แอสไพริน ป้องกันครรภ์เป็นพิษ ผู้เขียนมีเพื่อนที่มีอาการครรภ์เป็นพิษจนเกือบจะต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่ในความสุ่มเสี่ยงอันตรายนั้นก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดีจากการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ และเท่าที่ฟังจากเพื่อนเหมือนจะพูดถึงยาแอสไพริน ว่าแต่ครรภ์เป็นพิษเกี่ยวข้องกับแอสไพรินยังไง ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลที่น่าสนใจมาบอกต่อให้ทราบกันค่ะ
แอสไพริน ป้องกันครรภ์เป็นพิษ
ก่อนที่เราจะไปไขข้อข้องใจว่า แอสไพริน ป้องกันครรภ์เป็นพิษ ได้จริงหรือไม่นั้น ผู้เขียนขอพูดถึงอาการครรภ์เป็นพิษก่อน สักนิดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และอันตรายต่อสุขภาพครรภ์มากแค่ไหน…
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้อธิบายถึงการเกิดครรภ์เป็นพิษ คือเป็นภาวะความดันโลหิตสูงขณะ ตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษที่พบบ่อยในผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งความรุนแรงของความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ เช่น…
- เป็นความดันโลหิตสูงอย่างเดียวไม่มีอาการอื่นใดแทรกซ้อน
- เป็นความดันโลหิตสูงและมีอาการแทรกซ้อน ได่แก่ มีอาการบวม การทำงานของอวัยวะภายในอย่าง ตับ ไตทำงานผิดปกติ มีอาการชัก
สำหรับอาการแทรกซ้อนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากรุนแรงมากก็อาจทำให้คุณแม่ท้องเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้สูงค่ะ ในกรณีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษมาได้จากหลายสาเหตุค่ะ…
- มีการตั้งครรภ์ตอนที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรือตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษตอนท้อง
- การตั้งครรภ์แฝด
- การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก
- มีโรคเบาหวานร่วมด้วย
บทความแนะนำ คลิก>> โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ ภัยเงียบของแม่ท้อง
ในคนท้องที่มีภาวะของครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ผลกระทบทางสุขภาพที่จะได้รับ คือ หลอดเลือดตีบแคบทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อวัยวะต่างๆ ได้เต็มที่ จนทำให้ผิวหนังทั่วร่างกายมีน้ำไปแทรกจนทำให้เกิดการบวมตามปลายมือ ปลายเท้า เปลือกตา ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง ตับที่เลือดไปเลี้ยงไม่พออาจเกิดการเน่าตายไปบางส่วนได้ และที่อันตรายมากสำหรับทารกในครรภ์คือ เมื่อเลือดไปเลี้ยงได้น้อยลง ก็จะทำให้พัฒนาการการเจริญเติบโตไม่ดี ส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์คุณแม่สูงมากค่ะ
อ่านต่อ ป้องกันครรภ์เป็นพิษ ด้วยยาแอสไพริน หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แอสไพริน ป้องกันครรภ์เป็นพิษ ได้จริงหรือไม่?
ครรภ์เป็นพิษมีระดับความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกันออกไป หากไม่รุนแรงมากสามารถอยู่ในการดูแลรักษาควบคุมอาการไปได้ตลอดการตั้งครรภ์ ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ก็จะปลอดภัยคลอดออกมาได้ตามกำหนด แต่หากอาการครรภ์เป็นพิษอยู่ในระดับรุนแรงคุณหมอที่ดูแลครรภ์จะพิจารณาการดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปให้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อตัวคุณแม่ท้องและทารกในครรภ์ ที่บางรายอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ลง
และอย่างที่เกริ่นไปเมื่อข่งต้นค่ะว่ายาแอสไพรินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาอาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำข้อมูลที่มีประโยชน์นี้มาจาก อาจารย์นายแพทย์นพดล ไชยสิทธิ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่คุณหมอได้อธิบายแนวทางในการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษไว้ดังนี้ค่ะ
การใช้ยาแอสไพรินเพื่อลดความเสี่ยงให้กับคุณแม่ท้องที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่…
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดครรภ์เป็นพิษมาก คือ…
มีประวัติครรภ์เป็นพิษ
เป็นกลุ่มโรคไต
ตั้งครรภ์แฝด
เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์
เป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง เช่น โรคลูปัส
เป็นความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์
ซึ่งคุณแม่ท้องกลุ่มนี้จะมีการพิจารณาให้ใช้ยาแอสไพรินทันที เพื่อลดความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> ภาวะตกเลือดหลังคลอด ละเลยเพียงนิด อันตรายถึงชีวิตได้
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดครรภ์เป็นพิษปานกลาง คือ…
ตั้งครรภ์ท้องแรก
มีประวัติครรภ์เป็นพิษในญาติพี่น้อง แม่
อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปแล้วตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์ห่างจากท้องก่อนมากกว่า 10 ปี
มีภาวะอ้วน
ในคุณแม่ท้องกลุ่มนี้หากมีความเสี่ยงอย่างน้อย 2 ข้อ คุณหมอจะพิจารณาให้ใช้ยาแอสไพรินค่ะ สำหรับคนท้องกลุ่มเสี่ยงทั้ง 2 กลุ่มนี้ ทางแพทย์ผู้ดูแลครรภ์จะพิจารณาให้ยาแอสไพรินในระหว่างอายุครรภ์ 12-16 สัปดาห์ จนถึง 36 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษค่ะ
อ่านต่อ วิธีป้องกันการภาวะครรภ์เป็นพิษ หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีป้องกันครรภ์การเกิดครรภ์เป็นพิษ
ถึงแม้ว่าครรภ์เป็นพิษจะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่คุณแม่ท้องทุกคนสามารถป้องกัน และลดการเกิดอาการได้ หากมีการดูแลรักษาสุขภาพให้ดีทั้งก่อน และระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ค่ะ
- ทั้งก่อน และขณะตั้งครรภ์ ให้ลดการทานอาหารรสชาติเค็มลง
- ในทุกวันควรดื่มน้ำเปล่าให้ได้ 8-10 แก้วต่อวัน
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทมันจัด เลี่ยนจัด ไขมัน อาหารทอดน้ำมันท่วม
- ควรเพิ่มการทานอาหารประเภทโปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ และธัญพืชต่างๆ ให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะ
- ควรปรับเปลี่ยนการนอนหลับพักผ่อนช่วงกลางคืนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก หรือนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง
- ทั้งก่อน และขณะตั้งครรภ์ สามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น ว่ายน้ำ เดินช้าๆ เป็นต้น
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา เป็นต้น
- เพื่อลดการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ แนะนำให้ตรวจสุขภาพก่อนมีการตั้งครรภ์ เพราะจะสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงครรภ์เป็นพิษได้สูงค่ะ
ถึงแม้ว่าอาการแทรกซ้อนทางสุขภาพขณะตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้กับคนท้องส่วนใหญ่ แต่ในเบื้องต้นหากมีการดูแลรักษาสุขภาพทั้งก่อน ระหว่างตั้งครรภ์อย่างถูกต้องเหมาะสม และอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงแทรกซ้อนทางสุขภาพได้ ซึ่งทั้งสุขภาพแม่ท้อง และสุขภาพทารกในครรภ์ก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดภัย มีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดีเป็นการครรภ์คุณภาพตลอด 40 สัปดาห์ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ ภัยเงียบของแม่ท้อง
รกเกาะต่ำ ภาวะรุนแรงที่สุดของการตั้งครรภ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่
อาจารย์นายแพทย์นพดล ไชยสิทธิ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. ฬ.จุฬา
haamor.com