จากวิธีแก้เผ็ด ลูกติดมือถือ ของคุณแม่ท่านหนึ่งที่ได้ออกมาโพสต์ จนถูกแชร์ต่อกันบนโลกโซเชียล หลายคนเห็นด้วย แต่แท้จริงแล้วการแก้ปัญหาลูกติดมือถือ เป็นเรื่องที่ถูกหรือไม่? แล้วมีผลเสียอย่างไรบ้าง? Amarin Baby & Kids มีคำตอบมาฝากค่ะ
ซึ่งเรื่องนี้มาจากคุณแม่คนหนึ่งได้เผยวิธีแก้ปัญหา ลูกติดมือถือ โดยใช้ภาพหญิงสาวแต่งหน้าเป็นผีมาตั้งเป็น วอลเปเปอร์บนโทรศัพท์ และเมื่อลูกมาหยิบมือถือก็จะเห็นภาพน่ากลัวนี้ ทำให้ร้องไห้ตกใจกลัว ไม่กล้าจับอีกเลย จนเกิดกระแสแชร์ต่อทั่วโลกออนไลน์นั้น!
ไขข้อสงสัย! แก้ ลูกติดมือถือ ด้วยภาพผี ทำถูกแล้วหรือ?
ทางเพจดังอย่าง เพจ Drama-addict ได้ออกมาเตือนกรณีนี้ถึงผลกระทบที่ลูกน้อยของคุณจะได้รับ เพราะการแก้ปัญหาลูกติดมือถือ ด้วยวิธีนี้อาจทำให้ลูกเกิดความกลัวฝังในจิตใจ แล้วอาจมีโฟเบีย หรือความกลัวแปลกๆ ตอนโตได้ ระบุรายละเอียดดังนี้
“เห็นมีแม่เอาภาพนี้มาลงในกลุ่มเลี้ยงลูก ประมาณว่า ลูกยังเล็กแต่ติดมือถือ เลยเอาภาพผีน่ากลัวๆมาใส่ภาพล๊อคสกรีน ลูกจะได้กลัวแล้วไม่กล้าเล่นมือถือ คือการที่คุณแม่กังวลไม่อยากให้ลูกติดมือถือเป็นเรื่องดี แต่วิธีการที่ใช้ต้องระวังหน่อย เพราะการหลอกเด็กเล็กให้กลัวผีอะไรทำนองนี้ไม่เป็นผลดีกับพัฒนาการของเด็กเลย
อย่างแรก พอหลอกเด็กด้วยของแบบนี้ เด็กจะเกิดความกลัวฝังในจิตใจ แล้วอาจมีโฟเบีย หรือความกลัวผิดปรกติแปลกๆตอนโตได้ และการปลูกฝังความกลัวให้เด็กนี้อาจมีผลต่อพัฒนาการในบางด้าน ทำให้เด็กมีพัฒนาการถดถอย เช่น ทำให้กลายเป็นเด็กไม่กล้าแสดงออก กลัวที่มืด เด็กเกิดความเครียด มีผลต่อบุคลิคภาพทำให้เป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง อารมณ์ไม่มั่นคง บลาๆ
จิตแพทย์เด็กเขาเคยออกมาเตือนเรื่องนี้กันหลายหนแล้ว เอาเป็นว่าถ้าแม่กังวลไม่อยากให้ลูกเล่นมือถือตั้งรหัสไว้หนาๆหน่อย หรือใช้วิธีปลดล๊อคด้วยลายนิ้วมือ แค่นี้ก็จบครับ”
เห็นมีแม่เอาภาพนี้มาลงในกลุ่มเลี้ยงลูก ประมาณว่า ลูกยังเล็กแต่ติดมือถือ เลยเอาภาพผีน่ากลัวๆมาใส่ภาพล๊อคสกรีนแม่งเลย ลูกจ…
โพสต์โดย Drama-addict บน 17 มกราคม 2018
อ่านต่อ >> “ผลเสียจากการขู่ลูกด้วยสิ่งน่ากลัว” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จากวิธีแก้ ลูกติดมือถือ ด้วยภาพผี สำหรับเรื่องการขู่ลูกให้กลัวนี้ ข้อดีของการขู่ คือ เมื่อเด็กกลัว เด็กก็จะหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นๆ และยอมทำตามแต่โดยดี ผู้ใหญ่จึงติดใจ ใช้วิธีนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ทราบไหมคะว่าการขู่นั้นมีผลกระทบต่อเด็กๆ อย่างไร
“ขู่” หมายถึง ทำให้เกรงกลัวเมื่อเราพูดเด็กจะรู้สึกกลัวสิ่งที่เรานำมาขู่ ซึ่งถ้าโดนเรื่อยๆ ก็จะกลัวมากขึ้น มากขึ้น จนอาจส่งผลให้บางคนอยู่คนเดียวตอนกลางคืนไม่ได้ (เพราะกลัวผีมาเอาไป) กลัวสัตว์เลื้อยคลานแบบเอาเป็นเอาตาย แค่เห็นก็อาจตื่นตระหนกจนคุมตัวเองไม่อยู่ (เพราะกลัวมันมากินตับ)
หรือคุณแม่บางคนชอบขู่ว่าจะพาไปให้หมอฉีดยา เด็กจะติดใจกลัวหมออย่างมาก เมื่อไม่สบายต้องไปหาหมอ เด็กก็จะไม่ยอมเข้าห้องตรวจ ไม่ร่วมมือในการรักษา (เพราะกลัวหมอฉีดยา…แหะๆ อันนี้แม้แต่จิตแพทย์ก็เจอบ่อยค่ะ แม้ว่าในความจริง จิตแพทย์ไม่เคยฉีดยาเด็กๆ แต่เด็กก็จะกลัวจนคุยกันไม่ได้เลยก็มี)
เมื่อเด็กกลัวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตตามที่หมอเล่าข้างต้น ผู้ใหญ่ที่เป็นคนขู่เองก็จะเดือดร้อนไปด้วย บางคนก็ดุด่าเด็กซ้ำว่า “กลัวอะไรไม่เป็นเรื่อง”ซึ่งลืมไปหรือเปล่าว่าความกลัวของเด็กนี้มาจากใครกันที่สื่อให้เขารู้สึกกลัว
เรื่องโดย : พญ. พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”
หมอเผย! แก้ปัญหา ลูกติดมือถือ ผิดวิธี!
ส่งผลเสียต่อพัฒนาการ
โดยเรื่องนี้คุณหมอจากโรงพยาบาลสมิติเวช ได้ออกมาเผยถึง วิธีแก้เผ็ด ลูกติดมือถือ ที่แชร์ต่อกันบนโลกโซเชียลว่าถูกหรือไม่? แล้วมีผลเสียอย่างไรบ้าง? ดังคลิปด้านล่างนี้ ⇓
จาก #วิธีแก้เผ็ดลูกติดมือถือ ที่แชร์ต่อกันบนโลกโซเชียลถูกหรือไม่? แล้วมีผลเสียอย่างไรบ้าง?แค่ไหนจึงเรียกว่าติดมือถือ?คุณพ่อ คุณแม่ สามารถป้องกันไม่ให้ลูกติดมือถือได้อย่างไร?ค้นหาคำตอบได้ใน คุยรอบโรคกับหมอสมิติเวช ได้เลยค่ะ#SamitivejHospital #โรงพยาบาลสมิติเวช
โพสต์โดย Samitivej Club บน 20 มกราคม 2018
เปลี่ยนวิธีขู่เป็นให้แรงเสริม “ชม” “ให้รางวัล”
แม้วิธี “ ขู่ลูกให้กลัว ” จะทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ใหญ่ไม่เหนื่อย แต่ไม่เป็นผลดีในระยะยาว จะดีกว่าไหมถ้าเด็กๆ ของเราเลือกทำสิ่งที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเขาเอง มาจากการควบคุมตัวเองเป็นและรู้จักรับผิดชอบพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งเป็นวินัยที่จะติดตัวเขาไปจนโต
เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ แสดงความชื่นชม เมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่ดี น่าชมเชย และเมื่อถูกตักเตือน ก็ต้องรีบใช้โอกาสนี้ สอนสิ่งที่ถูกที่ควรว่า ลูกควรแสดงออกอย่างไร เมื่อเขาเข้าใจการกระทำของตนเอง และเปลี่ยนแปลงเพราะได้รับคำชม เขาก็จะกลายเป็นเด็กที่รู้อะไรควรไม่ควร
อ่านต่อ >> “วิธีแก้ปัญหาลูกติดมือถือใน 7 วัน” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่หลายคนคงหนักใจไม่น้อยที่เห็น ลูกติดมือถือ และแท็บเล็ต ซึ่งหลายครอบครัวคงตั้งใจเอาไว้ก่อนที่จะมีเจ้าตัวน้อย ว่าถ้ามีลูกจะไม่ยอมให้ลูกเล่นมือถือ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลตเป็นอันขาด ยิ่งเวลาที่เห็นพ่อแม่คนอื่นๆ ให้ลูกเล่นก็มักจะคิดในใจว่า “ไม่รู้หรือไงว่ามันไม่ดี”
แต่เมื่อพบเจอกับตัวเองจึงได้รู้ว่า… อุปกรณ์เหล่านี้ค่อยๆ ซึมซับไปกับลูกทีละเล็ก ทีละน้อย เริ่มจากการที่คุณพ่อ คุณแม่เปิดเพลงสอนภาษาอังกฤษให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกอยู่นิ่งๆ จะได้เลี้ยงง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่ก็จะเห็นดีเห็นงามไปกับอุปกรณ์เหล่านี้ไปด้วย คิดว่าคงไม่แย่เพราะลูกได้เรียนรู้ จดจำคำศัพท์ได้หลายคำ หลังจากนั้นเวลาในการใช้ก็เริ่มนานขึ้น นานขึ้น จาก 5-10 นาที กลายเป็นชั่วโมง และเริ่มบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นดูก่อนนอนทุกคืน
วิธีแก้ปัญหา ลูกติดมือถือ ใน 7 วัน
หลังจากนั้นก็เริ่มสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกอย่างจริงจัง ลูกเริ่มดูไม่จบคลิป ดูสักพักก็เริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ยอมให้เปลี่ยนก็จะเริ่มโวยวาย เป็นสัญญาณของโรคสมาธิสั้น เมื่อเห็นมือถือหรือแท็บเลตที่ไหน ก็จะรบเร้าขอดูตลอด เป็นสัญญาณว่าเริ่มติดอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว และยังมีนิสัยใจร้อนเพิ่มเข้ามาอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงเริ่มกังวลใจ และหาวิธีแก้ไขแบบเร่งด่วน ดังนี้
วันที่ 1
วันแรกเริ่มจากการเก็บอุปกรณ์มือถือ และแท็บเล็ต ออกไปให้พ้นหูพ้นตาลูกๆ ปิดเครื่องได้จะยิ่งดี คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องไม่ใช้ด้วย ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ถ้าลูกร้องอยากขอดูมือถือ แท็บเล็ต ก็ชักจูงให้ลูกไปทำอย่างอื่น เช่น เล่นน้ำ ให้อาหารปลา เล่นกับสุนัข เก็บก้อนหิน รดน้ำต้นไม้ ดูนก อ่านนิทาน เป็นต้น คุณพ่อ คุณแม่ต้องอดทน เพราะลูกจะขอเล่นมือถือบ่อยๆ บางครั้งอาจจะทุกๆ 15 นาที คุณพ่อ คุณแม่อาจจะต้องทำตัวเป็นมือถือแทน เช่น ลูกติดเพลงที่ฟังทุกคืนในมือถือ คุณพ่อ คุณแม่ก็ต้องร้องเพลงนี้แทนการใช้มือถือจริงๆ ใจความสำคัญหลักคือ ความอดทน ใจเย็นๆ อย่าหงุดหงิด อย่าดุลูก พยายามทำให้ลูกสนุก
วันที่ 2 – 4
เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ผ่านวันแรกมาได้แล้ว วันต่อๆ มาก็จะง่ายขึ้น แต่ลูกอาจจะเริ่มเบื่อดูนก ดูปลา อาจหาตัวช่วย เช่นซื้อหนังสือเล่มใหม่ให้ลูก ในเรื่องที่ลูกสนใจ เช่นลูกสนใจสัตว์ต่างๆ ก็ซื้อหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ให้ลูก เลือกหนังสือที่มีภาพ และสีสันดึงดูดใจ หลายๆ หน้า ลูกจะได้เปิดอ่านจนหลับ แทนมือถือ และแท็บเล็ต ต้องใช้ความอดทน เพราะตอนแรกๆ ลูกอาจจะไม่สนใจ ลองเปิดหนังสือ ชี้ให้ลูกดูภาพ ทำเสียงสนุกๆ ตื่นเต้นประกอบภาพจะยิ่งทำให้สนุกตื่นเต้น
วันที่ 5 – 6
เมื่อลูกสงบลง มีสมาธิมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เล่นสิ่งของรอบตัวมากขึ้น เริ่มไม่ถามหามือถือ และแท็บเล็ต คุณพ่อ คุณแม่ลองวางมือถือ และแท็บเล็ตเอาไว้ให้ลูกเห็น พอลูกเดินมาจะหยิบ ก็พูดด้วยเสียงที่นุ่มนวลปกติกับลูกว่า “อย่าหยิบนะลูก วางมันลง” อย่าเสียงดัง แรกๆ ลูกอาจไม่วางทันที ลองใช้วิธีเอามือไปจับมือลูกออก แล้วชมลูกว่า “ดีมากจ้ะ” ทำแบบนี้ประมาณ 2 – 3 ครั้ง ลูกจะรู้ว่าควรทำอย่างไรด้วยตัวเอง และเขาจะเตือนตัวเขาเองว่า “ไม่ ไม่” แล้วเดินจากไปแทน
วันที่ 7
เมื่อลูกไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับมือถือ และแท็บเล็ตอีกต่อไป เห็นใครใช้ก็ไม่เข้าไปขอดู พ่อแม่ก็ควรใช้ไม่ให้ลูกเห็น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก นอกจากนี้ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือ และมีสมาธิมากขึ้น เรียนรู้คำศัพท์ได้เร็ว สังเกตได้จากถ้าเราเปิดคลิปจากมือถือ 20-30 ครั้ง ลูกจะจำคำศัพท์ได้เพียง 2-3 คำ แต่เมื่อคุณพ่อ คุณแม่พูดเอง หรือเปิดหนังสือให้ลูกอ่าน ลูกจะจำคำศัพท์ได้รวดเร็วกว่ามาก
สำหรับปัญหา ลูกติดมือถือ นี่เป็นเพียงแนวทางในการแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หาวิธีมาเบี่ยงเบนความสนใจลูกจากมือถือและแท็บเล็ต วิธีเหล่านี้อาจจะไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของเด็กแต่ละคน คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความยับยั้งชั่งใจว่า เมื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว จะให้ลูกใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ต่อหรือไม่ อะไรที่ง่ายสำหรับเราย่อมไม่เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับลูกแน่นอน เด็กได้ความรู้และพัฒนาสมองได้จากสิ่งรอบตัวมากกว่าการนั่งดูมือถือ และแท็บเล็ตเสียอีก
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- หมอชี้! เด็ก 4 ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือไม่ใช่เรื่องดี เสี่ยงออทิสติกเทียม
- กุมารแพทย์แนะ“งด” เลี้ยงลูกด้วยมือถือ และจอทุกชนิดในเด็ก 2 ขวบปีแรก
- แม่เตือน! ลูกเล่นมือถือ มากเกินไปส่งผลต่อพัฒนาการ
- พ่อแชร์มาตรการเจ๋ง! รักษา ลูกติดแท็บเล็ต จนหาย
เครดิต: pantip.com