AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 โรคเด็กยอดฮิต ที่เป็นกันมากในปี 2016

เมื่อลูกน้อยถึงวัยเข้าโรงเรียน หรือต้องเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็อดห่วงไม่ได้ เพราะการอยู่ร่วมกันเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค ซึ่งเชื้อโรคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราในปัจจุบันนั้นวนเวียนกันมาตลอดทั้งปี ทั้งหน้าร้อน ฝน และหนาว ไม่เคยขาด และในปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไปนั้น มีโรคอะไรบ้างที่เด็กๆ เป็นกันมาก Amarin Baby & Kids ได้รวบรวม โรคเด็กยอดฮิต พร้อมวิธีป้องกันมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปาก โรคที่พ่อแม่ต่างพากันขยาด ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูก เพราะน่าสงสารมากๆ ทั้งเป็นไข้ เจ็บปาก นอนซม ทานอาหารก็ไม่ได้ ถ้าเจ็บแทนลูกได้ พ่อแม่ต่างก็ยอมที่จะเป็นโรคนี้เสียเอง

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กและพบได้ตลอดปีแต่พบมากในช่วงหน้าฝน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโรคมือเท้าปากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง

โรคมือเท้าปากคือ? สาเหตุเกิดจากอะไร?

โรคมือเท้าปากมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสซึ่งมีหลายชนิด เด็กจะมีอาการไข้ เจ็บปาก มีผื่นเป็นลักษณะตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางครั้งอาจมีตามลำตัว แขน ขา และมีแผลในปาก โดยมีลักษณะเป็นแผลกลมเล็กๆ กระจายที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดาน ทำให้รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ โดยส่วนใหญ่โรคมักไม่รุนแรง หายได้เอง และไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยไข้มักจะหายใน 2-3 วัน และผื่นจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 7-10 วัน

แต่หากติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้บางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 (EV71อาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ !  เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม แขนขาอ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้อย่างไร?

  1. ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใสที่ผิวหนัง รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่
  2. ติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู

การรักษาโรคมือเท้าปาก

ยังไม่มียารักษาจำเพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ถ้ามีแผลในปากให้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปาก และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ควรให้เด็กดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด  สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

(บทความแนะนำ โรคมือเท้าปากในผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ ก็ติดลูกน้อยได้)

การป้องกัน โรคมือเท้าปาก

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ เด็กเล็กจึงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ การป้องกันสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ 5 โรคเด็กยอดฮิต ปี 2559 อ่านต่อหน้า 2

ไวรัส RSV

เมื่อเข้าฤดูฝน ในระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่เด็กๆ มักจะป่วยบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้

ไวรัส RSV คืออะไร

RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ

อาการของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะต่างจากการเป็นหวัดธรรมดาอย่างไร

เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการเป็นแบบหวัด คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ-นมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วยซึ่งจะหายได้ใน 5-7วัน

แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV คือ อาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึม ตัวเขียว กินข้าว น้ำ นมไม่ได้  ทางที่ดีถ้าเด็กมีไข้ 3 วันควรรีบพาไปพบแพทย์

ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้าหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ไวรัส RSV  รักษาอย่างไร

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ หรือพ่นยา และนอนพักผ่อนเยอะๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวช้าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้วหลอดลมและถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งใหม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง

ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไมโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม

(บทความแนะนำ 5 อันดับยอดฮิต โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก)

แนวทางการป้องกัน ไวรัส RSV 

เนื่องจากการติดต่อของไวรัส RSV เหมือนไข้หวัดใหญ่ เป็นการสัมผัสฝอยละออง ไม่ใช่ติดต่อทางอากาศ เป็นการติดต่อจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง มีอำนาจการแพร่กระจายโรคเท่ากับไข้หวัดใหญ่ วิธีป้องกันโรคไวรัส RSV นี้ คือการรักษาความสะอาด

  1. คนที่ใกล้ชิดเด็กเล็กควรล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนป่วย
  2. ล้างมือให้เด็กบ่อยๆ รวมถึงคนรอบข้างด้วยก็จำเป็นต้องล้างมือบ่อยๆ เช่นกัน
  3. เมื่อมีเด็กป่วยที่โรงเรียน หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
  4. พ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง  ถ้าลูกเริ่มเข้าเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ 

อ่านต่อ 5 โรคเด็กยอดฮิต ปี 2559 อ่านต่อหน้า 3

 

โรคไมโคพลาสมา

คุณแม่หลายท่านอาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อโรคไมโคพลาสมาเป็นครั้งแรก จากข่าวน้องออร์ก้าลูกแม่จูน กษมากับพ่อเปิ้ล นาคร ที่ป่วยเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคระบาด ไมโคพลาสมา และได้ยินโรคนี้บ่อยขึ้น เนื่องจากเด็กๆ ป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้นในปี 2559 โดยโรคนี้เคยเป็นข่าวครึกโครมในหมู่ทหาร จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อหลายปีก่อน จนถึงขั้นต้องปิดโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

ไมโคพลาสมาคืออะไร?

ไมโคพลาสมา หรือมัยโคพลาสมา (Mycoplasma) คือโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ติดต่อจากคนสู่คน ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ มียาปฏิชีวนะในการรักษา แต่ไม่มีวัคซีนป้องกัน และผู้ที่เคยติดเชื้อมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีก

ไมโคพลาสมาเกิดจากอะไร?

ไมโคพลาสมาคือเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็ก ที่เข้าสู่ร่างกายคนและสัตว์ ทำให้เกิดโรค 5 ชนิด เกิดจากการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วยที่ ไอ จาม ออกมา เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 5-20 ปี พบมากในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูหนาว มักเกิดในชุมชนหนาแน่น เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เป็นต้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ไมโคพลาสมาอันตรายแค่ไหน?

  1. อาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง และจะหายใจได้เองในที่สุด แม้ไม่ได้รับยา ถึงแม้โรคจะใช้เวลาอยู่ได้นาน การให้ยาปฏิชีวนะ จะทำให้หายเร็วขึ้นภายใน 7-10 วัน มีส่วนน้อยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ หรืออาจส่งผลต่อสมอง เกิดการสูญเสียการทำงานอย่างถาวร
  2. อาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์ อาการรุนแรงเกิดขึ้นน้อย แต่อาจมีปัญหาตามมาคือ ทำให้มีลูกยาก และผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจติดเชื้อในกระแสเลือด และมีอาการรุนแรงได้

การป้องกันรักษาไมโคพลาสมา

1.หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก ล้างมือบ่อยๆ (ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน)

2.ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร

3.เด็กเล็กที่มีอาการ ควรหยุดเรียน ควรแยกห้องนอน

4.เด็กที่มีอาการรุนแรง เช่น ไอมากจนเหนื่อย อ่อนเพลีย มีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์

อ่านต่อ 5 โรคเด็กยอดฮิต ปี 2559 อ่านต่อหน้า 4

โรคเฮอร์แปงไจน่า

นอกจากโรคมือเท้าปากแล้ว เรื่องตุ่มหรือแผลในปากที่พบได้บ่อยๆ ในเด็กอีกโรคหนึ่งคือ “เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)” ค่ะ โดยโรคนี้ต่างจากมือเท้าปากตรงที่จะไม่พบตุ่มแผลที่อื่นนอกจากปาก

สาเหตุของโรค “เฮอร์แปงไจน่า”

โรค “เฮอร์แปงไจน่า” หรือโรคตุ่มแผลในปากเด็ก เป็นโรคในตระกูลเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายสู่อากาศได้ เป็นโรคติดต่อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยจากน้ำลาย ละอองน้ำมูก จากการไอ จาม จากอุจจาระ และจากมือ เข้าสู่ปาก ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-14 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกที่ติดเชื้อ ไปจนกว่าจะหายจากโรค คือ ประมาณ 1-2 สัปดาห์นับจากติดเชื้อ ดังนั้นหากเด็กที่เป็นโรคเฮอร์แปงไจน่าไอ หรือจาม โดยไม่ปิดปาก เด็กๆ ที่อยู่รอบข้างก็อาจติดเชื้อได้ง่ายๆ

วัยเสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจน่า

ส่วนใหญ่กลุ่มเด็กที่เสี่ยงโรคเฮอร์แปงไจน่า จะอยู่ราวๆ 3-10 ขวบ

อาการของ โรคเฮอร์แปงไจน่า

อาการคล้ายโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้

วิธีรักษาผู้ป่วย โรคเฮอร์แปงไจน่า

ถึงจะเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้โดยตรง วิธีรักษาจึงเป็นการดูแลผู้ป่วยตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด หรือหยดยาชาภายในปาก เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยก็จะสามารถค่อยๆ ฟื้นตัวได้เอง

การให้ยาชากลั้วปาก อาจช่วยในเด็กโตบางคน แต่ส่วนใหญ่ในการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็ก แนะนำให้กินน้ำเย็น นมแช่เย็น หรือไอศกรีม (ทำจากนมแม่แช่เย็นเองเพราะบางทีที่ซื้อไม่สะอาด เด็กอาจเกิดท้องเสียได้) ผู้ป่วยมักกินได้ดี เนื่องจากความเย็นทำให้ชา ไม่เจ็บเวลากลืน และจะพบอาการ/ภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารไม่มาก

นอกจากนี้ควรทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย รสไม่จัด และดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ ลดอาการขาดน้ำ และย่อยอาหารได้ง่ายขึ้นค่ะ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้มีอาการเจ็บแสบบริเวณแผลมากขึ้น

แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง คือ ไข้สูงลอย กินอาหารไม่ได้ มีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้มผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจรักษาแยกจากโรคอื่นๆ เช่น โรคมือเท้าปาก หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วิธีป้องกัน โรคเฮอร์แปงไจน่า

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ล้างมือให้สะอาด ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย เนื่องจากโรคเฮอร์แปงไจนาเองอาการไม่รุนแรง แต่แยกจากโรคมือ เท้า ปาก ได้ยากในช่วงแรก จึงควรป้องกันโดยวิธีเดียวกันกับการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้

  1. ผู้เลี้ยงดูเด็ก และเด็ก ต้องล้างมือให้สะอาด ทั้งหน้ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ รอบนิ้วมือ เล็บ ข้อมือทั้งสองข้าง หลังขับถ่าย ก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร และรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัด เมื่อมีการระบาดของโรค
  2. เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วย ควรให้อยู่บ้าน ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรค ไปแพร่ให้เด็กอื่น
  3. สถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรง เรียนเกี่ยวกับเรื่องไข้ และตุ่มน้ำที่ปาก มือ และเท้า ในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคเฮอร์แปงไจนา หรือโรคมือ เท้า ปาก ควรให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้าน และไปพบแพทย์ อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรค และการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
  4. ในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล ควรเน้นบุคลากรและเด็กในการดูแลตนเองตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆ อาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก ควรหมั่นทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาดและนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  5. การทำความสะอาดพื้น เพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว คลอรอกซ์ หรือ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
  6. หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคเฮอร์แปงไจนา หรือ โรคมือ เท้า ปาก ควรต้องปิดห้องเรียน หรือโรงเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

 

อ่านต่อ 5 โรคเด็กยอดฮิต ปี 2559 อ่านต่อหน้า 5

ไวรัสโรต้า

ไวรัสโรตา / ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของโรคลำไส้อักเสบในทารกและเด็กเล็ก พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน – 2 ขวบ ทำให้เกิดอาการอาเจียนและท้องร่วงรุนแรง เสี่ยงต่อการขาดน้ำ ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องลูกน้อยด้วย วัคซีนโรต้า ตั้งแต่อายุ 2 เดือน

ในประเทศไทยพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบ เป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าร้อยละ 60 และเด็กอายุ 2 ขวบ เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 80 – 90 ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาวในประเทศเขตอบอุ่น และเขตร้อน เช่น ประเทศไทย

ไวรัสโรตา เป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมาก ชอบแฝงตัวอยู่ตามของเล่นหรือสิ่งของ เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็ติดเชื้อได้แล้ว ซึ่งเชื้อไวรัสโรต้าค่อนข้างทน และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน ซึ่งหากลูกน้อยนำสิ่งของหรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคเข้าทางปากก็จะทำให้รับเชื้อไวรัสนี้เข้าไปได้อย่างง่ายดาย

อาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยติดเชื้อ ไวรัสโรต้า

  1. หลังจากลูกน้อยได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการเริ่มต้นด้วยการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาเจียนซึ่งอาจมากถึง 7 – 8 ครั้งต่อวัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
  2. อาการที่พบได้บ่อยคือ อาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายเป็นฟองหลายๆ หน บางคนอาจมีน้ำมูกไหลและไอร่วมด้วย อาการท้องเสียอาจเป็นนานได้ถึง 7-10 วัน

ไวรัสโรต้า ไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ เพียงดูแลตามอาการก็จะดีขึ้นจนหายไปได้เอง หากอาการรุนแรง จนทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะช็อก และเสียชีวิตได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วิธีช่วยเหลือลูกเบื้องต้นก่อนพาลูกไปหาหมอ

  1. ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ที่เหมาะสำหรับเด็กท้องเสีย อาจจะเป็นชนิดน้ำสำเร็จรูปหรือผงเกลือแร่ละลายน้ำต้มสุกก็ได้
  2. ให้ลูกจิบหรือดื่มน้ำเกลือแร่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ ไม่ควรให้ลูกดื่มครั้งละมากๆ เพราะจะอาเจียนหรือถ่ายเหลวออกมาหมด
  3. ไม่ควรใช้น้ำอัดลมและน้ำเกลือแร่ชนิดขวดสำหรับนักกีฬาผสมให้ลูกดื่ม เพราะปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ไม่เหมาะสมกับเด็ก
  4. ถ้าลูกมีภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง คือ นอนซึม ไม่เล่น ไม่ร่าเริงเหมือนตามปกติ ปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อยลงหรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม เบ้าตาโหล ให้รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที

วิธีการป้องกันลูกน้อยจากเชื้อไวรัสโรต้า

  1. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสโรตาก็จะไม่มีอาการหรือมีน้อย เพราะภูมิคุ้มกันในนมแม่ช่วยในการกำจัดเชื้อได้
  2. ล้างมือให้ลูกน้อยบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  3. รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน และบริเวณที่ลูกชอบเล่น รวมถึงหมั่นล้างของเล่นเสมอๆ
  4. เตรียมอาหารของลูกน้อยให้สุก สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยการผ่านความร้อน
  5. การรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความปลอดภัยสูง สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

 

จะเห็นได้ว่าโรคยอดฮิตของเด็กๆ มักจะเกิดจากการได้รับเชื้อจากการสัมผัสของเล่นร่วมกัน และจากการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ที่ติดเชื้อ ดังนั้น การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาด สุขอนามัยของเด็กทั้งที่บ้าน ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่โรงเรียน รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด เนื่องจากเด็กเล็กๆ ยังมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงมีโอกาสรับเชื้อต่างๆ ได้ง่ายค่ะ

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!