AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

8 สัญญาณร้ายที่อาจเป็น เนื้องอกมดลูก อันตรายแค่ไหน เรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้!

เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก โรคที่มักเกิดกับผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุ 30-50 ปี ที่อาจทำให้คุณแม่ทุกคนรู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อย ซึ่งก้อนเนื้องอกนี้สามารถเติบโตไปกดทับอวัยวะใกล้เคียงจนส่งผลแทรกซ้อนอื่นๆ ต่อร่างกายได้ การสังเกตตนเองและรู้เท่าทันอาการเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้แม่ ๆ อุ่นใจยิ่งขึ้น

เนื้องอกมดลูก อันตรายแค่ไหน เรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้!

“เนื้องอกมดลูก” เป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเซลล์กล้ามเนื้อของมดลูกที่ผิดปกติ มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตจนกลายเป็นก้อนเนื้อแทรกอยู่ในชั้นกล้ามเนื้ออาจเกิดในเนื้อมดลูกหรืออยู่ในโพรงมดลูก หรือโตเป็นก้อนนูนออกมาจากตัวมดลูก สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม การใช้ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนเพศหญิงและตัวเร่งการเจริญเติบโตที่มดลูกจะทำให้เนื้องอกโตขึ้น โดยลักษณะการโตของก้อนเนื้องอกส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ในบางรายเนื้องอกมดลูกอาจไม่โตเพิ่มขึ้น และไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ซึ่งเนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยจะพบว่ากลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ก้อนเนื้องอกอาจเกิดเป็นหนึ่งก้อนใหญ่หรือก้อนเล็ก ๆ หลายก้อน และหากมีก้อนเนื้องอกโตขึ้นก็อาจจะไปกดทับอวัยวะบริเวณใกล้เคียงที่สามารถส่งผลแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้เช่นกัน ดังนั้นการได้ไปตรวจสุขภาพด้วยการตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์ หากตรวจพบได้ตั้งแต่แรก ย่อมรักษาได้เร็วและปลอดภัย

ทำความรู้จักเนื้องอกมดลูกที่แบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ดังนี้

ตำแหน่งเนื้องอกที่อันตรายที่สุดคือ เนื้องอกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งจะส่งผลให้มีเลือดประจำเดือนออกมาก รองลงมาคือ เนื้องอกที่อยู่ในกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งมีอาการคล้ายกับเนื้องอกที่โพรงมดลูกแต่ประจำเดือนจะออกน้อยกว่า และที่ส่งผลอันตรายน้อยสุดคือ เนื้องอกนอกมดลูก แต่ถ้าเกิดเนื้องอกที่ยื่นออกมาเกิดการบิดขั้วหรือฉีกขาด ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงมาก ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนทันที

8 สัญญาณร้ายที่อาจเป็น เนื้องอกมดลูก

กว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกมักจะไม่มีอาการ อาจเป็นเพราะว่ามีเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก แต่หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ก็อาจเป็นสัญญาณผิดปกติที่บ่งว่าอาจมีเนื้องอกมดลูกได้ อาทิเช่น

1.ประจำเดือนที่ผิดปกติหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีเลือดประจำเดือนออกมากและนานขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนปนออกมา มีการปวดประจำเดือนที่เพิ่มขึ้น หรือในบางกรณีอาจมีอาการปวดคล้ายปวดประจำเดือนทั้งที่ไม่ได้มีประจำเดือน

2.มีอาการซีดโดยไม่รู้ตัว รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย

3.ปัสสาวะบ่อยขึ้น แต่ออกไม่มาก อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้ามดลูก ทำให้มีอาการไม่สบายบริเวณหัวหน่า

4.ท้องผูกผิดปกติ อาจเกิดจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก หรือกดบริเวณทวารหนัก อาจมีอาการท้องอืด รู้สึกท้องโตขึ้นเรื่อย ๆ

5.ปวดท้องหรือเจ็บท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งที่ไม่เคยรู้สึกเจ็บ

6.คลำพบก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือรู้สึกท้องโตขึ้นโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย

7.มีอาการปวดท้องเรื้อรัง เจ็บปวดบริเวณท้องน้อย แต่โดยทั่วไปเนื้องอกมดลูกจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ซึ่งอาการปวดขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่ง หรือนอกจากเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น เนื้องอกนั้นมีขั้วและมีการบิดของขั้วส่งผลให้เกิดอาการปวดแบบเฉียบพลันแทรกซ้อน เลือดออกภายในก้อนเนื้องอก หรือเกิดการอักเสบของก้อนเนื้องอก เป็นต้น

8.ก้อนเนื้องอกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก อาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากและแท้งบุตรได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

โดยอาการดังกล่าวขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรง ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย แต่เมื่อไปตรวจภายในกลับพบว่าเนื้องอก ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็กการรักษาก็จะทำได้ง่ายและมีโอกาสหายเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูก

สำหรับการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุของผู้ป่วย ติดตามเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาดเนื้องอกในมดลูก ความต้องการมีบุตร อาการภาวะแทรกซ้อน และสุขภาพของคนไข้ ซึ่งสูตินรีแพทย์จะทำการตรวจภายในร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์

การรักษาสำหรับผู้ที่ก้อนเนื้องอกไม่โตมากและไม่มีอาการผิดปกติ หรือกรณีคนไข้อายุค่อนข้างมาก เช่น ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว หมอก็อาจจะใช้วิธีการติดตามเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาดก้อนแทน นอกจากนั้นก็ต้องดูลักษณะของก้อนเนื้องอก อาการที่แสดงด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่หมอพิจารณาก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษา หรือการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการผิดปกติ

สำหรับผู้ที่มีเนื้องอกในมดลูกขนาดใหญ่หรือมีอาการผิดปกติ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิต โดยส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมดซึ่งจะทำให้การรักษาหายขาด ซึ่งข้อบ่งชี้ว่าเมื่อไหร่จะต้องผ่าตัดขึ้นอยู่กับ

ดูแลตัวเองอย่างไรลดความเสี่ยงการเป็นเนื้องอกมดลูก

ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่พบว่าการเกิดเนื้องอกมดลูกมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งสร้างในรังไข่และพันธุกรรม จึงเป็นเหตุผลที่ว่าผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูง นอกจากนี้ปัจจัยจากสภาวะแวดล้อมและไลฟ์สไตล์การกินอยู่ในยุคปัจจุบันก็มีส่วนทำให้เกิดโรค เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อแดงมาก ๆ การดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นพฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเนื้องอกได้มาก หรือแม้แต่การทำงานและใช้ชีวิตด้วยความเครียดก็จะส่งผลทำให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนไปควบคุมการทำงานของรังไข่ไม่เป็นปกติ ฉะนั้นการดูแลสุขภาพโดยรวม กินอาหารที่มีประโยชน์  ออกกำลังกาย ที่ช่วยให้การทำงานของฮอร์โมนเป็นไปอย่างปกติ ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดี รวมถึงมดลูกและรังไข่มีสุขภาพที่ดี ก็จะลดความเสี่ยงการเป็นเนื้องอกได้ทางหนึ่ง และสำหรับผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เพื่อผลประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพของตนเองนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.paolohospital.comwww.samitivejhospitals.comwww.bumrungrad.com

อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

4 โรคของผู้หญิง ที่ไม่ควรมองข้าม อย่าอายที่จะไปตรวจ!

7 อาการเสี่ยง ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นแล้วมีลูกได้ไหม ท้องยากจริงหรือ?

 

ไส้เลื่อนในผู้หญิง เด็กก็เป็นได้ แม่สังเกตลูกสาวให้ดี!

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids