แม่แชร์! หากวันนั้นไม่ได้คุณยายช่วยไว้ ลูกชายวัย 3 ปี คงถูก งูกัด ไปแล้ว!!
คุณแม่แนน หนึ่งในสมาชิกของเพจ Amarin Baby and Kids ได้ส่งเรื่องราวที่เพิ่งจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวเองกับทีมงานว่า หากในวันนี้ไม่ได้คุณยายช่วยลูกชายวัย 3 ขวบแล้วละก็ ลูกชายคงจะต้องเจ็บตัวไปแล้ว
โดยคุณแม่เล่าว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกิดในขณะที่ลูกชายของตัวเองกำลังยืนอยู่ตรงประตูบ้านและคุณยายกำลังจะป้อนข้าว ก็สังเกตเห็นบางอย่างกำลังเคลื่อนไหวอยู่ที่พุ่มไม้ คุณยายจึงรีบเดินไปดู พอเห็นเป็นงูกำลังเลื้อยเข้าไปหาหลานจึงได้รีบวิ่งเข้าไป ซึ่งเป็นเวลาที่งูกำลังจะฉกหลานชายพอดี!!
ทำให้คุณยายถูก งูฉกเอาที่มือ คุณแม่จึงรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่างูที่กัดนั้นเป็นงูอะไร และมีพิษหรือไม่ เพราะฉะนั้นคุณหมอจึงต้องให้ยายนอนสังเกตอาการตลอด 24 ชั่วโมง โดยคุณหมอก็ให้ตรวจเลือดทุก ๆ 6 ชั่วโมง เพื่อตรวจวัดผล อาการของคุณยายตอนนี้มือบวมมาก (จากที่เห็นในรูปนั้น คุณแม่เล่าว่า นี่ยุบลงไปเยอะมาก ๆ แล้ว)
คุณหมอบอกว่า หน้าฝนนี้เป็นหน้าที่งูและตะขาบชุมมาก ไม่ใช่แค่โรคทางเดินหายใจเท่านั้นที่พวกเราทุกคนต้องระวัง เจ้าอสูรพิษร้ายที่ชอบมากับฤดูฝนนี่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านไหนที่มีลูกเด็กเล็กแดง คุณหมอกล่าวต่ออีกว่าสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ มีคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาตัวเพราะถูก งูกัด เยอะมาก คุณแม่จึงอยากนำเรื่องราวนี้มาแชร์ และเตือนทุก ๆ ครอบครัวได้โปรดระวัง เพราะถ้าวันนี้ไม่ได้คุณยายช่วยชีวิตลูกชายไว้ คุณแม่ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน
อ่านต่อวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ที่หน้าถัดไป!
เครดิต: ขอบคุณคุณแม่แนน สมาชิกเพจ Amarin Baby and Kids
คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า ช่วงไหนที่พบว่ามีผู้ป่วยถูกงูกัดเยอะที่สุด? คำตอบก็คือ ช่วงหน้าฝน นับไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงพฤศจิกายน จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกงูกะปะกัดมากเป็นอันดับหนึ่งในภาคใต้ รองลองมาคือ งูเขียวหางไหม้และงูเห่าในภาคกลาง
งูที่มีพิษมีทั้งสิ้น 2 ประเภท และแบ่งตามลักษณะของพิษงู ดังนี้
- พิษต่อระบบประสาท ตัวอย่างเช่น งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม และงูทะเล สำหรับกลุ่มนี้ที่พบบ่อยคือ “งูเห่า” โดยจะทำให้ผู้ถูกกัดมีอาการได้ ภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ ตาพร่ามัว หนังตาตก พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้เอง หายใจไม่สะดวก และอาจจะหยุดหายใจ จนทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
2. พิษต่อโลหิต ตัวอย่างเช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ และงูกะปะ ที่พบมากโดยเฉพาะในเขตตัวเมือง คือ “งูเขียวหางไหม้” เมื่อถูกกัดได้รับพิษปริมาณน้อย จะมีอาการปวดหรือบวมบริเวณที่ถูกกัดเท่านั้น แต่ถ้าได้รับพิษปริมาณมาก
จะทำให้เลือดออกไม่หยุดตามที่ต่าง ๆ ในรายที่อาการรุนแรงมาก จะไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด และปัสสาวะเป็น
เลือดได้
เนื่องจากพิษงูประกอบด้วยโปรตีนและเอนไซม์ หลายชนิดและล้วนมีผลต่อบริเวณที่ถูกกัดและทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อาการจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น
อ่านต่อได้ที่หน้าถัดไปเลยค่ะ
อาการเมื่อถูกงูมีพิษกัด
- บริเวณที่ถูกกัด จะมีรอยเขี้ยว 2 เขี้ยว ปวด บวม ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน มีเลือดออกบริเวณที่ถูกกัด หรืออักเสบ (บวม แดง ร้อน) เป็นบริเวณกว้าง อาจมีบวมและเนื้อตายบริเวณนั้น สีของผิวอาจเปลี่ยนไปจากสีปกติ เช่น คล้ำลง หรือมีผิวหนังพองเป็นถุงน้ำ เป็นต้น
- ต่อร่างกาย ทั้งนี้อาการที่จะเกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของพิษงูค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- งูพิษที่มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการมองเห็นภาพซ้อน ตามองเห็นไม่ชัด หนังตาตก ซึ่งมักจะเกิดภายใน 1 ชั่วโมงจนถึง 10 ชั่วโมงหลังจากได้รับพิษงู จากนั้นจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน พูดไม่ชัด กลืนลำบาก หายใจลำบาก
- งูพิษที่มีผลต่อระบบเลือด มีอาการเลือดออกผิดปกติได้แก่ เลือดออกจากแผลต่างๆรวมทั้งแผลงูกัด ตามไรฟัน ตามผิวหนัง ใต้ชั้นผิวหนัง ในกล้ามเนื้อ ในทางเดินอาหาร ใน ทางเดินปัสสาวะ เลือดออกจากรอยเข็มเจาะเลือด
- งูพิษที่มีผลทำให้เกิดไตวายจะปัสสาวะไม่ออก มีความดันโลหิตสูง บวม มีสารเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ อาจมีอาการหอบเหนื่อย
นอกจากนี้อาจมีอาการทั่วไปอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น มีไข้ หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน ท้องเสีย หรืออาการแพ้พิษงูเช่น บวม แดง ขึ้นผื่นคันอาจทั้งตัว เป็นต้น
ทำอย่างไรเมื่อถูกงูกัด
วิธีปฐมพยาบาลคนถูกงูกัด
- รีบดูให้แน่ใจว่างูที่กัดเป็นงูอะไร พยายามจดจำ สี รูปร่าง ลักษณะศีรษะ ถ้าเป็นไปได้ ควรนำเอาตัวงู มาให้แพทย์
ดูด้วย เพราะจะได้ทำการรักษาให้ตรงกับชนิดของงู แต่ถ้าไม่สามารถทำได้จริง ๆ ก็ไม่เป็นไรค่ะ อย่าเสียเวลา เพราะยิ่งนานพิษร้ายก็อาจเข้าสู่ร่างกายได้ - ใช้เชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกกัดเล็กน้อย ไม่ควรรัดแน่น เนื่องจากจะทำให้เนื้อบริเวณนั้นขาดเลือด และในบางส่วน เช่น นิ้ว ไม่ควรรัดบริเวณนิ้ว แต่ควรรัดบริเวณส่วนข้อมือ หรือข้อเท้าแทน ทั้งนี้ควรมีการคลายที่รัดไว้เดิมทุก ๆ 15 นาที
- ควรให้บริเวณที่ถูกกัด มีการขยับน้อยที่สุด
- ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือล้างแผล ไม่ควรใส่ยาสมุนไพร เพราะจะทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น
- ไม่ควรให้ดื่มสุรา หรือยาที่มีสุราเจือปนโดยเด็ดขาด
- อย่าใช้ปากดูด หรือกรีดแผล หรือรีดแผล รวมถึงการใช้ไฟฟ้าจี้ เนื่องจากจะทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
- รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ควรรักษาเอง หรือทานยาเอง
- ระหว่างที่นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลนั้น คอยสังเกตอาการที่ผิดปกติ เพื่อจะได้บอกแพทย์ได้อย่างถูกต้อง
วิธีป้องกันก็คือ ควรเก็บบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตัดหญ้า ตัดต้นไม้บ้าง และในเวลาพลบค่ำ ไม่ควรที่จะเดินไปยังบริเวณที่รกรุงรัง เมื่อเจองู ควรหลีกทันที ถ้ากระชั้นชิด ควรยืนนิ่ง ๆ แล้วถอยออกมา มาช้า ๆ เพราะงูจะไม่ทำร้ายคนก่อนแต่จะกัดเพื่อป้องกันตัว
เครดิต: หาหมอ และ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
อ่านต่อเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
- Kid Safety วิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบเด็กกินยาเกินขนาด
- โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย อีกโรคที่นำไปสู่การเสียชีวิตในเด็ก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่