AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคติกส์ (ลูกกระพริบตาบ่อย) อันตรายหรือไม่?

Credit Photo : Shutterstock

โรคติกส์ คืออะไร ได้ยินครั้งแรกถึงกับเกิดคำถามขึ้นว่ามีโรคชื่อนี้ด้วยเหรอ? จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีเพื่อนที่นั่งเรียนด้วยกันเขาจะกระพริบ ขยิบตาถี่ๆ อยู่ตลอดเวลา และจะเป็นมากเวลาที่ครูให้ออกมาพูดหน้าชั้นเรียน ซึ่งมารู้ทีหลังว่าที่เพื่อนเป็นนั้นเรียกว่าโรคติกส์ สำหรับโรคนี้น่าสนใจมาก ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลมาฝากให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้กันค่ะ

 

โรคติกส์ (ลูกกระพริบตาบ่อย) คืออะไร?

มีใครในครอบครัวที่มีอาการกระพริบตา ขยิบตาบ่อยๆ ไหมคะ อยากบอกว่าอาจกำลังเป็น โรคติกส์ อยู่ก็ได้นะ โรคนี้เกิดขึ้น ได้กับทั้งเด็กเล็กๆ และในผู้ใหญ่เลยค่ะ บางคนเป็นมาตั้งแต่อายุยังน้อย พอโตขึ้นก็ยังมีอาการอยู่บ้าง ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับ สถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้มีอาการขึ้นมา  เอาเป็นเราไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ เพราะจะว่าไปแล้วก็ทำให้เด็กๆ เสีย บุคลิกภาพมากเหมือนกันนะเนี่ย

โรคติกส์ หรือ Tices Disorders (TICS) คืออาการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดย่อย ทั้งบริเวณใบหน้า บางคนมุมปากมีการกระตุก และที่สังเกตเห็นกันได้บ่อยๆ คือ การขยิบตา หรือกระพริบตาเร็วๆ สำหรับโรค TICS ถือเป็นอาการผิดปกติ ที่พบว่าเด็กผู้ชายเป็นได้มากกว่าเด็กผู้หญิง ช่วงอายุที่พบว่าเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 6-10 ปี

 

บทความแนะนำ คลิก>> โรคหายาก 1 ในหมื่น กล้ามเนื้อฝ่อจากไขสันหลัง ตั้งแต่เกิด

พอจะทราบอาการของติกส์กันไปคร่าวๆ แล้วนะคะ แนะนำว่าหากเด็กๆ รวมถึงคนอื่นๆ ในครอบครัว มีอาการกระพริบ  ขยิบตาถี่ๆ ห้ามไปจ้องมอง หรือดุว่าเด็ดขาก เพราะการทำเช่นนั้นจะยิ่งไปสร้างความประหม่าไม่มั่นใจ อาการก็ยิ่งแสดงออกเพิ่มมากขึ้นไปอีกค่ะ

อ่านต่อ สาเหตุขอโรค TICS หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โรค TICS มีสาเหตุมาจากอะไร?

การที่ต้องกระพริบตา หรือขยิบตาอยู่บ่อยๆ นอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับเด็กๆ ที่เป็นแล้ว ยังจะทำให้เสียบุคลิกอีกด้วย  สำหรับโรคติกส์นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม  ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง และมาจาก ความเครียด ซึ่งสาเหตุอย่างหลังนี้พบว่าทำให้เด็กเป็นโรคติกส์กันมากค่ะ

พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานนท์ จากคลินิกเด็ก.คอม[1] ได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดจนเกิดอาการของ TICS นั้นมีหลาย องค์ประกอบร่วมกัน คือ…

1. ลักษณะบุคลิกประจำตัวของเด็ก

ที่มักจะเป็นเด็กที่ขี้อาย หรือมีความรู้สึกอ่อนไหว ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิจากผู้อื่น กลัวที่จะทำอะไรผิดหรือไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น เด็กที่พบว่ามีอาการ TICS ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเด็กปกติที่ค่อนข้างฉลาด แต่อ่อนไหวง่าย

2. คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง

( เช่น ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด) และคนรอบข้าง (เช่น คุณครู) ที่ส่วนใหญ่จะตั้งความคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง เกินกว่าที่เด็กเอง จะทำได้ พบว่าจะมีลักษณะเป็นผู้ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไช หรือขี้บ่นกับการกระทำของเด็กอยู่ตลอดเวลา หรือคอยที่จะเปรียบเทียบ ในทางลบ หรือตำหนิติเตียนเด็ก กับเด็กคนอื่นๆ อยู่เป็นประจำ

3. พฤติกรรมการเลียนแบบ

จากคนที่อยู่รอบข้างเด็กที่มีอาการ TICS ที่เด็กได้เคยพบเห็นมาก่อน จึงเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้ อย่างไม่ได้ตั้งใจ  การกระพริบตาบ่อยๆ หรือการกระตุกของกล้ามเนื้อแก้มที่เกิดขึ้นในเด็กที่เป็น TICS นี้ เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นวิธีการระบาย ความเครียดของเด็ก ที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดขึ้น (involuntary) และเป็นไปอย่างไม่ได้กำหนดเอง เพราะเป็น จากจิตใต้สำนึก และไม่ได้คิดจงใจทำ จึงอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดไปว่า เด็กดื้อ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งว่ายิ่งกระพริบตาตลอดเวลา[1]

บทความแนะนำ คลิก>> โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย อีกโรคที่นำไปสู่การเสียชีวิตในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกมีอาการของโรคติกส์ และกังวลว่าลูกเป็นแล้วจะหายเป็นปกติหรือไม่นั้น แนะนำว่าเมื่อพบว่าลูกมี อาการกระพริบตา ขยิบตาเร็วๆ เป็นประจำ ในเบื้องต้นขอให้ไปพบกุมารแพทย์เพื่อรับการตรวจก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าสาเหตุของติกส์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เมื่อทราบสาเหตุที่เป็นแล้วก็จะได้ดูแลรักษาได้อย่าง ถูกต้องค่ะ

อ่านต่อ 4 วิธีรับมือกับโรค TICS หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4 วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อลูกมีอาการติกส์

 การดูแลลูกที่มีอาการโรค TICS คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ตามคำแนะนำจากคุณหมอ ดังนี้ค่ะ…

1. ลดความเครียด ช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลาย (relax)

อาการ TICS เป็นเสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความเครียดที่เกิดขึ้นในใจลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดให้ลูกได้โดยช่วยให้ลูกได้มีเวลาว่าง และพักผ่อนได้เพียงพอ เช่นได้มีโอกาสเล่นตามประสาเด็กกับเพื่อนๆ เพราะปัจจุบันหลังเลิกเรียน เด็กมักจะไม่ค่อยได้เล่นที่โรงเรียน แต่กลับต้องเรียนพิเศษต่ออีก ก่อนที่จะมีคนมารับกลับบ้าน พอวันหยุดสุดสัปดาห์ ก็ยังต้องเรียนอะไรๆ อีกหลายอย่าง คุณจึงควรจัดเวลาให้ลูก ในเรื่องการเรียนพิเศษ ฯลฯ ไม่ให้มากจนเกินไป

2. ลดการวิพากษ์วิจารณ์ การตำหนิติเตียน

คุณควรลดการตำหนิลูก ในเรื่องต่างๆ ลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินอาหาร, การแต่งตัว หรือการทำการบ้าน, การอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเรื่องคะแนนสอบที่อาจจะไม่ได้ดั่งใจของคุณ ฯลฯ แม้ว่าคุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิด และคิดว่าคุณจำเป็นต้องพูดเตือนลูกอยู่เสมอๆ เพราะดูเหมือนว่า เด็กจะไม่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ได้อย่างที่คุณต้องการ คุณต้องเลือกใช้วิธีอื่น ที่เป็นในเชิงบวกกับลูก เพื่อให้กำลังใจแก่เขา มากกว่าที่จะใช้วิธีในเชิงลบ โดยการตำหนิ,ว่ากล่าวลูกตลอดเวลา

3. ให้ทำเป็นไม่เห็น

ไม่สนใจในอาการกระตุก หรือกระพริบตาบ่อยๆ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าคุณ (ignore)  เพราะการที่คอยจับผิดลูกอยู่ตลอด และคอยว่ากล่าวเขาในเรื่องนี้ กลับยิ่งทำให้เขาเกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งทำให้เขากระพริบตาบ่อยขึ้น เกิดอาการ TICS มากขึ้น และควรจะบอกคุณครู, คุณปู่คุณย่า และคนอื่นๆ รอบข้าง ให้ใช้วิธีการเดียวกันกับคุณ คือทำเป็นไม่เห็น ไม่สนใจกับอาการ TICS ที่เกิดขึ้น และไม่ล้อเลียนเด็ก

4. หลีกเลี่ยงการลง

โทษเด็กที่ยังมีอาการ TICS  คุณพ่อคุณแม่บางท่านเข้าใจผิดว่า การที่ลูกมีอาการกระพริบตาบ่อยๆ นี้เป็นนิสัยที่ไม่ดี และต้องรีบแก้ไขโดยการลงโทษ โดยคิดว่าเป็นการที่เด็กแกล้งทำ แต่ที่จริงแล้ว เด็กเองก็ไม่สามารถควบคุมอาการ TICS ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก ที่จะปลดปล่อยความเครียด ที่เขามีออกมา ดังนั้นการทำโทษเด็กกลับยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียดให้แก่เด็ก จะยิ่งทำให้เกิดอาการ TICS มากขึ้นไปอีก[2]

การให้กำลังใจลูก หรือคนในครอบครัวที่มีอาการติกส์ เป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ เพราะนอกจากจะไม่เป็นการไปซ้ำเติมให้เด็กรู้สึกอาย หรือเป็นจุดสนใจให้คนรอบข้างมองแบบสงสัยแล้ว ก็ยังจะช่วยให้อาการติกส์ที่เป็นอยู่ค่อยๆ ดีขึ้น และหายไปได้ในที่สุดค่ะ อย่างไรก็ดีลองนำคำแนะนำทั้ง 4 ข้อจากคุณหมอไปลองปรับใช้เพื่อรับมือกับโรคติกส์ให้กับลูกๆ กันดูนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย อีกโรคที่นำไปสู่การเสียชีวิตในเด็ก
โรคหายาก 1 ในหมื่น กล้ามเนื้อฝ่อจากไขสันหลัง ตั้งแต่เกิด

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1,2พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานนท์ จากคลินิกเด็ก.คอม. www.clinicdek.com