หวัดลงกระเพาะ หรือ ไวรัสลงกระเพาะ โรคที่มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด แต่มีอันตรายมากกว่าหากไม่รีบรักษา โดยเฉพาะหากโรคนี้เกิดขึ้นกับทารก และเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
หวัดลงกระเพาะ ระบาดในเด็กเล็ก! วิธีรับมือเมื่อลูกอาเจียน-ท้องเสีย
หวัดลงกระเพาะ คืออะไร?
แม่ ๆ มักจะคุ้นชินกับโรคไวรัสลงกระเพาะ ซึ่งโรคนี้มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ทำให้คิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือระบบทางเดินอาหารอักเสบ แต่จริง ๆ แล้ว ตัวร้ายของโรคไวรัสลงกระเพาะ คือเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสนี้นอกจากอาการไอ จาม มีไข้ และมีน้ำมูกแล้ว ไวรัสนี้ยังทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วย นี่เป็นเพราะเชื้อไวรัสได้เข้าไปเกิดอาการอักเสบที่บริเวณกระเพาะอาหาร หรือบริเวณลำไส้ เมื่อมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไปแล้ว ทำให้โรคนี้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหวัดธรรมดา ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอะไร แต่ทราบไหมคะว่าเมื่อเป็น หวัดลงกระเพาะ แล้ว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ไวรัสลงกระเพาะ หรือ หวัดลงกระเพาะ คือ ภาวะติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรค หรือใช้เครื่องใช้ที่มีอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายปนเปื้อนเชื้อโรคติดอยู่ รวมทั้งการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง ผู้ป่วยมักอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักหายจากโรคนี้ได้เอง แต่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังไม่มีวิธีรักษาภาวะนี้โดยตรง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาประคับประคองตามอาการจนกว่าจะหายดี ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารและน้ำดื่มที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรค
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดลงกระเพาะ มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้แก่
- โรต้าไวรัส หรือ Rotavirus มักจะพบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะทารกที่มีอายุ 3-15 เดือน เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะชอบเอามือเข้าปาก หรือหยิบสิ่งของเข้าปาก ผู้ป่วยมักมีอาการปรากฏหลังได้รับเชื้อแล้ว 1-3 วัน และอาจป่วยนาน 3-7 วัน แม้ผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่เด็กเล็กได้เช่นกัน เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโรต้าไวรัสแล้ว จะทำให้มีส่งไข้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง และในเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มไม่มากพอ อาจมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ลำตัวเย็น ปัสสาวะลดลง ตาโหล ได้ (อ่านต่อ รู้จัก ไวรัสโรต้า ต้นเหตุลูกน้อยท้องร่วง พร้อมราคาวัคซีน)
- โนโรไวรัส หรือ Norovirus เป็นไวรัสในกลุ่มที่ก่อ “โรคหวัดลงกระเพาะหรือ สต็อมมัค ฟลู (stomach flu)” โรคนี้จะปรากฏอาการของโรคหลังได้รับเชื้อเข้าไปเพียง 24-48 ชั่วโมง หรือเกิดอาการได้เร็วกว่านั้น หากเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเนื้อปวดตัว อาเจียน ปวดท้องมาก ท้องเสีย อ่อนเพลีย อาการของโรคจะเป็นอยู่ไม่นานเพียงวันสองวัน และอาการมักไม่หนัก แต่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกว่าไม่สบายเอามาก ๆ ทีเดียว สำหรับเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอมักมีอาการหนักกว่าหนุ่มสาว (อ่านต่อ แม่แชร์! ลูกอึเป็นเมือกจาก ไวรัส โนโร หากเป็นหนัก อาจตายได้)
- อะดีโนไวรัส หรือ Adenovirus เชื้อไวรัสอะดีโน ทําให้เกิดอาการ ผิดปกติได้หลายแบบ ทั้งในระบบทางเดินหายใจ ระบบ ทางเดินอาหาร และตา การติดเชื้อไวรัสอะดีโนทําให้เกิดอาการได้หลายแบบ เช่น คออักเสบ ตาแดง ปอดอักเสบ และอุจจาระร่วง นอกจากนั้น ยังอาจทําให้เกิดอาการรุนแรงโดยเฉพาะเกิดปอดอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในเด็กเล็ก
จะเห็นได้ว่าไวรัสแต่ละชนิด ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดอาการร้ายแรงถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะภาวะขาดน้ำ ดังเช่นข่าวที่พบกันได้บ่อย ๆ ว่ามีผู้ป่วยท้องเสียจนเสียชีวิต ดังนั้น ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด อาการ และการป้องกัน หวัดลงกระเพาะ มาฝากค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ หวัดลงกระเพาะ ติดต่อกันได้อย่างไร? มีอาการอย่างไร? และวิธีการป้องกัน
หวัดลงกระเพาะ ติดต่อกันได้อย่างไร?
ไวรัสทั้ง 3 ชนิดที่ได้กล่าวไปนั้น มักจะมากับเชื้อโรคและอากาศ คือ เมื่อมีอาการ ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ เชื้อไวรัสดังกล่าวจะออกมาด้วย จากนั้นเชื้อไวรัสจะเกาะอยู่บริเวณต่าง ๆ ตามสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ลูกบิดประตู ของเล่นเด็ก ฯลฯ สำหรับเด็กเล็กที่อยู่ในวัยที่ชอบเอามือเข้าปาก หรือเอาของเล่นเข้าปาก จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย
การรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำซึ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัสเหล่านี้ หรือการกลืนเชื้อไวรัสจากเครื่องใช้ที่เปื้อนอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ รวมทั้งการรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนโดยไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น หอยนางรมดิบ ก็ทำให้ติดโรคในระบบทางเดินอาหารเหล่านี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง ก็ทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น การใช้แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน หรือส้อมร่วมกับผู้ป่วย และการสัมผัสมือ เสื้อผ้า หรือผ้าอ้อมที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่
วิธีสังเกตอาการว่าลูกเป็น หวัดลงกระเพาะ หรือไม่?
ไวรัสลงกระเพาะอาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรีย โดยมีอาการเบื้องต้น ดังนี้
- อุจจาระเป็นน้ำ ซึ่งมักไม่มีเลือดปนแต่อาจเกิดขึ้นได้หากติดเชื้อรุนแรง
- เป็นตะคริวบริเวณท้อง และปวดท้อง โดยไม่ได้ปวดเฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือทั้ง 2 อย่าง
- ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ หรือข้อ
- มีไข้ต่ำ รู้สึกหนาวสั่น
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อ 12-48 ชั่วโมง และอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันตามเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งอาการป่วยมักหายได้เองภายใน 1-3 วัน แต่อาจป่วยยาวนานได้ถึง 10 วัน อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการ และไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการรุนแรง ดังต่อไปนี้
- ทารก
- อาเจียนนานหลายชั่วโมง
- ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
- อุจจาระเป็นเลือด หรือเหลวมาก
- กระหม่อมบุ๋ม ตาโหล
- ปากแห้ง หรือร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา
- นอนมาก ซึมลง หรือไม่ตอบสนอง
- เด็กเล็ก
- มีไข้สูง
- ซึมลง หรือกระสับกระส่ายผิดปกติ
- งอแง ไม่สบายตัว หรือปวดท้องมาก
- อุจจาระเป็นเลือด
- เสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยควรสังเกตจากการเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ดื่มกับการปัสสาวะว่าผิดปกติหรือไม่
การรักษาและการป้องกัน หวัดลงกระเพาะ
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะรักษาตามอาการ เมื่อพบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หากเกิดอาการคลื่นไส้รุนแรงให้กินเกลือแร่ทดแทนการขาดน้ำในร่างกายทันที หากมีอาการอาเจียน ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามป้อนอาหารอ่อน น้ำสะอาด นมหรือน้ำหวาน ผ่านการใช้ช้อนชา ไม่ควรสัมผัสกับมือโดยตรง พยายามป้อนอาหารทีละนิด รอดูอาการภายใน 30 นาที แล้วค่อยป้อนใหม่ หากมีอาการอาเจียนน้อยลง พยายามป้อนอาหารให้มากขึ้น เพราะอาหารจะทำให้ร่างกายมีพลังงาน สร้างภูมิต้านทานและลดเชื้อโรคลงได้ในที่สุด สังเกตว่าเด็กมีอาการดีขึ้นได้จากอาการหิว ถ้าอาการแย่ลง กินอาหารไม่ได้และอาเจียนรุนแรงขึ้น ต้องส่งพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือทันที
ปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า โดยการพาลูกไปหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า และแม้ว่าเชื้อไวรัสอะดีโน และเชื้อไวรัสโนโร จะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกติดเชื้อได้ดังนี้
- ผู้เลี้ยงเด็กต้องหมั่นล้างมือทุกครั้ง
- ก่อนจะหยิบจับอาหารหรือชงนมให้เด็กที่กินนมผสม รวมทั้งขวดนม จุกนม ต้องล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทันทีและฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10 – 15 นาที
- ควรชงนมในปริมาณที่กินหมดในครั้งเดียว ถ้ายังกินไม่หมดควรมีฝาครอบจุกให้มิดชิดและไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 2 ชม
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ ต่าง ๆ ที่ลูกอาจจะหยิบจับเอาเข้าปากได้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ร่างกายของลูกได้
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจคลิก
ตารางวัคซีน 2564 ปีนี้มีปรับรายละเอียด? ลูกต้องฉีดอะไร ตอนไหนบ้าง เช็กเลย!
ลูกชอบอมมือ-เอามือเข้าปาก พรากชีวิตลูกได้จากโรคท้องเสียในเด็ก
RSV คือ อะไร? เตรียมรับมือกับไวรัสอันตรายในหน้าฝน
อนุมัติแล้ว! เด็กไทยฉีด “วัคซีน HIB” ฟรี!! ป้องกันได้ 5 โรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : พบแพทย์, สสส., www.hfocus.org, pidst.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่