AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ท้องเครียด ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร?

Credit Photo : Shutterstock

แม่ท้องเครียด เป็นปัญหาหนึ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ในคนท้อง นั่นเพราะอาจจะเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก จึงเกิดความกังวลกับทุกเรื่อง หรือแม่ท้องบางคนก็มีปัญหาสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อตัวแม่ท้องเองแล้ว ก็ยังส่งผลไปถึงลูกน้อยในครรภ์ด้วย ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปดูว่าเมื่อ แม่ท้องมีความเครียด ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไรกันบ้าง

 

แม่ท้องเครียด = แท้ง

กว่าจะอุ้มท้องลูกคนนึงได้ไม่ใช่เรื่องง่ายของหลายๆ ครอบครัว และก็เชื่อว่าทั้งว่าที่พ่อ ว่าที่แม่มือใหม่คงไม่อยากจะสูญเสียลูกไปในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดการแท้งขึ้นได้ มาจากทั้งปัญหาสุขภาพอย่างการแท้งคุกคาม การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก การตั้งท้องลม ฯลฯ ซึ่งเชื่อไหมคะว่า การแท้งลูกจากสถิติพบว่าเกิดกับคนท้องได้มากถึง 15%

 

ความเครียดของแม่ท้องทำให้แท้งได้อย่างไร?

อนุภาคของความเครียดใครจะรู้ว่าสามารถก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อการตั้งครรภ์ได้ แม่ท้องส่วนหนึ่งเกิดปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนในบ้าน เช่นปัญหา แม่ผัวลูกสะใภ้  เรื่องการเงินภายในครอบครัว สามีชอบกลับบ้านดึกๆ สามีชอบออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงทุกสัปดาห์  มีเรื่องจุกจิกให้ทะเลากับสามี หรือกับตัวแม่ท้องเองที่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น

ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงที่ร่างกายของแม่ท้องอ่อนแอมากที่สุด ไหนจะอาการแพ้ท้อง เหม็นกลิ่น ทานอาหารไม่ได้ เวียนศีรษะอยู่เกือบตลอดวัน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการแท้งได้ง่าย หากมีอะไรมากระทบกับแม่ท้อง  ทั้งนี้หากแม่มีอาการเครียดก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น มีงานวิจัยระบุว่า คนท้องที่เครียดสะสมจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดที่เรียกว่า*ทารกตายคลอดถึง 80%  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า แม่ท้องที่มีระดับความเครียดสูงจะส่งผลให้ลูกมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ อาจคลอดก่อนกำหนด และยังมีความเสี่ยงต่อโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ในภายหลังคลอดอีกด้วย

*ทารกตายคลอด (stillbirth) หมายถึง ทารกเมื่อคลอดแล้วไม่มีอาการแสดงของการมีชีวิต ได้แก่ ไม่มีการหายใจเอง ไม่มีการเต้นของหัวใจ และไม่มีการเคลื่อนไหว อาจรวมถึงทารกที่คลอดออกมาถึงตายทันทีด้วย แบ่งเป็น 1. Fetal death in utero  ตายก่อนเจ็บครรภ์คลอด 2. Intrapartum fetal death  ตายในระยะคลอด[1]

อ่านต่อ >> อารมณ์ของแม่ มีผลต่อลูกในท้องอย่างไร? หน้า 2

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อารมณ์ของแม่ มีผลต่อลูกในท้องอย่างไร?

เชื่อว่าคนท้องที่เคยมีประสบการณ์ในการอุ้มท้องมาแล้ว จะทราบกันดีว่าอารมณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์มีผลถึงลูกในท้อง เพราะลูกจะรับรู้ทุกความรู้สึกของแม่จากอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ของแม่ที่เกิดขึ้นมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่ง และมาจากความเครียดของแม่ที่เกิดขณะตั้งครรภ์

ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย[2] ได้บอกถึงผลจากความเครียดของแม่ไว้ว่า ในแม่ท้องที่มีความเครียดไม่มาก มีการปรับตัวได้ในช่วงตั้งครรภ์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อครรภ์  ทั้งนี้หากในแม่ท้องที่มีความเครียดอยู่ในระดับสูงแน่นอนว่าจะส่งผลเสียทั้งต่อตัวแม่ท้องเอง และต่อตัวของทารกในครรภ์ด้วยอย่างมาก

เราลองมาดูกันว่าเมื่อแม่ท้องเครียด จะมีผลเสียอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งจะแบ่ความเครียดออกเป็น 2 ระยะนั่นคือ เครียดระยะสั้น กับ เครียดระยะยาว

แม่ท้องเครียด ในระยะสั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ จะมีอาการเหนื่อย นอนหลับได้ไม่ค่อยดี มีอาการเบื่ออาหาร มีภาวะปวดหลัง ปวดศีรษะ และถึงแม้จะฟังดูเป็นอาการเครียดเพียงแค่ช่วงสั้นๆ แต่ก็สามารถทำให้ภูมิต้านทานโรคของแม่ท้องต่ำลงได้  และอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงขึ้นได้

แม่ท้องเครียด ในระยะยาว ผลกระทบมีผลต่อสุขภาพของแม่ท้องอย่างแน่นอน แต่ที่มากไปกว่านั้นความเครียดที่มีมากขึ้น และถูกสะสมไปตลอดช่วงการตั้งครรภ์ ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ คือสุขภาพที่แย่ในภายหลังจากคลอดมาแล้ว ที่ สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น

แม่จ๋าอย่าเครียดเลย เพราะถ้าแม่ยิ่งเครียดก็ยิ่งจะทำให้สารเคมีความเครียดหลั่งออกมา ซึ่งเจ้าสารเคมีเครียดนี้จะไปทำให้ เลือดที่ถูกส่งไปให้มดลูก รกเกิดการหดตัว ผลเสียคือจะไปทำให้ออกซิเจนที่ต้องส่งไปให้ทารกนั้นมีปริมาณที่น้อยลง และ แม่จ๋ารู้ไหมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกในท้อง คือ ลูกจะมีพัฒนาการการเติบโตช้า และที่ร้ายแรงสุดคือ เกิดการแท้งลูกขึ้น

Good to know… อาการเบื้องต้นที่บอกให้แม่ท้องรู้ว่าตัวเองกำลังเกิดภาวะเครียด นั่นคือ มีอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ มีความกังวลต่อการตั้งครรภ์ กังวลและกลัวต่อช่วงเวาของการคลอดลูก ฯลฯ

อ่านต่อ >> วิธีลดความเครียดให้แม่ท้อง หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

แม่ท้องเครียด มาช่วยลดความเครียดให้แม่ท้องกันดีกว่า

ความเครียดไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ และลูกในท้องก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นเมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะปล่อยตัวเองให้เครียดไปทำไปกัน คุณแม่ท้องต้องพาตัวเองให้ออกห่างจากความเครียดกันตั้งแต่ตอนนี้เลยค่ะ เพื่อที่จะได้สร้างตลอด 9 เดือนนี้ให้เป็นการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ และนี่คือวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่ท้องลดเครียดได้หากทำตามที่ชมรมจิตแพทย์เด็กวัยรุ่นแห่งประเทศไทย[3] มีคำแนะนำดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และครบ 3 มื้อ
  2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. ลดการทำงานลง
  5. การพูดคุยหรือระบายความในใจหรือความเครียดกับสามี เพื่อนฝูงที่สนิทสนม หรือกับคุณพ่อคุณแม่
  6. ทำกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งที่คุณชอบ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที
  7. ออกไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพักผ่อน
  8. นั่งสมาธิ
  9. ฝึกโยคะสำหรับสตรีตั้งครรภ์
  10. ฝึกจินตนาการ แต่เรื่องที่ดีหรือทำให้เรามี
  11. หาความรู้ถึงอาการที่พบบ่อยระหว่างการตั้งครรภ์และวิธีการแก้ไข
  12. หลีกเลี่ยงการพึ่งสารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือยาระงับประสาท
  13. หาโอกาสอบรมการตั้งครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดและการดูแลบุตรหลังคลอด[3]

 

ผู้เขียนเองมีทั้งญาติ และเพื่อนที่ต้องสูญเสียลูกไประหว่างตั้งครรภ์ ที่ส่วนหนึ่งทราบจากแพทย์ว่ามาจากความเครียดของแม่บวกกับสุขภาพที่ไม่แข็งแรงตอนท้อง ดังนั้นจึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนที่กำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ หรือคนที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ขอให้ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ห่างไกลจากความเครียด เพื่อที่ให้การตั้งครรภ์นั้นสมบูรณ์ และลูกในท้องก็มีพัฒนาการการเติบโตที่เป็นไปตามพัฒนาการครรภ์ทั้ง 9 เดือน และเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ได้เป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ตรวจ ลด ภาวะเสี่ยง แม่ท้องวัย 35
โรคตับในแม่ท้อง ภาวะอันตราย ทำให้ครรภ์เสี่ยงสูง
แม่ท้อง ทำสีผม ดัดผม ได้ไหม ?

 


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
1ทารกตายในครรภ์. www.med.cmu.ac.th
2,3สภาพจิตใจของมารดาต่อทารกในครรภ์. ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย. www.rcpsycht.org
www.newhealthadvisor.com