AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สังเวยอีก 1 ชีวิต เด็กนอนคว่ำ ลูกวัย 3 เดือนหยุดหายใจคาเตียง

การฝึกให้ทารกนอนคว่ำนั้น ควรฝึกในช่วงเวลาที่ลูกตื่นอยู่เท่านั้น

เด็กนอนคว่ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดอันดับต้น ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของทารกยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะยกหัวขึ้นมา หากมีสิ่งใดมาปิดกั้นทางเดินหายใจ

สังเวยอีก 1 ชีวิต เด็กนอนคว่ำ ลูกวัย 3 เดือนหยุดหายใจคาเตียง

เด็กทารกแรกเกิดทุกคน มักจะมีอาการสะดุ้งหรือตกใจขณะนอนหลับ รวมทั้งการตื่นบ่อย ๆ เมื่อไม่มีแม่อยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่หลาย ๆ คนมักจะให้ลูกนอนคว่ำเพื่อให้ลูกได้นอนหลับสบายและหลับสนิทมากขึ้น แต่การนอนคว่ำนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคไหลตาย หรือการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก นั่นเอง ดังเช่นข่าวการเสียชีวิตของทารกวัย 3 เดือน จากการนอนคว่ำนี้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 มี.ค. 62 ศูนย์วิทยุกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งเหตุทารกน้อยวัย 3 เดือน ไม่หายใจ เหตุเกิดที่บ้านหลังหนึ่ง ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จึงเดินทางไปพร้อมกับหน่วยกู้ชีพลั่นทม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

เมื่อไปถึงพี่เลี้ยงเด็ก ได้รีบนำเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย นำตัวส่งโรงพยาบาลโดยทันที ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ทำการ CPR เด็กทารกไปด้วย ก่อนจะประสานหน่วยกู้ชีพ ให้ทำการถ่ายเทเด็กทารกให้กันระหว่างทาง และทำการ CPR ต่อไปจนถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เพื่อให้แพทย์ทำการช่วยเหลือ ก่อนที่แพทย์จะแจ้งเมื่อเวลา 12.30 น. ว่าเด็กทารกได้เสียชีวิตลงแล้ว

สาเหตุหลักของโรคไหลตายในทารกนั้นคือ การนอนคว่ำ

ด้าน นายณัฐวุฒิ ปักษี และนางสาวกัลยา ยมมณี พ่อและแม่ของเด็กทารกที่เสียชีวิต เปิดเผยด้วยน้ำตานองหน้าว่า ตามปกติจะฝากน้องให้พี่เลี้ยงดูแลในทุก ๆ เช้า ก่อนที่ตนเองทั้งสองคนจะออกไปทำงาน โดยทำอย่างนี้มานานกว่าสองเดือนแล้ว ไม่เคยมีปัญหาอะไร ส่วนสาเหตุการณ์เสียชีวิต แพทย์สันนิษฐานคาดว่าเด็กน่าจะนอนคว่ำหน้า แล้วเสียชีวิต โดยน้องมีเสมหะเยอะด้วย โดยก่อนที่เสียชีวิตน้องนอนก็คว่ำหน้า ซึ่งปกติน้องก็นอนคว่ำหน้าอยู่แล้ว พอถึงเวลากินนม พี่เลี้ยงก็ปลุกให้กินนม แต่พบว่าไม่หายใจ จึงรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ ให้มาช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งตนเองก็ไม่ได้ติดใจการเสียชีวิตในครั้งนี้

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : https://www.thairath.co.th/content/1514408

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ ป้าหมอแนะ การนอนหลับที่ปลอดภัยสำหรับทารก เด็กนอนคว่ำ อันตรายแค่ไหน?

การนอนหลับที่ปลอดภัยสำหรับทารก

เด็กทารกแรกเกิด ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ที่เมื่อได้นอนเตียงนอนนุ่ม ๆ มีตุ๊กตาหรือหมอนเยอะ ๆ ได้นอนในห้องที่อากาศเย็น ๆ หรือมีพื้นที่ให้ดิ้นไปมาเยอะ ๆ แล้วจะหลับสบาย การนอนหลับที่ดีและปลอดภัยสำหรับทารกนั้น แตกต่างออกไปจากผู้ใหญ่และเด็กโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากสรีระทางร่างกายยังไม่แข็งแรงเพียงพอ ดังนั้นทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงขอนำคำแนะนำจาก ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ มาฝากกันค่ะ

ทุกครั้งที่ลูกนอนหลับ ไม่ว่าจะมีคุณแม่หลับอยู่ข้าง ๆ หรือไม่ก็ตาม ควรให้ลูกนอนในท่านอนหงาย

เด็กนอนคว่ำ มีข้อดีอย่างไร อันตรายแค่ไหน?

การให้ เด็กนอนคว่ำ สามารถทำได้เมื่อลูกตื่นอยู่ และมีพ่อแม่คอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ เท่านั้น โดยการฝึกลูกนอนคว่ำนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อหลังส่วนบน เพราะเมื่อเราจับลูกนอนคว่ำขณะที่ลูกกำลังตื่นอยู่ ลูกจะพยายามชันคอขึ้นจากพื้น (ในกรณีที่ลูกไม่ยอมชันคอ แนะนำให้หาของเล่นที่มีเสียงหรือของที่ลูกสนใจมาวางไว้ในจุดที่ลูกมองเห็น แล้วค่อย ๆ ยกของเล่นชิ้นนั้นให้สูงขึ้น เพื่อให้ลูกมองตาม) การฝึกแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการการเกิดโรคไหลตายหรือ SIDS ได้ เพราะลูกจะสามารถหันคอหนีไปจากสิ่งที่ขัดขวางทางเดินหายใจได้ และเมื่อลูกมีกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงมากพอ จะทำให้ลูกพลิกคว่ำได้เร็ว นำไปสู่การนั่งเองได้ และ การคลานเป็นอันดับต่อไป นั่นเอง โดยการฝึกลูกนอนคว่ำนั้น สามารถฝึกได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือหลังจากสะดือหลุดแล้วก็ได้ค่ะ แนะนำให้ฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละประมาณ 5-10 นาที

ข้อควรระวังคือ : ห้ามจัดลูกนอนหลับในท่านอนคว่ำเด็ดขาด เพราะแม้จะเป็นการทำเพียงครั้งแรก หรือ ครั้งเดียว ก็เคยมี SIDS เกิดขึ้นมาแล้ว ตำแหน่งที่วางลูกควรเป็นพื้นราบอยู่ที่ต่ำ เพื่อป้องกันการตกจากที่สูง

สำหรับข้อดีอื่น ๆ สำหรับ เด็กนอนคว่ำ คือ ทำให้ศีรษะทุย ไม่แบนราบเหมือนท่านอนหงาย แต่เมื่อนำมาเทียบกับอันตรายจากการนอนหลับในท่าคว่ำแล้ว การที่ลูกศีรษะแบน แต่ไม่ตกอยู่ในอันตรายจากโรคไหลตาย น่าจะดีกว่าการนอนคว่ำนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ท่านอนของทารก ท่าไหนปลอดภัย ท่าไหนอันตราย?

ไอเดียสุดเจ๋ง ถุงมือแทนมือแม่แก้ ลูกติดมือ นอนหลับยาก

แม่อยากรู้ ลูกนอนหนุนหมอน ได้เมื่อไร?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids