AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เช็กก่อนซื้อ! “สัญลักษณ์ที่ก้นขวดนมลูก” หากไร้มาตรฐาน..เสี่ยงลูกป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

สัญลักษณ์บนขวดนม

สัญลักษณ์บนขวดนม เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรต้องรู้ เพราะ มีขวดนมที่ทำจากพลาสติกหลากหลายแบบ ซึ่งพลาสติกบางอย่างอาจไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นขวดนม เพราะอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้!

การเลือกขวดนม ที่ดีไม่มีสารเคมี หรือที่เหมาะกับลูกน้อยนั้น ไม่ใช่แค่เลือกที่ความถูกใจ ยี่ห้อของขวดนมที่ชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งลวดลายบนขวดนมเพียงอย่างเดียว เพราะมีสารบางชนิดที่ใช้ผลิตพลาสติก ซึ่งมีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง, ระบบประสาท, ความทรงจำ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป

สัญลักษณ์บนขวดนม แบบไหนใช้ได้ ปลอดภัย
ไร้สารที่เป็นอันตรายกับลูกน้อย

Amarin Baby & Kids จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ บน ขวดนม และรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกขวดนมเด็กที่มีคุณภาพมาให้คุณแม่คุณพ่อได้ดูกัน จะได้เลือกขวดนมเด็กอย่างมั่นใจ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยนะคะ

ตัวเลขใต้ขวดพลาสติก

 

ความหมายของสัญลักษณ์ตัวเลขบนพลาสติก

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 1 PET หรือ PETE (Polyethylene Terephthalate)

ลักษณะเป็นพลาสติกโปร่งใสคล้ายแก้ว น้ำหนักเบา เหนียว ไม่เปราะแตกง่าย กันแก๊สซึมผ่านดี ทนแรงกระแทกและสภาพต่างๆ ได้ดี สามารถทนอุณหภูมิได้ไม่เกิน 70-100 °C ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย นิยมนำมาใช้ทำเป็นขวดน้ำดื่ม น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำสลัด น้ำยาบ้วนปาก ขวดโหลใส่ขนม และถาดสำหรับอบอาหาร ควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่

⇒ Must read : ใช้ขวดน้ำซ้ำ ถูกวิธี ลูกน้อยห่างไกลจากการติดเชื้อ
⇒ Must read : แก้วน้ำอันตราย เลือกใช้แก้วน้ำให้ปลอดภัย 6 ชนิด

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 2 HDPE (High Density Polyethylene)

ลักษณะเป็นพลาสติกขุ่นๆ แข็งเหนียวและแตกยาก ทนการกัดกร่อนของสารเคมีได้ดี กันน้ำและความชื้นได้ดี ทนอุณหภูมิได้ถึง 105°C นิยม ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ใช้ในภาชนะบรรจุอาหารประเภทขวดนม ขวดน้ำผลไม้ ภาชนะใส่เนย โยเกิร์ต ซีเรียล และ ภาชนะอื่น ๆ เช่น ขวดน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ขวดแชมพู ถุงขยะ ถุงใส่ของ หรือขวดน้ำมันเครื่อง

อ่านต่อ >> “ความหมายของสัญลักษณ์บนพลาสติก ที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนซื้อขวดนมให้ลูก” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

(ต่อ) ความหมายของ สัญลักษณ์บนพลาสติก

เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 3 V หรือ PVC (Polyvinyl Chloride)

เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงทนทานต่อสารเคมีและการขัดถูได้ดี กันอากาศและน้ำได้ดี ทนอุณหภูมิร้อนเย็นได้ไม่เกิน -30°C ถึง 80°C ส่วนมากเรารู้จักกันในท่อน้ำ รางน้ำ ท่อสายไฟ สายยาง แต่ก็สามารถพบเจอได้รอบตัวเช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก อุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ ขวดน้ำยาต่างๆ แต่ก็มีการนำมาใช้ในการบรรจุอาหาร เช่น แผ่นฟิล์มห่ออาหาร ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำมันพืช ถาดหรือกล่องบรรจุอาหาร PVC มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย อันตรายควรหลีกเลี่ยง หากเลี่ยงไม่ได้ควรไม่ให้อาหารหรือน้ำสัมผัสกับภาชนะประเภทนี้

ซึ่ง PVC จัดเป็นพลาสติกมีพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ ใน PVC สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งการรับประทาน การหายใจ และการสัมผัส โดย PVC ประกอบด้วยสาร Vinyl Chloride ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้าได้ร่างกายได้รับสารชนิดนี้เป็นอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อการทำงานของตับ หรือเกิดเนื้องอกและมะเร็งในหลายระบบของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสารพิษจากสารเติมแต่ง (Additives) ต่างๆ ซึ่งมีผลต่อระบบฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ และทำให้เกิดพิษต่อตับและเป็นสารก่อมะเร็งอีกเช่นกัน


เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 4 LDPE (Low Density Polyethylene)

เป็นพลาสติกที่ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ใส มีความนิ่ม เหนียว ยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อสารเคมี ทนความเย็นได้ดี แต่ไม่ค่อยทนต่อความร้อน กันความชื้นได้ดี ส่วนมากใช้ใส่หรือห่อของ เช่น ฟิล์มห่ออาหาร ถุงเย็น ถุงใส่อาหารแช่แข็ง ถุงใส่ขนมปัง ถุงทั่วไป ขวดน้ำเกลือ ขวดชนิดบีบได้ ยาหยอดตา หรือตามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ LDPE สามารถใช้ซ้ำได้ แต่ว่าส่วนมากจะถูกออกมาให้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง


เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 5 PP (Polypropylene)

เป็นพลาสติกที่ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย นิยมนำมาทำภาชนะบรรจุอาหารร้อน มีความ ใส ทนทานต่อความร้อนได้ถึง 130°C คงรูป เหนียว ทนแรงกระแทก สารเคมี และน้ำมันได้ดี พบได้ในจาน ชาม กล่องใส่อาหาร/ขนม ถุงพลาสติกใส่อาหารร้อน กล่องอาหารแช่แข็ง หลอดดูดน้ำ ฝาขวด ถ้วยโยเกิร์ต ขวดชนิดบีบได้ ขวดนมเด็ก ฟิล์มห่ออาหาร โดยภาชนะ PP ส่วนใหญ่สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ด้วย แต่ทางที่ดีควรเช็คเครื่องหมายหรือฉลากระบุว่าใช้กับไมโครเวฟได้หรือไม่ และสามารถเลี่ยงได้ โดยควรใช้ภาชนะแก้วหรือเซรามิคแทน


เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 6 PS (Polystyrene)

ลักษณะเป็นพลาสติกที่มีความใส ใส่สีและลวดลายได้ แข็งแต่เปราะ แตกหักง่าย ไม่มีกลิ่น ทนต่ออุณหภูมิได้ไม่เกิน -20°C ถึง 80°C พบใน จาน/ถ้วย/ถาด/กล่องโฟม/ช้อนส้อมชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือตามร้านสะดวกซื้อ กล่องซีดี ขวดยาบางชนิด

โดย PS อาจปล่อยสาร Styrene ปนเปื้อนมากับอาหารได้เมื่อได้รับความร้อน ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนต่างๆ ได้ และยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย


เทอร์โมพลาสติกเบอร์ 7 Others พลาสติกชนิดอื่น ๆ

นอกจากพลาสติก 6 เบอร์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เทอร์โมพลาสติกประเภทอื่นๆ ทั้งหมดจะจัดรวมอยู่ในเบอร์ 7 ด้วยกันหมด พบได้ในขวดน้ำขนาด 3-5 แกลลอนตามเครื่องกดน้ำ ขวดนมเด็กชนิดแข็งใส วัสดุกันกระสุน แว่นกันแดด ภาชนะบรรจุอาหาร DVD Ipod คอมพิวเตอร์ ป้ายสัญญาณต่างๆ

***ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บรรจุเครื่องดื่ม หรืออาหาร ที่มีสัญลักษณ์ของ #3-PVC ,#6-PS 
หรือ #7-Polycarbonate แต่สามารถใช้พลาสติกที่มีสัญลักษณ์เหล่านี้ #1-PET, #2-HDPE, #4-LDPE
และ #5-PP ได้อย่างปลอดภัย

 

ทั้งนี้ ในพลาสติกเบอร์ 7 จะมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Polycarbonate ซึ่งพบใน ขวดนมเด็ก ขวดน้ำดื่ม โดยพลาสติกชนิดนี้มีสาร Bisphenol A (BPA) ซึ่งเป็นพิษ เมื่อรับประทานอาหารหรือของเหลวในภาชนะ Polycarbonate จะทำให้ BPA ปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย ส่งผลเสียการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้ และฮอร์โมนการเจริญเติบโต และระบบการสืบพันธุ์ 

อ่านต่อ >> “อันตรายของ BPA และวิธีการเลือกซื้อขวดนมที่ปลอดสาร BPA ให้ลูก” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

BPA คืออะไร?

หรือ Bisphenol A คือ สารเคมีประกอบหนึ่งในวัตถุที่เรียกว่า โพลีคาร์บอเนต ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตขวดนม ขวดน้ำดื่ม โดยสารนี้มีคุณสมบัติช่วยให้ขวดนมหรือพลาสติกมีความแข็งแรง ใส ไม่แตกง่าย ส่วนปัจจัยหลักนั้น มาจากการที่โรงงานผู้ผลิตบางโรงงาน ได้นำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ผลิตขวดนมเพื่อลดต้นทุน ภายหลังจึงได้มีการประกาศห้ามผลิตเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

BPA  เข้าสู่ร่างกายลูกน้อยได้อย่างไร?

การที่ BPA จะเข้าสู่ร่างกายได้นั้น  ในเบื้องต้นคือ ความร้อนที่อุณหภูมิเกิน 60 องศา ขึ้นไป เช่น การต้ม นึ่ง หรือสเตอริไลซ์พลาสติกทำให้สารพิษหลุดและร่อนออกมาปะปนในอาหารยิ่งขึ้น สาร BPA จะแทรกซึมลงในของเหลว และอาหารที่บรรจุอยู่ภายในภาชนะที่มีสาร BPA เช่น ขวดนม ขวดน้ำพลาสติก กล่องบรรจุอาหาร แล้วจึงเข้าสู่ร่างกายเมื่อรับประทานหรือดื่มเข้าไป

และหากเราบริโภคอาหารจากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้น ก็มีโอกาสจะได้รับสาร BPA เข้าไปโดยไม่รู้ตัว โดยมีการศึกษาวิจัยในประเทศแคนาดา และตรวจพบว่าสารชนิดนี้สามารถหลุดลอกออกมาจากขวดนมได้ หากขวดนมมีการแตกร้าว เสื่อมคุณภาพ และอยู่ในอุณหภูมิความร้อนสูงๆ เช่น การต้มขวดนม หรือนึ่งขวดนม

ภัยร้ายจาก BPA

สำหรับสาร Bisphenol A ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่สารตัวนี้เป็นสารที่อาจตกค้างในพลาสติกประเภท พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) ซึ่งมีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง, ระบบประสาท, ความทรงจำ และการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป 

ในหมู่ผู้ที่ได้รับสาร BPA นั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนและไฮเปอร์แอคทีฟ ซ้ำยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ยิ่งสะสมในร่างกายมากเท่าใด ก็จะยิ่งไปลดศักยภาพการทำงานของร่างกายมากขึ้น  ที่สำคัญ หากเด็กทารกเมื่อได้รับสาร BPA ก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ !!!

√วิธีการดูสัญลักษณ์บนขวดนม
และ
เลือกซื้อขวดนม ที่ปลอดสาร BPA ให้ลูก

ขวดนมที่ผ่านมาตรฐานและปลอดภัยสำหรับทารกคือ ขวดนมที่ผลิตจากโพลีพรอพพีลีน หรือ PP เท่านั้นค่ะ ขวดนมประเภทนี้ คุณแม่จะรู้จักดีในชื่อเรียกกันคือ ขวดนม “BPA Free” หรือ แปลตรงคือ ไม่มีสาร BPA ปนเปื้อนนั่นเอง

การสังเกต ขวดนมที่ได้มาตรฐานผลิตจากโพลีพรอพพีลีน หรือ PP ก้นขวดนมจะมีสัญลักษณ์ มีเลข 5 ตรงกลาง และมีรูปลูกศรล้อมรอบ =  ควรซื้อ ปลอดภัย

***นอกจากนี้ซิลิโคน แก้วและไม้ ยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและไม่รวมอยู่ในภาชนะประเภทรีไซเคิล

ขวดนมตามท้องตลาดที่มีสัญลักษณ์เลข 7

แต่ตามท้องงตลาดก็จะมีขวดนมเด็กอีกประเภท คือขวดนมเด็กที่ผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอนเนต สังเกตได้จากบริเวณก้นขวดจะมีสัญลักษณ์เลข 7 อยู่ตรงกลางและมีลูกศรล้อมรอบ ขวดนมเด็กประเภทนี้ไม่ควรซื้อมาใช้งาน เนื่องจากมีการปนเปื้อนจากสาร BPA ที่ไม่ปลอดภัยกับตัวเด็ก ควรหลีกเลี่ยงค่ะ

อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าการดู สัญลักษณ์บนขวดนมลูก หรือการเลือกขวดนมเด็ก หรือแม้กระทั่งจุกนม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามอีกด้วย เพราะทั้ง 2 อย่างที่กล่าวมา เป็นของใช้เด็กอ่อน ที่ใช้อยู่ทุกวันเป็นประจำ ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เลือกของที่ไม่มีคุณภาพมาให้ลูกน้อย ก็เท่ากับว่าเหมือนเราทำร้ายลูกน้อยของเราทางอ้อมแบบไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : daily.rabbit.co.th , thinkofliving.com