้าหากไม่รับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินเอ เนื้อสัตว์ ตับ และไข่แดงร่วมด้วยนั้น ยิ่งส่งผลให้ร่างกายไม่ได้รับวิตามินชนิดนี้แน่นอน
- ร่างกายมีปัญหาเรื่องการดูดซึม หรือการสะสม หรือแม้กระทั่งกลไกภายในของร่างกายเองทำให้การดูดซึมของวิตามินเอนั้นลดลง ยกตัวอย่างเช่น โรคท้องร่วง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง และท่อน้ำดีอุดตัน เป็นต้น
- รับประทานอาหารได้น้อย หรือเลือกที่จะรับประทานแต่ข้าวเพียงอย่างเดียว ไม่เน้นผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ตับและไข่แดง
- ในผู้ใหญ่นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้พบโรคนี้บ่อยเหมือนกับเด็ก ๆ หากดื่มสุราเป็นประจำละก็ โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มีได้เช่นกันค่ะ
ใครคือกลุ่มเสี่ยง?
- ทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ หรือทารกที่กินนมแม่แต่หย่านมเร็วเกินไป แล้วเลี้ยงต่อด้วยนมอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมตามวัย
- เด็กที่ขาดสารอาหาร หรือเป็นโรคขาดสารอาหาร
- เด็กที่อยู่ในพื้นที่ ๆ บริการด้านสาธารณสุขนั้นไปได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ไม่ได้รับบริการที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น บริการเสริมภูมิคุ้มกันโรค เป็นต้น
- เด็กที่ได้รับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หัด และอีสุกอีใสเป็นต้น ซึ่งเด็กที่ป่วยเป็นโรคตามที่กล่าวมานี้นั้น ร่างกายของพวกเขาจะต้องการวิตามินเอมากกว่าปกติค่ะ
- ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร
- บุคคลที่ดื่มสุราเป็นประจำ เป็นต้น
อาการโรคขาดวิตามิเอ เป็นอย่างไร >>
อาการของโรค
สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 หรือเรียกอีกอย่างว่า ระยะตาบอดกลางคืน จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการตาบอดกลางคืนหรือตาฟาง จึงทำให้มองไม่เห็นเฉพาะในที่มืด ๆ หรือที่ ๆ มีแสงน้อย แสงสลัว หรือในตอนกลางคืน แต่ยังคงมองเห็นได้ปกติในที่สว่าง ๆ หรือในเวลากลางวัน
- ระยะที่ 2 หรือ ระยะตาแห้ง เยื่อตาขาวจะเริ่มแห้ง เมื่อเป็นมากขึ้นเยื่อตาขาวจะย่นอยู่รอบ ๆ กระจกตาดำทำให้ดูคล้ายเกล็ดปลา และในขณะเดียวกันกระจกตาดำจะแห้งและไม่มีประกาย ผิดกับปกติที่กระจกตาดำจะสะท้อนแสงวาววับเวลาที่จ้องมอง ตาขาวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทา และบริเวณหางตาจะมีสารสีเทาหรือสีขาวทำให้เป็นจุดใหญ่ ๆ เรียกว่า “เกล็ดกระดี่” หรือ “จุดบิทอตส์” มีลักษณะเหมือนฟองโฟมมัน ๆ เล็ก ๆ หรือเป็นแผ่นสีขาวหนาตัวขึ้น โดยจุดที่เป็นเกล็ดกระดี่หรือจุดบิทอตส์นี้อาจเป็นที่ตาทั้งสองข้างหรือเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้
- ระยะที่ 3 หรือ ระยะตาอ่อน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาแน่นอนค่ะว่า อาการก็จะเริ่มเป็นมากขึ้น ตาขาวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเทาแก่ เยื่อบุตาจะมีรอยย่นมากขึ้น กระจกตาจะเป็นฝ้าขาวและลูกตาจะอ่อนนุ่มจนกระจกตาเป็นแผลและเกิดรูทะลุ จึงทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในลูกตาได้และทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตาและตาบอดในที่สุด
สำหรับโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกได้ด้วยการให้ลูกรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ๆ อาทิเช่น เนื้อ ตับ ไข่ นม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง มะเขือเทศ มะละกอสุก มะม่วงสุก หรือผักที่มีสีเหลืองและสีเขียวเข้ม เป็นประจำนะคะ
เครดิต: MedThai และ Honest Docs
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- ทารกขาดวิตามินบี 12 เสียชีวิต เพราะแม่รักสุขภาพกินแต่ผัก
- รวมฮิต ติดชาร์ต ผักผลไม้วิตามินซีสูงเพื่อลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่