บ้านไหนชอบให้ลูก กินของหวาน ระวังฟันผุ จนต้องถอน … พร้อมคลิปเทคนิคเปลี่ยนลูกไม่ให้ติดหวาน!
ของหวานกับเด็ก ถือเป็นของคู่กัน จะไม่ให้ทานเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะให้ทานมากเกินไปก็ย่อมไม่ใช่เรื่องดี วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids อยากจะขอนำเสนอเรื่องราวของหนูน้อยคนหนึ่ง ที่หัดกินของหรือขนมหวานตั้งแต่มีอายุได้ 3 ปี วันเวลาผ่านไปเด็กคนนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องการกินข้าว ส่งผลทำให้น้ำหนักของเขา ต่ำลงกว่ามาตรฐาน
จนกระทั่งเด็กน้อยคนนี้มีอายุครบ 11 ปี เขาก็ยังคงกินของหวานไม่หยุด จนผลสุดท้ายฟันของเขาก็ผุหมดไปทั้งปาก ทำให้คุณหมอต้องช่วยรักษาด้วยการถอนฟัน!
เรื่องราวนี้อาจไม่ใช่เรื่องราวแรกที่จะมาเตือนสติพ่อแม่ ที่ปล่อยให้ลูกได้กินหวานมากไป จนเกิดฟันผุ แต่อย่างไรก็ดีเราไปดูกันดีกว่านะคะว่า ฟันผุ นั้นเกิดจากอะไรกันแน่ พร้อมกับเทคนิคเปลี่ยนลูกไม่ให้ติดหวาน
กินของหวาน ระวังฟันผุ คืออะไร?
ฟันผุ หลายคนเรียก แมงกินฟัน ฟันเป็นรู หรือฟันเป็นโพรง ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่ชอบกินของหวาน หรือน้ำตาลและไม่ได้แปรงฟันให้สะอาด
สถานการณ์ฟันผุในปัจจุบันนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง พบว่าเด็กอายุ 2 – 3 ปี เริ่มฟันผุแล้ว ทั้ง ๆ ที่ฟันน้ำนมขึ้นได้ไม่นาน พอเด็กเริ่มโตขึ้นมามีอายุ 5 – 6 ปี ก็จะสามารถพบเห็นว่ามีเด็กที่มีฟันผุมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์บางคนก็อาจจะไม่กี่ซี่ แต่บางคนต้องถอนหมดปากเลยก็มีค่ะ
สาเหตุของฟันผุ
กินของหวาน ระวังฟันผุ เพราะฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่กินค้างคาอยู่ในปากและสัมผัสกับฟันอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ “Streptococcus mutans” (สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่บนแผ่นคราบฟัน เกิดกระบวนการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic) ที่มีฤทธิ์ในการสลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างของฟันจนทำให้ฟันผุกร่อนไปทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง นั่นเอง
อาการฟันผุนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้
- ฟันผุระยะที่ 1 – เป็นระยะที่กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวด แต่จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ชั้นเคลือบฟัน โดยกรดจะเริ่มไปทำลายชั้นเคลือบฟันให้เปลี่ยนจากสีขาวใสมันวาวเป็นสีขุ่นขาวเล็ก ๆ บริเวณผิวเรียบของฟันหรือหลุมร่องฟัน
- ฟันผุระยะที่ 2 – เป็นระยะที่กรดเริ่มกัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน ทำให้เป็นรอยสีเทาดำหรือสีน้ำตาล เห็นรูผุ มีเศษอาหารติดอยู่ และการผุจะลุกลามไปเร็วกว่าในระยะที่ 1 เนื่องจากชั้นเนื้อฟันจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานของหวานจัด ของเย็นจัด หรือร้อนจัด
- ฟันผุระยะที่ 3 – เป็นระยะรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวด โดยอาจจะปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นพัก ๆ รวมถึงมีเศษอาหารไปติดอยู่ในโพรง ทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาได้
- ฟันผุระยะที่ 4 – ถ้าผู้ป่วยทนเจ็บปวดจากการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายรากฟัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ ๆ หาย ๆ เป็นช่วง ๆ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวมหรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก และเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกายได้
กินของหวาน ระวังฟันผุ พบกับเทคนิคเปลี่ยลูกไม่ให้ติดหวาน พร้อมกับคลิปเทคนิคเปลี่ยนลูกไม่ให้ติดหวาน จะมีวิธีอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
5 เทคนิคเปลี่ยนลูกไม่ให้ติดหวาน
- เป็นแบบอย่าง พ่อแม่และคนในครอบครัวทุกคน ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น โดยการไม่กินหวาน และทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช่น เวลาทานข้าวเสร็จ แทนที่จะต่อด้วยขนมก็เปลี่ยนเป็นผลไม้แทน หรือดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้แทนน้ำอัดลม
- ค่อย ๆ ลดปริมาณน้ำตาลในอาหารที่ลูกกินทีละน้อย ๆ เพื่อให้ลูกค่อย ๆ ปรับตัว อย่าลดฮวบฮาบเพราะจะยิ่งทำให้ลูกปฏิเสธได้ เช่น ลูกชอบกินนมเปรี้ยวหรือนมรสหวานจัด ก็ให้ผสมนมรสจืดลงไปทีละน้อย จนลูกเปลี่ยนมาดื่มนมรสจืดได้
- ลดของรสหวานในบ้าน ด้วยการไม่ซื้ออาหาร ขนม เครื่องดื่มที่มีรสหวานเก็บไว้ในบ้านหรือตู้เย็น เพราะจะทำให้ลูกเห็นและหยิบกินได้ง่าย กินได้ตลอดเวลา เปลี่ยนเป็นผลไม้ไม่หวานจัดแทน เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะละกอ แคนตาลูป แตงโม เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงขนมหวาน ไม่ให้ลูกกินลูกอม ลูกกวาด ขนมหวาน ขนมเค้ก บ่อยเกินไป เช่น ให้กินขนมเค้กเฉพาะในโอกาสสำคัญ หากเป็นไอศกรีมก็ควรเลือกที่มีน้ำตาลน้อย โดยการอ่านฉลาก และปรุงอาหารหวานน้อย เวลาปรุงอาหาร หรือเตรียมอาหาร ให้ลดการเติมน้ำตาลทั้งในอาหารหลัก ของว่าง และเครื่องดื่ม 5. กำหนดเวลาทานอาหารหลักและของว่างและจัดอาหารให้ตรงเวลา เพื่อช่วยสร้างวินัยในการรับประทาน ลดโอกาสที่ลูกจะหิวแล้วต้องหาขนมหวานทานระหว่างมื้อ สุขภาพของเด็กเริ่มต้นที่บ้าน…ถ้าคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันปรับพฤติกรรมของ เจ้าตัวน้อยทีละน้อย จะช่วยให้ลูกห่างไกลจากโรคที่มาจากการติดรสหวานได้ค่ะ
คราวนี้ละค่ะ คำเตือน กินของหวาน ระวังฟันผุ ก็จะไม่มีให้เราได้ยินอีก เนื่องจากหลังจากนี้ไป ลูกน้อยจะเป็นเด็กดี พูดจาไพเราะกันแล้วนะคะ
อ้างอิง: Amarin TV, Good News และ Medthai
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
- ไม่อยากให้ “ลูกฟันผุ ต้องแปรงฟัน” และดูแลให้ถูกต้อง
- หมอแนะ! ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ช่วยป้องกันลูกฟันผุ ได้ตั้งแต่ซี่แรก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่