AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์! ลูกหกล้ม ที่โรงเรียนสุดท้ายเป็นแบบนี้?!!

คุณแม่ถึงกับควันออกหู! หลังจากที่ ลูกหกล้ม แต่ครูกลับบอก “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย” สุดท้ายลูกต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา

 

 

คุณแม่เล่าว่า เรื่องเกิดขึ้นที่โรงเรียนเมื่อวานนี้ช่วงเวลาประมาณบ่ายสองโมง ตอนแรกคุณแม่ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย เพราะลูกชายวัย 10 ปีของคุณแม่กลับบ้านโดยอาศัยรถโรงเรียนมาส่ง ต่างฝ่ายต่างทักทายกันตามปกติ และในขณะที่คุณแม่กำลังเตรียมอาหารเย็นอยู่ ก็ได้ยินเสียงคุณยายตะโกนขึ้นมาว่า “แม่! เห็นข้อมือลูกมั้ย?” คุณแม่จึงรีบวางทุกอย่างรีบออกมาดูลูก จนพบว่าข้อมือข้างซ้ายของลูกชายบวม เขียวผิดปกติ!
คุณยายเล่าว่า ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่สงสัยว่าทำไมถึงไม่ยกมือไหว้เลยถาม ปรากฎว่าหลานชายไม่สามารถยกแขนข้างดังกล่าวขึ้นได้เลยขอดู จึงพบว่าแขนของหลานชายนั้นบวม
ด้วยความเป็นห่วง คุณแม่จึงถามลูกชายว่า เกิดอะไรขึ้น ไปทะเลาะอะไรกับใครหรือเปล่า แต่ลูกชายปฏิเสธว่า ไม่ได้ทะเลาะอะไรกับใคร เพียงแต่เล่นกันตามปกติในห้องประชุมในวิชาพลศึกษา แต่ด้วยความที่คุณครูผู้สอนวิชาพลศึกษานั้นติดภารกิจของทางโรงเรียนจึงไม่สามารถมาสอนได้ เลยมอบหมายให้คุณครูวิชาคณิตศาสตร์มาสอนแทน และคุณครูก็ปล่อยให้เล่นกันไป จนลูกชายพลาดเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม โดยเอาแขนข้างซ้ายนั้นรองรับน้ำหนักตัวของตัวเอง
หลังเกิดเหตุไม่นาน ลูกชายก็เริ่มรู้สึกเจ็บ จึงไปบอกคุณครูท่านดังกล่าว กลับกลายเป็นคุณครูบอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย แต่ก็ไม่ได้ขอดูข้อมือหรือพูดอะไร ลูกชายก็เลยนั่งทนเจ็บไป จนเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นหัวหน้าห้องมาสังเกตเห็น จึงเข้ามาถาม และพาไปพบคุณครูท่านเดิมอีกครั้งนึง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ลูกชายปวดแขนมาก แต่ก็เช่นเคย คุณครูก็ไม่ได้แสดงท่าทีหรือพาลูกไปพบคุณครูพยาบาลแต่อย่างใด จนกระทั่งกลับมาถึงบ้าน
อ่านต่อเรื่องราวของคุณแม่แชร์ประสบการณ์ได้ที่นี่!
ภายหลังจากที่ทราบเรื่อง คุณแม่รีบพาลูกชายไปหาคุณหมอโดยทันที พอคุณหมอเห็นจึงรีบให้ทำการเอ็กซเรย์ ซึ่งผลที่ออกมาทำให้คุณแม่ถึงกับตกใจ เพราะคุณหมอแจ้งว่า “ลูกชายกระดูกข้อมือร้าว” ต้องทำการเข้าเฝือกอ่อนถึง 3 สัปดาห์ แต่ก่อนที่จะทำการเข้าเฝือกนั้น คุณหมอบอกว่า “ต้องทำการดัดแขนน้องก่อน และก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็เสร็จ” ว่าแล้วคุณหมอก็จับข้อมือของน้อง และบิด 2 – 3 ครั้ง!! แล้วใส่เฝือกต่อ พร้อมกับบอกว่า หากพบว่ามีอาการคัน หรือแสบร้อนอะไร ให้รีบกลับมาโรงพยาบาลทันที
คุณแม่เล่าว่า ช่วงเวลาไม่กี่นาทีที่คุณหมอทำการบิดข้อมือลูกชายนั้น มันดูยาวนานเสียเหลือเกิน แต่ลูกชายกลับไม่ร้องไห้มีน้ำตาให้คุณแม่เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว กลับเป็นคุณแม่นี่แหละ ที่ร้องไห้เจ็บปวดแทน
พอเสร็จจากเรื่องคุณแม่จึงได้นำเรื่องนี้บอกเล่าให้คุณครูประจำชั้นฟัง ผลปรากฎว่า คุณครูไม่ทราบเรื่องอะไร คุณครูวิชาคณิตศาสตร์ที่มาดูแลแทนนั้น ไม่ได้แจ้งเลยว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกชายนั้น คุณแแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนไหนอีก จึงแจ้งให้คุณครูประจำชั้นได้ทราบเรื่องพร้อมกับหามาตรการการป้องกันดังกล่าว พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า หากเพียงคุณครูท่านดังกล่าว เอะใจ และสังเกตดูแขนลูกสักนิดนึงลูกชาย ก็คงไม่ต้องทนเจ็บนาน 7 – 8 ชั่วโมงแบบนี้ อีกทั้งคุณครู ควรที่จะแจ้งให้กับคุณครูประจำชั้นได้ทราบ เพื่อที่คุณครูประจำชั้นจะได้ดูแลเด็กด้วยการพาเด็กไปห้องพยาบาล รวมทั้งโทรศัพท์แจ้งไปยังผู้ปกครองของเด็กได้ทราบ
สุดท้ายนี้ สิ่งที่คุณแม่อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็คือ อย่าคิดว่า การหกล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ไม่มีเลือดไหนออกมานั้นไม่น่ากลัว เพราะการที่เลือดไม่ไหลออกมานั้น น่ากลัวยิ่งว่า เพราะอาจทำให้เกิดเลือดคั่งอยู่ด้านใน หรือกระดูกร้าวอย่างลูกชายของคุณแม่เป็นต้น

อ่านวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ที่หน้าถัดไป

 

 

ทำอย่างไรเมื่อ ลูกหกล้ม ?

เค้าว่ากันว่า คนล้มอย่าข้าม! เช่นเดียวกันค่ะ หากพบว่ามีลูกหลายหรือคนเฒ่าคนแก่ล้มนั้น ยิ่งอย่ามองข้ามใหญ่ อย่าเพียงแต่คิดว่า ไม่มีเลือดออกไม่เป็นอะไรหรอก เพราะบางที การที่ไม่มีเลือดออกไหลออกมาให้เห็นนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมา อาจจะทำให้เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก

กระดูกร้าวคืออะไร

กระดูกร้าวคือ กระดูกหักประเภทหนึ่ง ที่การแตกของกระดูกเกิดขึ้นเพียงบางส่วนของกระดูกเท่านั้น ไม่ได้หักหรือแตกครบตลอดความกว้างของกระดูก ดังนั้น กระดูกที่หักจึงยังคงยึดติดกันอยู่ไม่แยกเป็น 2 ท่อน แต่ผู้ป่วยก็ยังจะมีอาการเหมือนกระดูกหักทั่วไป เพียงแต่กระดูกชิ้นที่หักอาจไม่มีการผิดรูปร่าง
สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกร้าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้เกิดกระดูกหัก เช่น การลื่นล้ม หรือการตกจากที่สูง เป็นต้น
วิธีการรักษา คือ การใส่เฝือก แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ใส่เฝือกไม่ได้ หรือใส่เฝือกไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดใส่เหล็กดามแทน
กล่าวโดยทั่วไปถึงระยะเวลาของกระดูกร้าว กระดูกจะสามารถกลับมาติดและใช้งานได้ช้าหรือเร็วนั้น จะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกหลานลื่นล้ม ให้รีบปฐมพยาบาลด้วยวิธีการ ดังนี้
  1. พักการใช้งานของอวัยวะนั้น
  2. หาน้ำแข็งมาประคบครั้งละ 20-30 นาทีในทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
  3. หาผ้ายืดมาพันไว้ แต่อย่าพันแน่นหรือหลวมจนเกินไป
  4. ยกบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นสูงเหนือระดับหัวใจ หากมือบวม ก็ต้องฝืนยกแขนให้สูงเอาไว้ เช่นเดียวกับนักฟุตบอล เวลาที่เขาลื่นล้ม ก็จะนอนเอาหมอนหนุนเท้าให้สูงขึ้นเช่นกัน
  5. หากปวด ให้ทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล หรือ Ibuprofen ลดปวดไปก่อน
หากไม่รู้ว่ากระดูกร้าวหรือหักหรือไม่ รวมถึงเอ็นได้รับบาดเจ็บหรือขาดหรือเปล่า ต้องพยายามอย่าให้ผู้ป่วยขยับ ด้วยการหาอะไรมาดามเอาไว้ แล้วเอาผ้าพัน และรีบนำตัวไปพบแพทย์ทันที

ที่มา: คุณแม่ยุ้ย หาหมอ และ คุยกับหมอพิณ ประชาชาติธุรกิจ

อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids