เตือนพ่อแม่ทุกคน!! ดูก่อนหยิบ…อ่านก่อนใช้ หาก ใช้ยาผิดวิธี ผิดประเภท แทนที่จะช่วยรักษา อาจเสี่ยงทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว
พ่อแม่ระวัง! ใช้ยาผิดวิธี ทำลูกเสี่ยงตายได้
เมื่อลูกเจ็บป่วย วิธีรักษาเบื้องต้นที่พ่อแม่ทุกคนมักทำคือ การใช้ยารักษา ซึ่งการใช้ยาในการรักษาโรคโดยทั่วไปจะช่วยให้หายและปลอดภัยหรือไม่นั้น ขึ้นกับว่า ใช้ยาอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะหาก ใช้ยาผิดวิธี ก็อาจจะส่งผลร้ายแรงได้ คือนอกจากจะไม่ช่วยรักษาให้หายแล้ว ยังอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็กที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ซึ่งลูกน้อยจะมีความอดทนของร่างกายต่ำกว่าผู้ใหญ่ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากกว่าปกติ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผลเสียที่เกิดกับเด็กจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า เช่นเดียวกับเหตุการณ์นี้ ที่คุณแม่เผลอหยิบยาทามหาหิงคุ์ ที่เป็นยาใช้ภายนอก ซึ่งตัวคุณแม่เองไม่มีความรู้เรื่องยาชนิดนี้มากเท่าไหร่ จึงทำให้ ใช้ยาผิดวิธี โดยเอามาให้ลูกน้อยวัยขวบกิน จึงทำให้ลูกน้อยเสียชีวิต
โดยเนื้อหาข่าวรายงานว่า… พบเด็ก 1 ขวบนอนเสียชีวิต โดยผู้เป็นแม่ วัย 19 ปีให้การว่าตกดึก ลูกมีอาการอึดอัด งอแง คิดว่า น่าจะท้องอืด เลยซื้อยามาสวนและให้กินยาแก้แพ้ เพราะลูกมีอาการคันที่คอ ต่อมายังมีอาการท้องอืดอีก จึงเอายามหาหิงคุ์ผสมน้ำให้ลูกกิน และกล่อมให้นอน และแม่เองได้เผลอหลับไป กลางดึกสามีตื่นขึ้นมา เข้าห้องน้ำ สามีเห็นลูกนอนแปลกๆนอนตัวงอ จึงจับตัวลูกดู ลูกน้อยได้สิ้นใจแล้ว พยายามปั้มหัวใจ แต่ไม่ทัน
Cr. เพจไทยรัฐ ข่าววันที่ 23 เม.ย.62
ซึ่งจากคำให้การที่คุณแม่กล่าวมา ก็สามารถบอกได้เลยว่าหากคนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่มีความรู้เรื่องยาที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยา แต่ละชนิด แต่ละประเภท เพราะยาแต่ละขนานมักมีผลเสียอยู่ในตนเองไม่มากก็น้อยอยู่แล้วด้วย แม้จะใช้ในขนาดธรรมดา (ขนาดรักษา) เช่น ยาแก้อาการแพ้ ทำให้ง่วงนอน ยาแก้ปวดลดไข้ ระคายกระเพาะอาหาร และลำไส้ เป็นต้น
รวมไปถึงการใช้หลายขนานร่วมกัน อาจเป็นยาเม็ดหนึ่ง ที่มีตัวยาหลายขนาน หรือให้ยาหลายขนานแยกเม็ดกัน ในเวลาเดียวกัน หรือในเวลาใกล้เคียงกัน บางคราว แทนที่จะให้ผลดีกลับทำให้เกิดผลเสียในการรักษา และเกิดอาการพิษมากขึ้นได้
อ่านต่อ >> “ข้อควรพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก” คลิกหน้า 2
อย่างที่กล่าวไป ยาเป็นเสมือนดาบสองคม คือ ให้คุณเมื่อใช้ถูก และให้โทษเมื่อ ใช้ยาผิดวิธี ซึ่งก่อนใช้ยารักษาลูกน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพึงระลึกถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยข้อควรพิจารณาเบื้องต้นสำหรับการใช้ยาในเด็ก ได้แก่
- ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง เพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรงสามารถปล่อยให้อาการทุเลาเองได้ หรือบางอาการอย่างเช่น ลูกตัวร้อน เพียงแค่หมั่นเช็ดตัวและเช็ดให้ถูกวิธี ก็สามารถทำให้ไข้ลดลงได้ โดยไม่ต้องกินยา
- ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง โดยพยายามเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆโดยไม่จำเป็น
- ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา และสังเกตลักษณะของยาว่ามีลักษณะทางกายภาพเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ เนื่องจากแพทย์หรือเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็ก ซึ่งยาประเภทดังกล่าวจะหมดอายุเร็วกว่ายาประเภทยาเม็ด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กที่กินยานั้นได้
- หากเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ให้เลือกใช้ยาเม็ดดีกว่ายาน้ำ เพราะนอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังพกพาสะดวกและหมดอายุช้ากว่าด้วย สำหรับยาฉีดควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โดยแพทย์เป็นผู้สั่งให้ฉีดยาและฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากยาฉีดมีโอกาสแพ้แบบช็อค (Anaphylaxis) อย่างรุนแรงมากกว่ายาชนิดอื่น
ใช้ยาผิด ชีวิตเปลี่ยน!
สิ่งที่สำคัญมากที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ยากับเด็กก็คือข้อควรระวัง และข้อห้ามต่างของยาแต่ละชนิดเพราะหากมองข้ามประเด็นเหล่านี้แล้ว การให้ยาเพื่อรักษาอาจ แปรเปลี่ยนเป็นการซ้ำเติมเด็กให้มีอาการเลวร้ายมากขึ้นและในบางกรณีอาจถึงแก่ชีวิตได้
ข้อควรระวังเมื่อใช้ยากับเด็ก
- ยาปฏิชีวนะ นิยมทำเป็นรูปผงแห้ง ก่อนผสมน้ำควรเคาะขวดยาให้ผงยากระจายตัวก่อน จึงผสมน้ำสุกต้มที่เย็นแล้วให้ได้ระดับที่กำหนด ยาบางชนิดเมื่อผสมน้ำแล้วต้องเก็บในตู้เย็นและต้องกินยาติดต่อกันจนหมด แม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว ยกเว้นกรณีแพ้ยาให้หยุดยาทันทีและรีบไปพบแพทย์
- ยาลดไข้ ที่นิยมให้เด็กกินก็ คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) โดยให้เด็กกินยาทุก 4-6 ชั่วโมงจนไข้ลด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน หรือมีไข้สูงมาก ควรไปพบแพทย์ ห้ามเปลี่ยนไปใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) หรือ ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพราะหาก เด็กเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เกิดอันตรายได้ และยาพาราเซตามอล ไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้
ส่วนกรณีจำเป็นเมื่อต้องใช้ยาลดไข้แอสไพริน หรือ ไอบูโปรเฟน ควรให้กินยาหลัง รับประทานอาหารทันที เนื่องจากยานี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และนอกจากการให้ ยาลดไข้แล้ว ควรเสริมด้วยการเช็ดตัวเด็กด้วยผ้าชุบน้ำ หมาดๆ เช็ดตามข้อพับ ตามซอกต่างๆและลำตัว เพราะจะช่วยระบายความร้อนและลดไข้ได้ดีขึ้น
- ยาแก้ไอ ไม่ควรนำยาแก้ไอของผู้ใหญ่มาให้เด็กกิน เพราะยาบางชนิดอาจจะผสมแอลกอฮอล์ หรือยาบางตัวอาจมีฤทธิ์กดศูนย์กลางการหายใจ อาจทำให้เด็กหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้
- ยาแก้ท้องเสีย ไม่ควรให้ยาที่มีความแรงมากในเด็กเล็ก เพราะอาจไปกดการหายใจได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการให้น้ำและเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ เพราะอาการขาดน้ำในเด็กอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างไรก็ตาม เมื่อพบว่าลูกทารกมีอาการป่วยควรรีบพาไปหาหมออย่างเร็วที่สุดเท่านั้น ไม่ควรให้ยากินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวลูกน้อยเป็นอย่างมากได้ และที่สำคัญที่สุดนอกจากฟังคำแนะนำการใช้ยาจากคุณหมอหรือเภสัชกรมาแล้ว แต่ก่อนจะใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นยาอะไร ก็ควรอ่านดูฉลากให้ดี ให้แน่ใจก่อนว่าเป็นยาใช้ภายนอกหรือยากิน และควรใช้ให้ถูกวิธีตามฉลากระบุ เพียงเท่านี้ก็ช่วยรักษาชีวิตของลูกน้อยไปได้อย่างครึ่งทางแล้ว
ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจในการใช้ยารักษาลูก สามารถโทรสอบถามการรักษาไปที่สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- แพทย์เตือนอาหารเสริมไม่ใช่ยารักษา แก้ลูกสมาธิสั้น กินแล้วไม่หาย
- ลูกป่วย มีไข้ ไอ มีเสมหะ ท้องเสีย รักษาหายด้วย ยาสมุนไพร
- รับยามาผิด อันตราย ลูกมีสิทธิ์เสี่ยงถึงตาย
- ยาหมดอายุ-เสื่อมคุณภาพอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม! พร้อมวิธีสังเกตและตรวจสอบยาเสื่อมสภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.ayo.moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่