อุทาหรณ์สำหรับพ่อแม่! อย่าคิดว่า เด็กฟันผุ เป็นเรื่องเล็ก! ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอนำคำเตือนจากทันตาภิบาล ที่พบเคสเด็กฟันผุจนทะลุโพรงประสาทฟันจนติดเชื้อ จึงต้องเจาะระบายหนองออกและถอนฟัน ต้องนอนโรงพยาบาลถึง 1 อาทิตย์
ทันตาภิบาลเตือน! พบ เด็กฟันผุ ทะลุโพรงประสาทฟันจนติดเชื้อ
อุทาหรณ์นี้ได้นำข้อมูลมาจาก คุณ Pitayarat Sitkongkhajorn ทันตาภิบาลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่ง ได้โพสต์ภาพและข้อความดังนี้
#อุทาหรณ์ สำหรับพ่อแม่ที่คิดว่าฟันผุแค่เรื่องธรรมดา . #เคสนี้เนื่องจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน และเกิดการติดเชื้อ จึงต้องถอนฟันและเจาะระบายหนองให้ยาฆ่าเชื้อนอนโรงพยาบาล 1 อาทิตย์ และ ส่งล้างแผลต่อที่ รพ.สต.
.
🙏🏻รักลูกช่วยลูกแปรงฟันทุกวัน รักลูกอย่าเลี้ยงลูกด้วยขนมไปวันๆ ด้วยความปราถนาดีจากเรา #ทันตภิบาล ประจำรพ.สตปล. รูปได้รับอนุญาติจากผู้ปกครองเด็กแล้วนะคะ
….โปรดอย่าใช้คำรุนแรงในการคอมเม้นต์ นะคะ. โพสต์นี้ตั้งใจให้เป็นแค่อุทาหรณ์จริงๆค่ะ🙏🏻🙏🏻🙏🏻🙏🏻🙏🏻🙏🏻🙏🏻.
นอกจากนี้ คุณ Pitayarat Sitkongkhajorn ได้แจ้งกับทางทีมงานเพิ่มเติมอีกว่า เคสที่ได้โพสต์ไป คนไข้ได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลและแพทย์ได้ส่งกลับมารักษาต่อ(ล้างแผล)ใน รพ.สต.ไกล้บ้านเท่านั้น ที่โพสต์ไปเพียงต้องการกระตุ้นให้ผู้ปกครอง ครูในเครือข่ายได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพช่องปากเท่านั้นไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลแต่อย่างได
ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอขอบคุณสำหรับอุทาหรณ์ในครั้งนี้ด้วยนะคะ และขอเอาใจช่วยให้น้องอาการดีขึ้นในเร็ววันค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เด็กฟันผุ เป็นอย่างไร? วิธีสังเกตว่าอาการฟันผุของลูกอยู่ในระยะไหน
เด็กฟันผุ เป็นอย่างไร?
ฟันผุ เกิดจากเชื้อโรคที่พบได้ตามปกติในช่องปาก ทำการย่อยสลายอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เกิดเป็นกรด ซึ่งทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างของฟัน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาจะลุกลามเพิ่มขึ้น จนทำให้ฟันแตกเป็นรู เป็นช่อง และถ้าลุกลามมากขึ้นอีกจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือฟันเป็นหนอง และอาจต้องถอนฟันนั้นในที่สุด
ฟันที่ผุจะลุกลามจากเคลือบฟันไปเนื้อฟัน ซึ่งหากยังไม่ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน จะสามารถรักษาได้โดยการกำจัดส่วนที่ผุ แล้วอุดฟันบูรณะส่วนที่ถูกทำลาย แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จะมีการลุกลามต่อเนื่องไปถึงโพรงประสาทฟันจนเกิดการอักเสบไปที่รากฟัน ซึ่งต้องรักษาโดยการรักษารากฟันหรือถอนเท่านั้น และหากเกิดการติดเชื้อจนเกิดหนองขึ้น จะต้องระบายหนองออกก่อน
วิธีสังเกตว่าอาการฟันผุของลูกอยู่ในระยะไหน
- ฟันผุระยะที่ 1 เป็นระยะที่กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน (Enamel) เด็กจะไม่มีอาการปวด แต่จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ชั้นเคลือบฟัน โดยกรดจะเริ่มไปทำลายชั้นเคลือบฟันให้เปลี่ยนจากสีขาวใสมันวาวเป็นสีขุ่นขาวเล็ก ๆ บริเวณผิวเรียบของฟันหรือหลุมร่องฟัน
- ฟันผุระยะที่ 2 เป็นระยะที่กรดเริ่มกัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentin) ทำให้เป็นรอยสีเทาดำหรือสีน้ำตาล เห็นรูผุ มีเศษอาหารติดอยู่ และการผุจะลุกลามไปเร็วกว่าในระยะที่ 1 เนื่องจากชั้นเนื้อฟันจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน เด็กจะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานของหวานจัด ของเย็นจัด หรือร้อนจัด
- อาการฟันผุระยะที่ 3 เป็นระยะรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวด โดยอาจจะปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นพัก ๆ รวมถึงมีเศษอาหารไปติดอยู่ในโพรง ทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาได้
- ฟันผุระยะที่ 4 ถ้าทนเจ็บปวดจากการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ได้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายรากฟัน เด็กจะมีอาการเจ็บ ๆ หาย ๆ เป็นช่วง ๆ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวมหรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก และเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกายได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ไม่อยากเป็น “เด็กฟันผุ” ต้องป้องกันก่อนสายเกินไป
ไม่อยากเป็น “เด็กฟันผุ” ต้องป้องกันก่อนสายเกินไป
เมื่อฟันน้ำนมผุเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลต่อเด็กอย่างคาดไม่ถึง คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นใส่ใจเรื่องความสะอาดในช่องปากของลูก และปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้
- หมั่นสังเกตมองฟันของลูกด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจหาบริเวณที่ผิวฟันเป็นรู ผิวฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำ ร่วมกับคอยสังเกตว่าลูกมีอาการปวดฟันหรือเสียวฟันหรือไม่
- ทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อยลง โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง อย่างเช่น มันฝรั่งทอด ของขบเคี้ยว ถึงแม้จะไม่มีน้ำตาล แต่ก็เป็นบ่อเกิดทำให้เกิดฟันผุได้เช่นกัน
- ฝึกนิสัยไม่ให้ลูกทานขนมจุบจิบ อาหารรสหวาน รวมถึงขนมหวานที่เหนียวหนึบติดฟันได้ง่าย เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำหวาน น้ำผลไม้ นม ของหวาน ผลไม้อบแห้ง เป็นต้น เพราะเป็นสาเหตุของฟันผุ ควรให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ และทานให้เป็นเวลา
- คุณพ่อคุณแม่ควรแปรงฟันให้ลูกอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอน เมื่อลูกไม่ยอมแปรงฟัน อาจจะต้องหลอกล่อด้วยวิธีต่าง ๆ และหากไม่สำเร็จ วิธีสุดท้ายคือการบังคับ
- ควรใช้ไหมขัดฟัน ขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง ด้วยการเอาเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ออกจากซอกฟัน
- ควรฝึกให้ลูกบ้วนปากในทันที ทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- ควรใช้ฟลูออไรด์ ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือยาเม็ดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ (Fluoride) ถ้าใช้ชนิดทาน ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงขนาดและวิธีการใช้ ก่อนทาน โดยฟลูออไรด์นี้จะช่วยเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรง
- ควรเริ่มแปรงฟันให้ลูก เมื่อลูกมีฟันขึ้นตั้งแต่ซี่แรก
- ไม่ควรให้ลูกดูดนมจากขวดหรือดูดนมแม่จนหลับ
- สอนให้ลูกแปรงฟัน และดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี
- หมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้ตรวจพบฟันผุตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ที่มักไม่มีอาการอะไรและรักษาให้หายก่อนที่โรคจะลุกลามมากขึ้น รวมไปถึงการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน และทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุ ช่วยป้องกันและยับยั้งปัญหาในช่องปากและฟันอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
ถึงแม้ว่าฟันน้ำนม จะมีอายุการใช้งานเพียง 5-10 ปีเท่านั้น แต่การคิดว่าอีกไม่กี่ปี ฟันน้ำนมก็หลุดออกแล้ว เด็กฟันผุ ไม่จำเป็นต้องดูแลนั้น เป็นความคิดที่ผิดค่ะ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ฟันผุอยู่ในระยะที่ 3 ขึ้นไป ซึ่งฟันจะผุลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟันแล้วล่ะก็ ลูกจะเจ็บปวดทรมานทั้งจากการอักเสบติดเชื้อ และจากการรักษาฟัน ดังเช่นอุทาหรณ์นี้
อ่านบทความดี ๆ คลิก
ทำฟันฟรี 2561 ทั้งครอบครัว เช็กรายชื่อรพ. ที่ร่วมโครงการได้ที่นี่!
ทันตกรรม ค่าทำฟันเด็ก ทั้งรพ.รัฐ และเอกชน
ไม่อยากให้ “ลูกฟันผุ ต้องแปรงฟัน” และดูแลให้ถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : Pitayarat Sitkongkhajorn, medthai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่