AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

3 โรคที่แม่ป่วย ต้องระวัง อยู่กับลูกอย่างไรไม่ให้ลูกติดเชื้อ

แม่ลูกอ่อนเป็นหวัด ต้องระวัง… เพราะวัยทารกเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคของลูกน้อยยังไม่สมบูรณ์ เด็กเล็กจึงติดเชื้อโรคติดต่อต่างๆ ได้ง่าย ซ้ำอาการยังอาจรุนแรงกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีภูมิต้านทานมากกว่า

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จึงมักหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ลูกจะได้รับเชื้อโรค เช่น ไม่พาไปในที่ชุมชนที่มีผู้คนแออัด หรือไม่อยู่ใกล้ผู้ที่กำลังไม่สบาย แต่ถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เช่น คุณย่าคุณยาย หรือพี่เลี้ยง เกิดเจ็บป่วยและเป็นตัวนำเชื้อโรคเสียเอง จะสามารถเลี้ยงเด็กได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถหาผู้ช่วยมาดูแลเด็กแทนได้

แม่ลูกอ่อนเป็นหวัด ป่วย ต้องระวัง!
เชื้อโรคติดต่อทางไหน = ป้องกันทางนั้น

อันดับแรก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลจะต้องรู้ว่า โรคที่เรากำลังเป็นอยู่สามารถติดต่อได้ทางไหนบ้าง เมื่อทราบแล้วจะได้หาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายต่อไปสู่ลูกน้อย

1. โรคระบบทางเดินหายใจ

โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด คัดจมูก ไอ จาม หรือไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่คนทั่วไปป่วยบ่อยที่สุดและติดต่อได้ง่ายที่สุด เชื้อโรคสามารถติดต่อผ่านลมหายใจที่หายใจรดกัน หรือปนเปื้อนออกมาจากสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ, น้ำมูก,น้ำลาย, และน้ำตา ทารกจึงติดเชื้อได้ง่ายและเป็นได้บ่อย เมื่อติดเชื้อแล้วก็อาจลุกลามจากหวัด กลายเป็นหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือปอดอักเสบได้

วิธีป้องกันลูกน้อยจากอาการป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

ทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ แยกผู้ป่วยออกจากเด็กเล็ก ไม่ให้อยู่ในห้องเดียวกัน เนื่องจากเวลาที่ผู้ป่วยไอหรือจามนั้น สารคัดหลั่งต่างๆ จะกระจายออกไปได้ไกลกว่าที่คิด แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถแยกห้องกับทารกได้เพราะไม่มีใครช่วยดูแลเด็กแทน ตัวผู้ป่วยก็ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้หายใจรดเด็ก รวมถึงป้องกันน้ำมูกน้ำลายที่อาจกระจายออกมาเมื่อไอหรือจาม

√ การเลือกหน้ากากอนามัย สามารถเลือกซื้อแบบที่มีขายทั่วไปได้ หากคิดว่าบางเกินไปก็อาจใส่ทับ 2 ชั้น แต่ไม่จำเป็นต้องเลือกหน้ากากอนามัยชนิดหน้าพิเศษที่ใช้ป้องกันโรคติดต่อชนิดรุนแรง เพราะหน้ากากชนิดนั้นจะทำให้หายใจลำบากและเหนื่อยง่าย

นอกจากการใส่หน้ากากอนามัยแล้ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลควรระวังรักษาสุขอนามัยให้ดี ล้างมือให้สะอาดก่อนจะจับหรือสัมผัสตัวเด็ก แยกภาชนะสำหรับกินอาหาร ช้อนส้อม จานชาม และแก้วน้ำ รวมถึงผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว ไม่ใช้ร่วมกัน ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันเชื้อโรคติดต่อสู่ทารกได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ควรจัดสภาพแวดล้อมให้ห้องเลี้ยงเด็กให้ระบายอากาศได้ดี เป็นที่ที่มีลมผ่านและมีแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดเป็นตัวฆ่าเชื้อโรคที่ได้ผลดี โดยเฉพาะเชื้อโรคประเภทเชื้อไวรัส บ้านเรามีแสงแดดตลอดวันตลอดปีอยู่แล้ว เป็นแหล่งฆ่าเชื้อที่ไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าเป็นไปได้ควรเลี่ยงการอยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะเชื้อโรคจะวนเวียนอยู่ภายใน

อ่านต่อ >> “โรคแม่ป่วยต้องระวัง (โรคระบบทางเดินอาหาร) อยู่กับลูกอย่างไรไม่ให้ลูกติดเชื้อ” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

2. โรคระบบทางเดินอาหาร

โรคติดต่อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียหรืออาเจียน หากเกิดจากการติดเชื้อก็มักเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้โดยเชื้อโรคจะปนเปื้อนอยู่ในอาเจียนหรืออุจจาระของผู้ป่วย

โรคติดต่อในระบบทางเดินอาหารส่วนใหญ่ หากดูแลสุขอนามัยและรักษาความสะอาด คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลก็สามารถเลี้ยงทารกได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องดูแลสุขลักษณะของตัวเองให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังปัสสาวะ, อุจจาระ หรืออาเจียน หากเสื้อผ้าที่สวมอยู่ปนเปื้อนก็ควรรีบเปลี่ยนและแยกซักไม่ปะปนกับเสื้อผ้าของลูก

บทความแนะนำให้อ่านคุณพ่อเสียชีวิต เพราะใช้หลอดดูดร่วมกับคนอื่น
บทความแนะนำให้อ่านลูกติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะแม่ล้างมือไม่สะอาด

การเช็ดทำความสะอาดของเล่น/ของใช้ลูกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค จำเป็นหรือไม่?

สำหรับของใช้ของลูก ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องล้างให้สะอาด และควรปล่อยให้แห้งก่อนนำมาใช้ใหม่ เพราะเมื่อล้างน้ำแล้วยังมีหยดน้ำเกาะอยู่ เชื้อโรคอาจขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้ ถ้าปล่อยให้แห้ง โอกาสที่เชื้อโรคจะหยุดแพร่พันธุ์ก็มีมากกว่า

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

3. โรคติดต่อทางผิวหนัง

โรคติดต่อทางผิวหนัง เช่น อีสุกอีใส มักแสดงอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ ก่อนที่ผื่นจะออก ระยะนี้เชื้อโรคสามารถติดต่อผ่านทางลมหายใจที่หายใจหรือไอจามรดกันได้ เมื่อผื่นขึ้นเชื้อก็จะติดต่อได้อีกทางหนึ่งคือ ผ่านน้ำเหลืองที่ออกมาจากผื่นแผล

บทความแนะนำให้อ่านอีสุกอีใส รักษาได้ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ภายใน 3 วัน

สำหรับโรคชนิดนี้ ถ้าผื่นขึ้นและแน่ใจว่าเป็นอีสุกอีใส ผู้ป่วยก็ไม่ควรอุ้มหรือสัมผัสตัวทารก ต้องรีบหาผู้ช่วยมาดูแลเด็กแทนและแยกห้องทันที และควรรอจนกระทั่งผื่นทุกจุดแห้งเป็นสะเก็ดทั้งตัว เชื้อโรคจึงจะไม่ติดต่อ เพราะหากยังมีผิวหนังส่วนที่แฉะน้ำเหลือง เชื้อโรคก็ยังสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้อีก

การแพร่กระจายของโรคเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่า จะอยู่ใกล้หรือไกลได้แค่ไหน เด็กจึงจะไม่ติดเชื้อจากผู้ป่วย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ คนป่วยต้องแยกจากทารกให้ห่างที่สุด เพราะบางครั้งแม้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลจะไม่ได้อุ้มหรือสัมผัสโดยตรง แต่ไปสัมผัสของใช้, ที่นอน หรือสัมผัสตัวผู้ช่วยที่มาดูเด็กแทน ก็อาจพาเชื้อโรคไปสู่ทารกได้เช่นกัน

อ่านต่อ >> “วิธีการปฏิบัติตัวเทื่อพ่อแม่ป่วย เพื่อไม่ให้ลูกติดเชื้อ” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เมื่อพ่อแม่/ผู้ดูแลป่วย ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

อันดับแรก ควรไปพบแพทย์ และรีบรักษาอาการเจ็บป่วยให้หาย ยิ่งถ้ามีอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่รู้ว่าเป็นเชื้อโรคอะไร ก็ควรให้คุณหมอช่วยตรวจวินิจฉัย เพื่อหาวิธีป้องกันการแพร่เชื้อ รวมถึงได้รับยาที่ถูกกับโรค สมมุติว่า ในร่างกายผู้ป่วยมีเชื้อโรคอยู่ 100 ตัว ถ้าไปหาหมอ รู้ว่าเป็นเชื้อโรคชนิดไหน ได้ยาที่ถูกต้อง ฆ่าเชื้อโรคได้สัก 50 ตัว หรือทำให้เชื้อทั้ง 100 ตัวมีความรุนแรงน้อยลง โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อก็น้อยลงไปด้วย

กรณีที่เจ็บป่วยโดยไม่ใช่โรคติดต่อ เช่น ปวดท้องด้วยโรคกระเพาะอาหาร หรือท้องเสียเพราะอาหารเป็นพิษ ไม่ติดต่อถึงทารก แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลเด็กเล็ก ก็ควรกะระยะเวลาพักผ่อนให้ดี เมื่อเด็กหลับ ผู้ดูแลต้องหลับด้วย ร่างกายจะได้พักฟื้นและสามารถดูแลเด็กได้เมื่อเด็กตื่น รวมถึงทำให้หายป่วยได้เร็ว

สิ่งสำคัญอีกประการคือ คุณแม่หรือผู้ดูแลควรหมั่นประเมินอาการของตัวเองเป็นระยะ โดยเฉพาะถ้าต้องอยู่เพียงลำพังกับเด็ก เมื่อรู้สึกว่าอาจดูแลเด็กไม่ไหว ควรรีบเรียกกำลังเสริมมาช่วยรับมือแทน ควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่สามารถหาคนในครอบครัวมาช่วยได้ก็อาจต้องโทรหาสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือให้ทันท่วงที

อาการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกน้อยป่วยไปด้วยได้ ด้วยการดูแลสุขอนามัย จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคก็จะช่วยป้องกันทารกจากการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง

แม่ให้นมกับการกินยา

ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป เช่น พาราเซตามอลหรือยาลดน้ำมูกจะขับออกมาทางน้ำนมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 มีเพียงยาเฉพาะโรคบางชนิดเท่านั้นที่อาจส่งผลโดยตรงต่อเด็ก เช่น ยาที่มีผลต่อจิตประสาท หรือยาต้านมะเร็ง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรควรกินยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากจำเป็นต้องกินยา ก็ควรกินยาตามใบสั่งแพทย์ หรือซื้อยาจากเภสัชกร โดยไม่ลืมแจ้งแก่เภสัชกรว่า กำลังให้นมลูกอยู่

ถ้าคุณแม่ให้นมต้องกินยาแล้วรู้สึกกังวล แนะนำให้กินยาหลังจากที่เพิ่งให้นมลูกเสร็จ ก่อนนมมื้อถัดไปของลูก ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้ฤทธิ์ยาหมดไปจากร่างกายแล้ว

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!