อ่วม WHO เผยโรคหัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกพุ่ง!! - Amarin Baby & Kids
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็ก

อ่วม WHO เผยโรคหัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกพุ่ง!!

event
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็ก
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็ก

องค์การอนามัยโลกเผยยอดเด็กเสียชีวิตด้วยโรคหัด หัดเยอรมัน พุ่งกว่าสองแสนราย หัดเป็นโรคที่ติดต่อง่าย แต่ป้องกันง่าย ๆได้ด้วยวัคซีน ฉีดเมื่อไหร่อย่างไรมาดูกัน

อ่วม..WHO เผยโรคหัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกพุ่ง!!

เมื่อลมหนาวมาเยือน บอกถึงการมาของฤดูหนาว สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลกับการมาของลมหนาว คือ โรคระบาดต่าง ๆ ที่มากับหน้าหนาวโดยเฉพาะโรคหัด หัดเยอรมัน ที่แม้ว่าจะเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักจะพบบ่อยในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน (ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม) โรคหัด เป็นโรคที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสถิติที่ได้จากข้อมูลการรายงานจากองค์การอนามัยโลก WHO และ ศูนย์ควบคุมโลก CDC ของสหรัฐอเมริกา (2563) พบว่า โรคหัด (Measles) ได้คร่าชีวิตเด็ก ๆ ทั่วโลกประมาณ 207,500 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโรคหัดทั่วโลกจำนวนสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 869,770 รายในปีที่ผ่านมา

หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลก
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลก

เฮนเรียลตา ฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารของกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ UNICEF ระบุในแถลงการณ์ว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 นั้น โลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคหัด หัดเยอรมัน และโรคดังกล่าวก็ยังไม่ได้หายไป อันเนื่องมาจากประเทศต่าง ๆ ประสบความล้มเหลวในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคหัดที่มีประสิทธิภาพ และยิ่งมีการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้กับประชาชน

โดยประชาชนมากกว่า 94 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัดใน 26 ประเทศซึ่งได้ระงับการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด แม้ว่าการระบาดในประเทศนั้น ๆ ยังคงมีจำนวนมากก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการเสียชีวิตจากโรคหัดในปี 2562 เพิ่มขึ้น 50% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2559 ขณะที่มีผู้ติดเชื้อหัดเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก

วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันนั้น…สำคัญไฉน??

โรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่จะให้มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคนั้น เด็ก 95% ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างถูกต้อง และครบโดส มาดูกันว่าการฉีดวัคซีนป้องกันนั้นควรฉีดเมื่ออายุเท่าไหร่ และต้องฉีดเท่าไหร่จึงจะนับว่าครบโดส

วัคซีนป้องกันโรคหัด

โดยปกติวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นวัคซีนตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ ต้องฉีดให้เด็กทุกคนที่อายุระหว่าง 9 ถึง 12 เดือน ฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป และให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ปี วัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยว และชนิดที่รวมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันและโรคคางทูม (MMR) ในเข็มเดียวกัน การขอรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวในประเทศไทย สามารถขอได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลทั่วไป

วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน
วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน

วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงในการคลุกคลีกับผู้ป่วย ซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาได้โดยง่าย และควรมีการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขจะมีการฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ทั้งหมด 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 2½ ปี แต่ในบางรายที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสกับโรค แพทย์อาจมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นภายในช่วง 6 เดือนแรก และฉีดเข็มที่ 2 ภายในอายุ 2½ ปี แต่ควรมีระยะเวลาห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน

ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ แต่หากไม่ได้รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการฉีดทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป และเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดกับทารกขณะอยู่ในครรภ์ สำหรับหญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจเลือด หรือระบบภูมิคุ้มกันโรคตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บุคคลบางกลุ่มควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายขึ้นได้ เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนีโอมัยซิน (Neomycin) แพ้เจลาติน (Gelatin) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติของเลือด หรืออยู่ในช่วงการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนบางราย เช่น อาการบวมแดงหรือระบมบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ปวดตามข้อ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง และอาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน

เลี่ยงได้เลี่ยง…มาทำความรู้จักกับโรคร้ายกัน

โรคหัด (Measles หรือ Rubeola) เกิด จากเชื้อไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus) พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โรคหัดเกิดได้กับทุกอายุ และพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2 ถึง 14 ปี แต่ไม่ค่อยพบในทารกที่อายุน้อยกว่า 6 ถึง 8 เดือนเนื่องจากทารกเหล่านี้มีภูมิต้านทานที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาด ของโรค นอกจากนี้ผู้ที่อาศัยอยู่รวมกันหนาแน่น หรือในศูนย์อพยพ วัด โรงเรียน ฯลฯ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคหัดได้

ผื่นแดง อาการโรคหัด
ผื่นแดง อาการโรคหัด

อาการของโรคหัด

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มมีอาการ ช่วงแรกอาการคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ก็ไม่ลด อ่อนเพลีย ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม บางรายอาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน หรืออาจชักจากไข้ ต่อมาผื่นจะขึ้นเริ่ม ลักษณะเฉพาะของโรคหัดคือมีไข้สูง 3 ถึง 4 วันแล้วจึงเริ่มมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยเริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ผิวหนังโดยรอบอาจเป็นสีแดงระเรื่อ บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปทันทีแต่จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้น หลังจากผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก โรคหัดส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย

โรคแทรกซ้อน

มักพบในเด็กขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งมักพบหลังผื่นขึ้น หรือเมื่อไข้เริ่มทุเลาแล้ว โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้คือ โรคสมองอักเสบ นอกจากนี้ขณะที่เป็นโรคหัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลงทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น

โรคหัดเยอรมัน (Rubella) เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ ทำงาน และระบาดบ่อยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เชื้ออยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที ใช้เวลาประมาณ 14 ถึง 21 วันจึงเริ่มเกิดอาการ อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากมักไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง แต่ถ้าสตรีมีครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3 ถึง 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาพิการ เช่น สมองฝ่อ หูหนวก ต้อกระจกตา โรคหัวใจ คนที่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต

หัดเยอรมันมีความคล้ายคลึงกับโรคหัด โดยมักมีอาการออกผื่น ไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโตเหมือนกัน แต่เป็นการติดเชื้อไวรัสคนละชนิดและมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ทั้งนี้ ในประเทศไทยอาจมีชื่อเรียกอื่นว่า โรคเหือด หรือโรคหัด 3 วัน

ไอ จาม มีน้ำมูก การแพร่เชื้อ หัดเยอรมัน
ไอ จาม มีน้ำมูก การแพร่เชื้อ หัดเยอรมัน

อาการของโรคหัดเยอรมัน

อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรกค่อนข้างมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้

  • มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส)
  • ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู
  • มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม และเมื่อผื่นหายมักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไป และมักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ไม่อยากอาหาร
  • เยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีอาการบวม
  • ปวดข้อ และข้อต่อบวม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการของโรคได้เช่นกัน อาการของโรคที่เกิดในเด็กจะร้ายแรงน้อยกว่าเมื่อเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้อาการของโรคจะคงอยู่ไม่นานประมาณ 2-3 วัน ยกเว้นในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมอาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ดังนั้น หากพบอาการคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่อาจส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้

โรคแทรกซ้อน

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขณะติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน โรคแทรกซ้อนที่พบได้คือ สมองอักเสบ ข้อนิ้วมื้อนิ้วเท้าอักเสบ ผู้หญิงที่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกที่เกิดมามีความพิการได้

วัคซีนป้องกัน หัดเยอรมัน ลดสถิติเสียงชีวิตเด็ก
วัคซีนป้องกัน หัดเยอรมัน ลดสถิติเสียงชีวิตเด็ก

การประกาศรายงานสถิติยอดเสียชีวิต และติดเชื้อของผู้ป่วยโรคหัด หัดเยอรมันของทางองค์การอนามัยโลก หรือWHO นั้นเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ทั่วโลกเฝ้าระวัง ตื่นตัว และหันมาสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะความจริงแล้วการป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลลัพธ์ที่ดี เพียงแค่ให้เด็กได้รับวัคซีนป้องกัน ก็จะมีผลคุ้มครองไปตลอดยังชั่วชีวิตของเขา ดังนั้นการที่ให้ทั่วโลกตระหนัก และช่วยกันหยุดยั้งสถิติการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลกจึงเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ โดยพ่อแม่สามารถทำได้ด้วยการไม่ละเลยในการพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่มีแจ้งในสมุดบันทึกสุขภาพของลูกน้อย เพียงเท่านี้เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหยุดยั้งสถิติโลกที่พุ่งนี้ให้ลดลงจนอาจกลายเป็นศูนย์เข้าสักวันก็เป็นได้

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก pobpad/today.line.me /สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

อ่านบทความดี ๆ ต่อคลิก

โรคหัดเยอรมัน อันตราย ที่คนท้องต้องระวัง ควรฉีดวัคซีนก่อนท้องนานแค่ไหน

“ฝึกลูกนอนคว่ำ” อันตราย! เสี่ยงขาดอากาศหายใจ

9 วัคซีนสำหรับผู้หญิง ที่จำเป็นต้องฉีด!

ไวรัส RSV ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ อันตรายรุนแรงได้คล้ายอาการ RSV ในเด็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up