รู้ไหมว่า? ปัจจุบันโรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทย ในสตรีนอกจากโรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว โรค มะเร็งรังไข่ สาวๆ ก็ควรพึงระวังด้วย
มะเร็งรังไข่ เป็น เซลล์เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในรังไข่ของเพศหญิง เป็นมะเร็งที่พบได้มากของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ทั้งนี้ยังพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ เป็นหนึ่งในโรคที่คุกคามชีวิตและสุขภาพร่างกายของผู้หญิงอย่างร้ายแรง โดยโรคมะเร็งรังไข่จะพบมากเป็นอันดับ 6 ของโรคมะเร็งในสตรี และมีโอกาสเกิดโรคประมาณ 100,000 คนต่อปี โดยจะพบมากในช่วงอายุ 40-60 ปี แต่ในเด็กวัยก่อนหรือหลังวัย 10 ปีก็อาจจะพบได้เช่นกัน
มะเร็งรังไข่ ภัยเงียบที่ผู้หญิงต้องระวัง
รังไข่ คือ อวัยวะเพศอย่างหนึ่งของผู้หญิง มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ มีขนาดทั่วไปประมาณ 2-3 เซนติเมตร จะอยู่ข้างปีกมดลูกทั้งสองข้าง หน้าที่หลัก ๆ คือ ผลิตไข่สำหรับผสมกับเชื้อของเพศชายจนกลายเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ในโพรงมดลูก อีกหน้าที่สำคัญคือผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ทั้งนี้สามารถจำแนกชนิดของมะเร็งรังไข่ตามตำแหน่งเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งได้ 3 กลุ่ม คือ
1. Epithelial Tumors : มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ จุดเริ่มต้นที่เซลล์เยื่อบุผิวรังไข่และช่องท้อง เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่
2. Germ Cell Tumors: มะเร็งฟองไข่ จุดเริ่มต้นของก้อนเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ต้นกำเนิด พบได้ร้อยละ 5-10 ของมะเร็งรังไข่ มักพบในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี
3. Sex Cord-Stromal Tumors: มะเร็งเนื้อรังไข่ จุดเริ่มต้นที่เนื้อเยื่อเกี่ยวกันของรังไข่ ซึ่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิง โอกาสพบน้อยมาก
ทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นยังสามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของร่างกายที่เรียกว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะแพร่กระจายได้ด้วย
Must read : พัฒนาการของทารกในครรภ์ ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งเกิด (มีคลิป)
โรคมะเร็งรังไข่มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และในแต่ละระยะยังแบ่งย่อยได้อีก เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นข้อบ่งชี้ทางการรักษาและในการศึกษาวิจัย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ 4 ระยะหลักได้แก่
- ระยะที่ 1 โรคมะเร็งลุกลามอยู่แต่เฉพาะในรังไข่อาจข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง
- ระยะที่ 2 โรคมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะอื่นๆ ในท้องน้อยเช่น มดลูกและ/หรือเยื่อบุช่องท้องในส่วนช่องท้องน้อย
- ระยะที่ 3 โรคมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะในช่องท้องเช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง และ/หรือเยื่อบุช่องท้องส่วนเหนือช่องท้องน้อย และ/หรือมีน้ำในช่องท้อง
- ระยะที่ 4 มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต (เลือด) ไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักเข้าสู่ปอด ตับ และสมอง
อ่านต่อ >> “สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♣ โรคมะเร็งรังไข่ มีสาเหตุจากอะไร ?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่ชัด แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงคือ
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งรังไข่ (โดยเฉพาะในญาติสายตรง) โรคมะเร็งเต้านม และ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อายุ: มักพบโรคในอายุ 50 ปีขึ้นไปดังกล่าวแล้ว
- อ้วน: พบโรคในคนอ้วนสูงกว่าในคนผอม
- การตั้งครรภ์: พบโรคในคนไม่เคยตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ 1 – 2 ครรภ์ สูงกว่าคนตั้งครรภ์มากกว่านี้ และพบได้สูงกว่าในคนตั้งครรภ์ครั้งแรกอายุมากกว่า 30 ปี
- ประจำเดือน: พบโรคได้สูงกว่าในคนมีประจำเดือนเร็วคืออายุต่ำกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้าคือช้ากว่าอายุ 55 ปี
- เมื่อเคยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ข้างหนึ่งมาแล้ว โรคมะเร็งเต้านมและ/หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อาจจากใช้ยากระตุ้นการตกไข่ ในการกระตุ้นให้เกิดการตั้งครรภ์เช่น ในภาวะมีบุตรยาก
- อาจจากใช้ยาฮอร์โมนเพศชดเชยในช่วงวัยหมดประจำเดือน
◊ สาเหตุการเกิดโรค
ปัจจุบันข้อมูลทางการแพทย์ยังไม่มีการระบุที่แน่ชัด แต่สาเหตุเสริมที่มีผลทำให้เกิดโรคได้คือ
1.สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร และพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมมีผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม
2.สตรีผู้ที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย
3.ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก และระบบทางเดินอาหาร จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนปกติ
4.พันธุกรรม โดยเฉพาะคนที่มีญาติสายตรงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ต้องระวัง
อ่านต่อ >> “สัญญาณเตือนโรค “มะเร็งรังไข่” และวิธีการป้องกันรักษา” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สัญญาณเตือนโรค “มะเร็งรังไข่”
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ จะมีอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดจากความผิดปกติในระบบอื่น ๆ โดยคุณผู้หญิงสามารถสำรวจอาการตัวเอง ได้จากสัญญาณเตือน ต่อไปนี้
1. มีอาการท้องอืดอยู่ตลอดเวลา
2. มีก้อนในช่องท้อง เชิงกราน จึงอาจทำให้เกิดอาการแน่นหรือปวดท้อง
3. ก้อนเนื้ออาจกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้รู้สึกปวดถ่วงถ่ายอุจจาระไม่สะดวกหรือลำบาก
4. เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยและขัด
5. เมื่อเซลล์มะเร็งมีการกระจายไปในช่องท้อง อาจทำให้เกิดน้ำในช่องท้องซึ่งจะทำให้ดูเหมือนอ้วนขึ้นได้ ท้องโตขึ้นกว่าเดิม
6. เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักลด
7. อาจมีประจำเดือนผิดปกติ บางรายอาจพบการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนที่ผิดปกติไป
8. ในบางรายอาจไม่มีการแสดงอาการเลย
หลังจากที่ได้อ่านกันแล้ว คุณแม่ๆ รวมทั้งคุณผู้หญิงที่ยังไม่มีลูก ควรเช็คอย่างเร่งด่วนว่าร่างกายของคุณมีอาการคล้ายคลึงกับอาการเตือนตามด้านบนหรือไม่ ถ้ามีแล้วละก็แนะนำรีบไปพบแพทย์ด่วนเพื่อตรวจเช็คอาการ เพราะคุณอาจกำลังจะเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้
การวินิจฉัยและตรวจหาโรค
1.การตรวจภายในอาจคลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือนหากคลำพบก้อนรังไข่ให้สงสัยไว้ก่อน เพราะปกติวัยหมดประจำเดือนรังไข่จะฝ่อ
2.การทำแพพสเมียร์จากในช่องคลอด ส่วนบนทางด้านหลัง อาจพบเซลล์มะเร็งของรังไข่ได้
3.การตรวจด้วย เครื่องความถี่สูงอาจช่วยบอกได้ว่ามีก้อนในท้อง ในรายที่อ้วนหรือหน้าท้อง หนามาก คลำด้วยมือตามปกติตรวจไม่พบ
4.การผ่าตัดเปิดช่องท้อง วิธีนี้เป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด สามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจชนิดของมะเร็ง และทราบถึงระยะของโรคด้วย
√ การรักษา
โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นวิธีแรกทำการรักษา แพทย์จะตัดออกให้ได้มากที่สุด ต่อมาจะรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด
♥ การป้องกัน
เนื่องจากว่าโรคนี้ไม่ค่อยแสดงอาการ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอวิธีที่ดีที่สุดคือ รับการตรวจภายในหรือตรวจด้วยคลื่นความ ถี่สูง โดยแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ฝากถึงผู้หญิงทุกคนว่าโรคมะเร็งหากตรวจพบไว สามารถรักษาให้หายขาดได้ และอย่าละเลยใส่ใจสุขภาพ ควรตรวจร่างกาย ตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรักนะคะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- สัญญาณเตือนโรคมะเร็งในเด็กที่พ่อแม่ควรรู้
- 10 สัญญาณเตือน มะเร็งปากมดลูก
- 19 สัญญาณเตือนโรคมะเร็ง ที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ nci.go.th,โรงพยาบาลพญาไท phyathai.com , www.thaijobsgov.com , healthfood.muslimthaipost.com , haamor.com