กรมควบคุมโรคออกเตือน ช่วงหน้าฝนพบเด็กป่วยเป็น โรคมือเท้าปาก เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นคน แล้วจะมีวิธีสังเกต อาการมือเท้าปาก หรือวิธีรักษาและป้องกัน โรคมือเท้าปาก ให้ลูกน้อยได้อย่างไร ตามมาดูกันเลยค่ะ
หน้าฝนพบ! เด็กป่วยเป็น มือเท้าปาก
เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นคน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงสถานการณ์ “ โรคมือเท้าปาก ” ว่า … มักพบโรคนี้ในช่วงหน้าฝน และหากลูกน้อยได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และบางส่วนอาจเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม การสัมผัสของเหลวหรือของเสียที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ส่วนสำหรับผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้บ้าง
ทั้งนี้มีข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 สิงหาคม 2561
- พบผู้ป่วย 41,702 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
- ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก (อายุ 1-3 ปี)
จากข้อมูลตั้งแต่เข้าฤดูฝน (มิ.ย. – ก.ค. 61) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ป่วยเดือนละกว่า 10,000 ราย (10,008 และ 13,802)
ซึ่งนายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า… ขอเน้นย้ำให้คุณพ่อคุณแม่และสถานศึกษา ช่วยกันดูแลสังเกตอาการเด็กในความปกครองอย่างสม่ำเสมอ
อ่านต่อ “วิธีสังเกตอาการเมื่อลูกกำลังจะป่วยเป็นมือเท้าปาก” คลิกหน้า 2
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.fm91bkk.com
อาการมือเท้าปาก ที่แม่ควรรู้
โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ จะต้องมีอาการแสดง ดังนี้
-
เริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
-
เจ็บคอไม่อยากอาหาร ปวดท้อง และอ่อนเพลีย
-
หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายในตามมา
-
หากอาการไม่ดีขึ้น หรือ มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับ อาการมือเท้าปาก จะสังเกตได้ว่าถ้า ลูกมีตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่เกิดขึ้นภายในปาก ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งบริเวณปากด้านนอกและด้านใน บนริมฝีปาก ในลำคอ บนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ตุ่มแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลืนน้ำดื่มหรืออาหาร และตุ่มพองน้ำกับผื่นเป็นจุด ๆ จะเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้าและบางครั้งก็พบที่บริเวณก้นและขาหนีบด้วยเช่นกัน
ซึ่งตุ่มและแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายเป็นอีสุกอีใส แต่มีขนาดเล็กกว่า บางครั้งทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และไม่สบายตัว แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน
ทั้งนี้โรคมือเท้าปากนี้ต้องรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ กระตุ้นให้รับประทานอาหารเหลว และให้ยาทาแผลในปาก ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาลงและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและเสียชีวิตได้
สำหรับลูกน้อยที่ไปโรงเรียนแล้วมี อาการมือเท้าปาก ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม
อ่านต่อ “วิธีดูแลรักษาเพื่อช่วยลูกน้อยบรรเทาอาการมือเท้าปาก” คลิกหน้า 3
วิธีบรรเทาเมื่อลูกน้อยป่วยเป็นมือเท้าปาก
อาหารสำหรับลูกน้อยที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก
อาการมือเท้าปาก มักมีแผลอักเสบในปาก บนลิ้น และในลำคอ ทำให้เจ็บปวดเมื่อกลืนอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารอ่อน ๆ ง่ายต่อการกลืน และไม่ต้องเคี้ยวมาก เช่น ซุป ข้าวต้ม มันบด หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายและป้องกันภาวะขาดน้ำ รวมถึงอาจให้กินไอศกรีมแท่ง ดื่มน้ำเย็น ๆ เช่น นมแช่เย็น หรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก และช่วยให้ลูกน้อยกินอาหารและดื่มน้ำได้สะดวกมากขึ้น
หากลูกรู้สึกเจ็บปวดมากขณะกินหรือกลืนอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารร้อน รสเค็มหรือเผ็ด และอาหารที่เป็นกรด เช่น ส้ม มะนาว โซดา หรือน้ำอัดลม เป็นต้น นอกจากนี้ ควรล้างและเช็ดทำความสะอาดปากของลูกน้อยด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
รักษาแผลในปาก
แผลในปาก คือ 1 ใน อาการมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ลิโดเคน เจล ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ หรือซาลิไซเลตโคลีน เจล ยาช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลในปาก โดยแต้มลงบนบริเวณที่เป็นแผลหรือหยอดในปาก นอกจากนี้ อาจใช้ยารูปแบบสเปรย์ เช่น ยาเบนไซดามีน พ่นในปากสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป หากลูกน้อยโตพอที่จะบ้วนปากเองได้ อาจให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก
วิธีดูแลไม่ให้ลูกมีไข้สูง
ไข้สูงอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว ควรให้กินยาแก้ปวดลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดแผลในปากได้ โดยให้ยาตามปริมาณที่เหมาะสมกับอายุของเด็กซึ่งระบุไว้บนฉลาก พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด และควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าบาง ๆ โดยเฉพาะผ้าฝ้าย เพราะระบายอากาศและความร้อนได้ดี ทำให้ลูกรู้สึกสบายตัวขณะสวมใส่ นอกจากนี้ ควรเปิดหน้าต่างหรือพัดลม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หากลูกน้อยยังมีไข้ พ่อแม่ควรเช็ดตัวให้ด้วยน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่น เพื่อไข้จะได้ลดลงและรู้สึกสบายตัวขึ้น
อาการมือเท้าปาก ของลูกน้อยที่ควรไปพบแพทย์
สำหรับ โรคมือเท้าปาก จะดีขึ้นเองจนฟื้นตัวได้ภายใน 10 วัน แต่หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลใจถึงแผลอักเสบภายในปาก และตุ่มพองที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ รวมถึงฝ่าเท้าของลูกน้อย อาจไปปรึกษาคุณหมอเพื่อหาแนวทางการรักษาเพิ่มเติมได้ และหากอาการป่วยของลูกไม่ดีขึ้นภายใน 7-10 วัน โดยมีไข้สูง ตัวร้อน หนาวสั่น ชักเกร็ง เกิดภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรือพบว่าลูกมีอาการซึมลง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ลูกจะกลับมาเป็นโรคมือเท้าปากซ้ำได้หรือไม่ ?
มือเท้าปาก เป็นโรคที่กลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยอาจเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์อื่น ๆ แม้ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันไวรัสบางชนิดจากโรคหวัดได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นที่ทำให้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากได้
การป้องกันการรับเชื้อโรคมือเท้าปาก
- สอนให้ลูกรักษาความสะอาด โดยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
- หลีกเลี่ยงการนำลูกน้อยไปในสถานที่ที่มีคนแออัด ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดีให้ถูกสุขลักษณะของสถานที่ หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในห้องน้ำ ห้องส้วม รวมถึงของใช้ ของเล่นของเด็ก เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ่านต่อบทความดีๆ น่าสนใจ คลิก:
- 4 ข้อ พ่อแม่ต้องรู้ เมื่อ ลูกเป็นมือเท้าปาก โดย พ่อเอก
- ระวัง! โรคมือเท้าปาก EV71 สายพันธุ์รุนแรง
- แม่แชร์! ลูกเป็น มือเท้าปาก 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3 เดือน
- ทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบเป็น โรคมือเท้าปาก
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง เรื่องอาการของ โรคมือเท้าปาก : www.pobpad.com และเรื่อง โรคมือเท้าปากในเด็ก รับมืออย่างไร ? : www.pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่