AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หวัดแดด โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวังในเด็กเล็ก

หวัดแดด โรคหน้าร้อน  มีนา  เมษาพาร้อนจนแสบผิวไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม  คือจริงๆ ต้องบอกว่าบางจังหวัดในประเทศไทยร้อนกันชนิดที่ว่าลืมฝนลืมหนาวกันไปเลยก็ว่าได้  ที่สำคัญแสงแดดร้อนๆ ในหน้าร้อนนี้สามารถทำให้เด็กๆ ป่วยไข้ขึ้นมาได้ง่ายๆ  โดยเฉพาะกับ โรคหวัดแดด  ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูล “หวัดแดด  โรคหน้าร้อน” มาให้ทราบกันค่ะ

 

 หวัดแดด โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวังในเด็กเล็ก

โรคหน้าร้อน อย่างหวัดแดดไม่ได้จะเกิดขึ้นแต่กับเฉพาะเด็กๆ เท่านั้นนะคะ เพราผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็เป็นหวัดแดดได้มากเหมือนกัน แต่ที่ผู้เขียนเน้นในเด็กๆ  เนื่องจากร่างกายของพวกเขายังมีภูมิคุ้มโรคไม่แข็งแรงเท่ากับในผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ สุขภาพแย่กันขึ้นมาได้ง่ายค่ะ

 

แล้วยิ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงฤดูร้อน ที่อากาศร้อนอบอ้าวมากขึ้นทุกวัน บางวันอากาศร้อนจัดอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 43 อาศาเซียลเซียส ที่ถ้าใครทำงานอยู่กลางแจ้ง หรือเด็กๆ เล่นสนุกอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ร่างกายเสียเหงื่อมาก อ่อนเพลีย และกระหายน้ำมาก อากาศที่ร้อนจัดขึ้นในทุกวันทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จึงทำให้เด็กๆ ไม่สบายขึ้นได้ โดยเฉพาะการเป็น โรคหวัดแดด

 

Good to know… การที่ไข้หวัดแดดเกิดขึ้น เพราะร่างกายปรับตัวรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วไม่ทัน อย่างเช่น ทำงานใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้งสัมผัสกับอากาศร้อนอยู่กลางแดดนานๆ หรือบางครั้งอยู่ในอาคาร ห้องทำงานสัมผัสกับอากาศเย็นในอาคาร ฯลฯ สลับไปมาเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็นเช่นนี้ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจึงเกิดการป่วยขึ้น – นพ.ประยุทธ อังกูรไกรวิชญ์(1)

อ่านต่อ >> “หวัดแดด มีอาการให้สังเกตได้อย่างไร?” หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นหวัดแดด มีอาการให้สังเกตได้อย่างไร?

คุณแม่หลายๆ คนอาจสงสัยว่าโรคหวัดแดด จะเหมือนกับโรคหวัดหรือเปล่า ดังนั้นเพื่อให้ได้สังเกตอาการเวลาลูกเป็นหวัดแดดได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาบรรเทาอาการหวัดแดดให้กับลูกๆ ได้อย่างรวดเร็ว คุณแม่ลองเช็กลักษณะอาการของโรคหวัดแดด กันได้ตามนี้ค่ะ

  1. ลูกมีอาการไข้รุมๆ ริมฝีปากแห้งแข็ง หรือไม่
  2. ลูกมีอาการปากคอแห้ง แสบคอ หรือไม่
  3. ลูกมีอาการปวดศีรษะมาก หรือไม่
  4. ลูกทานข้าวแล้วรู้สึกขมปาก หรือไม่
  5. ลูกมีอาการนอนหลับไม่ค่อยสนิทในช่วงกลางคืน หรือไม่
  6. ลูกมีอาการขับถ่ายยาก ถ่ายผิดปกติ หรือไม่
  7. ลูกมีอาการปวดแสบกระบอกตา หรือไม่

นอกจากนี้คุณแม่ยังสังเกตอาการระหว่างไข้หวัดธรรมดา กับ ไข้หวัดแดด ได้อีกอย่างคือ

ไข้หวัดแดด อาการเด่นคือ จะมีไข้ ปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย หรือในเด็ก กับผู้ใหญ่บางคนอาจมีน้ำมูกใสๆ บ้างเล็กน้อยแต่ไม่มากเหมือนกับไข้หวัด ซึ่งโรคหวัดแดด มักเกิดจากการที่ร่างกายถูกสะสมไว้ด้วยความร้อนมาก จนร่างกายระบายความร้อนออกไม่ทัน

ไข้หวัดธรรมดา อาการเด่นคือ จะมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และมีเสมหะ ซึ่งไข้หวัดธรรมดามักเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสต่างๆ ที่แทรกเข้ามาเมื่อร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย หรือจากการโดนละอองฝน หรือตากฝนบ่อยๆ (มักเป็นกันมากในช่วงฤดูฝน)

อ่านต่อ >> “การดูแลรักษาบรรเทาอาการโรคหวัดแดด” หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

ถ้าเด็กๆ มีอาการของโรคหวัดแดด ควรดูแลรักษาบรรเทาอาการได้อย่างไร?

Credit Photo : Shutterstock

 

แน่นอนว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกป่วย ถ้าเกิดป่วยขึ้นมาแล้วก็ต้องรีบดูแลรักษา สำหรับหวัดแดดที่ถือเป็นอาการป่วยที่ไม่รุนแรงมาก คุณแม่สามารถดูแลบรรเทาอาการป่วยของลูกๆ ได้จากที่บ้านค่ะ

  1. ก่อนอื่นอันดับแรกหากลูกมีอาการของหวัดแดด ลูกอาจมีไข้อ่อนๆ ไม่สบายเนื้อตัวได้ แนะนำให้คุณแม่เช็ดตัวให้ลูกด้วยน้ำอุ่น เพื่อช่วยลดไข้ ลดความร้อนจากร่างกาย
  2. หลังจากเช็ดตัวลูกเรียบร้อย ให้ลูกได้ทานอาหารที่ช่วยทำให้โล่งสบาย ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ้ก หรือแกงจืดกับข้าวสวย หรืออาจเป็นซุปอุ่นๆ เป็นต้น
  3. หลังทานข้าวเรียบร้อยให้ลูกทานยาลดไข้เด็กปกติ
  4. ระหว่างวันให้ลูกดื่มน้ำมากๆ อาจเป็นน้ำอุณหภูมิปกติ หรือน้ำอุ่นก็ได้

 

อ่านต่อ >> “การป้องกกันหวัดแดดให้ลูกน้อย” หน้า 4

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

หวัดแดด โรคหน้าร้อน จะป้องกันได้อย่างไร?

ไข้หวัดแดดถึงแม้จะไม่ใช่อาการป่วยหนักหนาอะไร แต่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็คงไม่อยากป่วยกันใช่ไหมคะ เพราะหวัดแดดมีอาการอย่างหนึ่งที่ทุกคนไม่อยากเจอนั่นคือมีอาการปวดศีรษะมาก  ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องการอาการหวัดแดดไม่ให้เกิดกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงควรป้องกันไว้ก่อนที่จะป่วยค่ะ

  1. เพื่อป้องกันการเกิดไข้หวัดแดด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้ร่างกายสะสมความร้อนมากเกินไปจนไม่สบายได้
  2. หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน หรือมีกิจกรรมต่างๆ กลางแจ้ง ควรใส่หมวก กางร่ม หรือสวมเสื้อผ้าเบาสบายแต่ปกปิดผิวได้ทั้งร่างกาย เช่น การสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
  3. ระหว่างวัน หรือขณะที่อยู่กลางแดดให้หมั่นจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกกระหายน้ำมากเกินไป เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดหวัดแดด ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดได้ด้วยเช่นกัน
  4. ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก่อนออกแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 เป็นอย่างต่ำ ทา 30 ก่อนออกแดด และระหว่างวันก็สามารถทาครีมกันแดดได้เช่นกัน
  5. ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายครบถ้วน จะได้ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคของร่างกายให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
  6. หมั่นพากันไปทั้งครอบครัว เพื่อออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  7. ในวันที่อากาศร้อนจัด แต่หากจำเป็นต้องทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนานหลายชั่วโมง นอกจากการดื่มน้ำบ่อยๆ แนะนำให้หาผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำเย็น แล้วเช็ดทั่วตัวบ่อยๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนของร่างกาย

 

โรคหวัดแดด เป็นหนึ่งในโรคหน้าร้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นในหน้าร้อนแบบนี้หากไม่อยากเจ็บป่วยจนต้องลางาน ส่วนเด็กๆ ก็จะไม่ได้สนุกกันอย่างเต็มที่ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ก็ต้องรู้จักวิธีปกป้องสุขภาพของตัวเองกันด้วยนะคะ เอาเป็นว่าถ้าทำตามคำแนะนำที่บอกไป เชื่อว่าจะสามารถลดเสี่ยงการเกิดหวัดแดดได้อย่างแน่นอนค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

โรคลมแดด วายร้ายหน้าร้อนของเด็กเล็ก
ผิวลูกไหม้แดด ช่วงหน้าร้อน ดูแลอย่างไรดี?
โรคท้องร่วง ช่วงหน้าร้อน เด็กเล็กควรระวัง!

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1นพ.ประยุทธ อังกูรไกรวิชญ์ อายุร แพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี. รู้เท่าทัน ไข้หวัดแดด โรคหน้าร้อน อย่ามองข้าม. www.riskcomthai.org
health.kapook.com.ร้อนจัด ระวังโรคหวัดแดด