อาการไข้เลือดออกในเด็ก หากลูกเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 เป็นแล้ว เป็นซ้ำอีก จะยิ่งอันตราย เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง พ่อแม่ควรระวังและสังเกตอาการให้ดี!
อาการไข้เลือดออกในเด็ก
หากป่วยครั้งที่ 2 เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง!
สำหรับข่าวเรื่องโรคภัยไข้เจ็บในประเทศไทยบ้านเราช่วงนี้ นอกจากโรคโควิด19 แล้ว ก็ยังมีโรคเจ้าถิ่นที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้ และมีความน่ากลัวไม่แพ้กัน นั่นคือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาหลังมีข่าวผู้ติดเชื้อไวรัส covid-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางเฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว ซึ่งเป็นเพจที่มีชื่อเสียงด้านการให้ข้อมูลทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อรา ก็ได้ออกมาโพสต์เตือนประชาชนชาวไทย ให้เตรียมระวัง โรคไข้เลือดออก ไว้ด้วย … หลังกรมควบคุมโรค ออกมาเปิดเผยว่า ปีนี้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสูงถึง 10,000+ ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 9 รายด้วยกัน (ตัวเลขในวันที่ 28 เม.ย. 63)
Must read >> พ่อแม่ต้องรู้! 10 ความแตกต่าง อาการไข้เลือดออก vs อาการโควิด 19
ขอบคุณภาพจากเพจ : Infectious ง่ายนิดเดียว
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออก ซึ่งมี “ยุง” เป็นพาหะนำโรค มักจะระบาดหนักในช่วงฤดูฝน คือตั้งแต่เดือน มิถุนายน, กรกฏาคม และสิงหาคม 2563 (แต่ปีนี้มาเร็ว) โดยรวมทั้งปีจะพบผู้ป่วยไข้เลือดออก คาดว่าอาจสูงถึง 7 หมื่นคน
ซึ่งกลุ่มเสี่ยงมี อาการไข้เลือดออกในเด็ก เป็นเด็กวัยเรียน 5-14 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป จึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ควรใช้โอกาสช่วงอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และป้องกันโรคไข้เลือดออกควบคู่ไปด้วย โดยทำความสะอาด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านและรอบบริเวณบ้าน ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก
ทั้งนี้สำหรับการติดเชื้อไข้เลือดออกและภาวะความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายไว้ว่า… ไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อ ไวรัสแดงกี่ ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทั้งนี้ในประเทศไทยมีเชื้อไวรัสแดงกี่อยู่ 4 สายพันธุ์ ตั้งแต่ไม่รุนแรงจนกระทั่งรุนแรง หรือขั้นภาวะช็อก บางชนิดทำให้เกิดความรุนแรงมากกว่าบางชนิด แต่โดยรวมแล้วทั้ง 4 สายพันธุ์มีโอกาสทำให้เกิดความรุนแรงได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยจะเป็นชนิดที่ 2 จำนวนมาก จะระบาดปีเว้นปี เมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าปีนี้มีผู้ป่วยสูง แต่เมื่อเทียบกับปี 2556 ถือว่ายังน้อย และสามารถควบคุมได้ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากพบว่า ลูกมี อาการไข้เลือดออกในเด็ก เป็นไข้สูงกว่า 3 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์ด่วน และถ้าหากลูกเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน จะมีอาการรุนแรงขึ้น หากเกิดภาวะช็อก เสี่ยงต่อการแทรกซ้อนของโรคต่างๆ สูงได้!!!
เช่นเดียวกับกรณีของหนูน้อยเด็กชายคนนี้ที่ป่วย เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 และมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ มากจนน่าสงสารเลยทีเดียว โดยผู้เป็นแม่ได้เล่า อาการไข้เลือดออกในเด็ก ของลูกน้อย ให้กับทีมแม่ ABK ฟังว่า…
น้องป่วยครั้งแรกตอนอายุได้ 2 ขวบกว่า … อาการ คือ มีไข้ กินยาลดไข้ก้อไม่ลด เป็นมาหลายวัน แล้วเริ่มซึม คุณแม่ก็ชักไม่แน่ใจว่า เป็นไข้ธรรมดาหรืออะไรนะคะ กลางคืนน้องตัวร้อน เช็ดเท่าไหร่ก็ไม่ลด เลยตัดสินใจพาไป รพ.เอกชน ตรวจเลือด ได้ผลคือ ลูกเป็นไข้เลือดออก ที่แขนน้องก็เริ่มเห็นเป็นจุดๆ จากนั้นก็กลับไป แอดมิท รพ.ใกล้บ้าน แอดมิทไป 4-5 วัน หมอก็ให้น้ำเกลืออย่างเดียว เหงื่อน้องออกเยอะมาก อาการดีขึ้น แต่ทานไม่ค่อยได้
ซึ่งคุณแม่ยังบอกต่ออีกว่า … ในตอนนั้นยอมรับคุณแม่ไม่รู้เรื่องเลยเกี่ยวโรคนี้เลย เพราะไม่คิดว่าจะเป็นกับลูกตัวเอง พยาบาลที่มาตรวจก็ไม่ได้แจ้งอะไร จนน้องอาการดีขึ้นเลยได้กลับบ้าน หลังจากนั้นคุณแม่เริ่มศึกษาอาการของไข้เลือดออกอย่างจริงจัง
อ่านต่อ >> “อาการไข้เลือดออกในเด็ก ครั้งที่ 2
เป็นซ้ำอีก ยิ่งอันตราย” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
(ต่อ) อาการไข้เลือดออกในเด็ก ครั้งที่ 2
สำหรับอาการป่วย เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 นี้ คุณแม่เล่าว่า… น้องอยู่อยุบาล 2 อายุได้ 4 ขวบ น้องเป็นคนแรกในหมู่บ้านเลยที่เป็นไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออกในเด็ก ที่น้องเป็น คือ มีไข้สูง สูงมากถึง 39.9 , 39.8 องศาเซลเซียส แม่เช็ดตัวเท่าไหร่ก็ร้อนเหมือนเดิม กินยาลดก็ไม่ลด ตัวร้อนเกินจนพูดละเมอเรื่อยเปื่อย ปากแห้ง หน้าแดงตาแดง ปวดเมื่อย
คุณแม่เลยรีบพาไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะผลตรวจเร็ว พอไปถึงโรงพยาบาล ตรวจเลือด แอดมิท ผลเป็นไข้เลือดออก ไข้สูงมาก จนพยาบาลต้องมาเช็ดตัวทุกๆ ชั่วโมง ตรวจไข้ทุกๆ ชั่วโมง เพราะไข้สูง 40 41 42 องศาเซลเซียส แต่ดีที่น้องไม่มีประวัติชักมาก่อน หมอบอกน้องอยู่ในระยะแรก เจาะเลือดทุกวัน เพราะต้องดูเกล็ดเลือด
นับวันเกล็ดเลือดยิ่งลด ยิ่งลด จากหลักแสน ลงมาหลักหมื่น คุณแม่สงสารจับใจ น้องทานไม่ได้ ทานไม่ลง แขนก็เขียวเป็นจ้ำๆ ทั้ง2 ข้าง เพราะเจาะเลือดทุกวัน หมอบอกว่า ตอนไข้สูงยังไม่น่ากลัวเท่าไข้ลด
ระยะที่ 2 หมอบอกอันตรายอาจช็อกได้ พี่ๆพยาบาลดูแลเต็มที่ผลัดกันดูน้องแบบใกล้ชิด เพราะน้องเริ่ม อาเจียนมีเลือดปน และปวดท้องมาก ปวดจนตัวงอ ร้องไห้ บอกว่า ปวดท้อง จะจับท้องก็ไม่ได้ ลูกบอกเจ็บ
หมอบอกว่า ตับโต ท้องน้องบวมเล็กน้อย แล้วหน้าน้องก็บวมด้วย ปัสสาวะน้อยลง เกือบสวนปัสสาวะแล้วแต่น้องพยายามฉี่ด้วยตัวเองแล้วน้องหายใจก็ถี่ พยาบาลตรวจออกซิเจนทุกชั่วโมง น้องหายใจถี่ เริ่มเหนื่อย หมอจึงให้เพิ่มออกซิเจน สงสารน้องจับใจ
มาถึงระยะที่ 3 ไข้ลดดีขึ้นเรื่อยๆ น้องเริ่มทานอาหารได้นิดหน่อย จุดผื่นๆก็ผุดขึ้นเต็มตัวเลย ปัสสาวะมากขึ้น สดใสขึ้น ยิ้มร่าเลย ต้องขอบคุณหมอและพยาบาลให้กำลังใจน้อง เอาใจน้อง ดูแลน้องได้ดีสุดๆ น้องแอดมิทได้ 8 วัน หลังจากหายดีหมอก็ให้กลับบ้านได้
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณแม่ Dearna Nana
ทั้งนี้จาก อาการไข้เลือดออกในเด็ก ที่คุณแม่เล่ามาข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าการติดเชื้อครั้งแรกและครั้งที่สองมีความต่างกัน ซึ่งสังเกตได้ว่า การติดเชื้อที่ทำให้อาการรุนแรง คือ การติดเชื้อครั้งหลัง หรือครั้งที่ 2 ขึ้นไป เนื่องจากการติดเชื้อครั้งแรก ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ถาวร หรือป้องกันชนิดอื่นๆ สามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อสายพันธุ์อื่นเข้ามาสู่ร่างกาย จะไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็พบคนที่ติดครั้งแรกและอาการรุนแรง เพียงแต่พบน้อยกว่า ซึ่งกรณีของน้องที่คุณแม่เล่ามาข้างต้นก็น่าจะเป็น การติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่น เพราะน้องเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงร่วมด้วย
วิธีรักษาและป้องกัน อาการไข้เลือดออกในเด็ก
และปัจจุบัน ยังไม่มียาที่จะนำมารักษา อาการไข้เลือดออกในเด็ก ได้โดยตรง การรักษาจึงเป็นการประคับประคองไปตามโรคมากกว่า หากอาการยังไม่รุนแรงก็สามารถพักฟื้นที่บ้าน กินน้ำเกลือและอาหารอ่อนย่อยง่าย
อย่างไรก็ตามทุกกลุ่มอายุก็ถือว่าเสี่ยงเป็นไข้เลือดออกได้ แต่ปัจจุบันกลุ่มที่พบว่าป่วยมากที่สุดคือ เด็กโต หรือผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ยังไม่มีการรายงานอย่างชัดเจน แต่ปัจจัยหนึ่งในนั้น คือ การตอบสนองของภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย
โดยวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ดีที่สุดควรยึดหลักตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามพาชนะโอ่ง ไห ยางล้อรถ หรือเศษกระเบื้องที่มีน้ำขัง รวมไปถึงการฉีดยากันยุง หรือพ่นยากันยุง ก็สามารถช่วยระงับการแพร่กระจายของเชื้อไข้เลือดออกได้
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ไข้เลือดออกเดงกี โรคระบาดที่มากับฤดูฝน
- ลูกป่วยรีบสังเกต! 10 สัญญาณเตือนอาการ ไข้เลือดออก
- หมอเตือนระวัง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคที่มากับยุง
- แพทย์เผย! ข้อมูลใหม่ แม่ต้องรู้ก่อนให้ลูก ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่