ลูกป่วยบ่อย …เพราะในยุคสมัยนี้ ตัวเชื้อโรค เริ่มมีวิวัฒนาการที่สูง สามารถทนกับสภาพแวดล้อมบ้านเราได้ดี จึงเพาะเชื้อที่มีความแข็งแรงและหลากหลายมากมาย มาเพื่อความอยู่รอดของตัวมันเอง ทำให้เมื่อเข้าสู่ร่างของคนเรา ยิ่งเฉพาะลูกน้อย เด็กตัวเล็กที่ภูมิต้านทานน้อยด้วยแล้วล่ะก็ยิ่งง่ายเลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยป่วยบ่อยนั่นเอง
ลูกป่วยบ่อย ระวัง 7 โรค แม้เป็นแล้ว ก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก
เมื่อลูกป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่มักจะกังวลใจจนแทบจะป่วยไปกับลูก หรือ บางคนมีอาการหนักมากกว่าลูกเสียอีก เพราะไม่ทราบว่าควรจะดูแลลูกอย่างไรเมื่อมีอาการป่วยเกิดขึ้น ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่พบได้บ่อย และมักเป็นๆ หายๆ หรือ เป็นแล้วหาย ก็กลับมาเป็นหนักได้อีก
ทั้งนี้ที่ ลูกป่วยบ่อย เพราะระบบภูมิคุ้มกันภูมิต้านทานยังไม่เพียงพอ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกัน คือระบบที่คอยปกป้องร่างกายของลูกน้อยจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจเข้ามาทำอันตรายร่างกายเราได้ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต พยาธิ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายยังไม่รู้จัก เรียกว่าแอนติเจน (antigen)1
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวังและดูแลลูกเป็น 2 เท่าเพื่อไม่ให้ลูกกลับมาป่วยอีก จนต้องเสียเงินไปกับค่ารักษาอาการป่วยของลูกอย่างเดียว มาดูกันค่ะว่ามีโรคอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลก่อนที่จะบานปลาย หรือมีโรคร้ายประเภทไหนที่ต้องวางแผนเพื่อรับมืออย่างมีสติกันบ้าง ไปดูกันค่ะ
♦ โรคไข้หวัด
โรคหวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการหวัดมีมากมายหลายชนิด ที่พบบ่อยๆได้แก่พวก Rhinovirus, Adenovirus, Influenza, Parainfluenza virus, Coxachie virus ฯลฯ ทำให้เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 4-6 ขวบเป็นหวัดได้บ่อยเนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานดีพอที่จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้ บางคนเป็นบ่อยมากแทบจะทุกเดือนเลย ความจริงแล้วการเป็นหวัดบ่อยๆ นั้น นอกจากจะเนื่องจากภูมิต้านทานของเด็กไม่ค่อยจะดีแล้ว ก็อาจเนื่องจากการได้รับเชื้อบ่อยๆ โดยเฉพาะถ้าหากเราพาลูกไปเที่ยวที่มีคนเยอะๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าสวนสนุก โรงภาพยนตร์ พอหลังจากไปเที่ยวสัก 1-2 วัน ลูกก็อาจจะมีอาการหวัดได้ ดังนั้นทางที่ดีไม่ควรพาลูกที่ยังเล็กอยู่ไปเที่ยวที่มีคนมากเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกได้รับเชื้อบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นหวัดน้อยลง2
อาการโรคหวัด
มีน้ำมูก คัดจมูก ไอและมีไข้ ลูกยังอาจจะนอนและกินนมไม่ค่อยได้ด้วย (ถ้าคัดจมูก การดูดนมแม่หรือนมขวดก็จะกลายเป็นเรื่องยาก) ซึ่งหากเป็นแล้วก็สามารถเป็นได้อีกเรื่อยๆ เพราะเชื้อไข้หวัดมีมากนั่นเอง
การรักษาโรคหวัด
กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ถ้าเป็นลูกวัยแรกเกิด ให้พาไปพบแพทย์ทันที แต่ถ้าลูกวัยต่ำกว่า 6 เดือน อาการอาจจะรุนแรงจนทำให้เขากินนม หายใจหรือนอนไม่ค่อยได้ ต้องพาไปพบแพทย์เช่นกัน
ส่วนยาที่ใช้รักษาโรคหวัดโดยตรงนั้นยังไม่มี ที่มีใช้กันอยู่ในตอนนี้ก็เป็นเพียงยารักษาตามอาการเท่านั้น โดยจะช่วยทำให้น้ำมูกลดลง คนไข้โล่งจมูก รู้สึกสบายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นยารักษาหรือแก้หวัดโรคหวัดโดยตรง จึงควรให้ทานเมื่อเวลาต้องการบรรเทาอาการ ให้รู้สึกสบายขึ้นเท่านั้น
รวมไปถึงการใช้วิธีล้างจมูกให้ลูกหายใจสะดวก โดยใช้น้ำเกลือและลูกยางแดง และเปิดเครื่องทำความชื้น อากาศในห้องจะได้ไม่แห้งเกินไป แต่อย่าใช้วิธีปรับระดับหัวเตียงให้สูงขึ้นหรือให้ลูกนั่งหลับในคาร์ซีทเด็ดขาด เพราะเป็นวิธีที่อันตราย
♦ ไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever)
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ อาการของโรคนี้คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัด
อาการโรคไข้เลือดออก
มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่แตกต่างกันที่ ไข้จะสูงกว่ามาก โดยอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีหน้าแดง และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อค่อนข้างมากกว่า หากทำการทดสอบโดยการรัดต้นแขนด้วยสายรัด จะพบจุดเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ
ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มักพบว่า มีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยการพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากการรักษาที่ล่าช้าได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสงสัยไว้ก่อนว่าบุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในฤดูฝนอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการรักษา
การรักษาไข้เลือดออก
ในส่วนของการรักษา แพทย์จะทำการประเมินอาการของผู้ป่วยบ่อยๆ และทำการตรวจเลือดแบบทั่วไป และดูค่าความเข้มของเม็ดเลือดแดง เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดสูงต่ำมากน้อยแค่ไหน รวมถึงตรวจดูความผิดปกติของระดับเอนไซม์ตับ คือ AST และ ALT ซึ่งจะช่วยบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคได้พอสมควร หากผู้ป่วยมีเม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น มีจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลงมาก (จากหลายแสนลดลงเหลือเพียงไม่กี่หมื่น) ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่ายหรือซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง นั่นอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ แพทย์จะทำการย้ายผู้ป่วยไปยังห้องไอซียูเพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมการให้เลือดหรือสารน้ำเกลือที่จำเป็นเพื่อรักษาอาการช็อกจากการเสียเลือดภายในร่างกายที่เกิดจากภาวะไข้เลือดออกให้ทัน จนกว่าผู้ป่วยจะหายจากภาวะช็อก ซึ่งมักใช้เวลาอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมงขึ้นไป3
สำหรับความเชื่อที่ว่าเด็กที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วจะไม่เป็นอีก แต่ความจริงแล้วไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ (DENV 1-4) แต่ละปีผลัดเปลี่ยนกันระบาดในความชุกที่แตกต่างกัน คนจึงมีโอกาสเป็นซ้ำได้ในช่วงชีวิตถึง 4 ครั้ง
อ่านต่อ >> “ระวังโรคที่ ลูกป่วยบ่อย แล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♦ คออักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ
ต่อมทอนซิล เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในลำคอ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายคล้ายกองทหารด่านหน้า แต่บ่อยครั้งที่เราจะสังเกตว่าสมาชิกตัวน้อยในบ้านบ่นเจ็บคอ สาเหตุเพราะการอักเสบภายในลำคอ และต่อมทอนซิลอักเสบซึ่งพบบ่อยในเด็กวัยเรียน สาเหตุเกิดจาก
- เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่การรักษาทำได้ไม่ยาก เพียงรับประทานยา รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ เจ้าหนูน้อยก็จะฟื้นตัวหายดีภายในระยะเวลาอันสั้น
- เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ผู้ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะหากได้รับการรักษาไม่ถูกวิธี รับประทานยาไม่ครบขนาด หรือใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อชนิดนี้ได้แม้อาการจะทุเลาลงแต่ก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้
อาการลูกน้อยถ้าทอนซิลอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
- ไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ บางรายอาจมีไข้สูงจนชักได้
- อ่อนเพลีย หรืออาจโยเย ร้องกวนไม่ยอมนอน
- เบื่ออาหาร
- คอหรือต่อมทอลซิลแดง บางรายอาจมีหนองร่วมด้วย อาจกลืนอาหารและน้ำลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- อาจอาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการท้องเดินร่วมด้วย
การรักษาอาการเจ็บคอ คออักเสบของลูกน้อย
เมื่อลูกติดเชื้อไม่สบาย สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำ นอกจากรีบรักษาอาการป่วยของลูกให้หายแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้
- เข้ารับการรักษาโรคตั้งแต่เกิดอาการเริ่มแรก ไม่ควรปล่อยให้อาการลุกลาม
- เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกรับประทานอย่างครบถ้วน งดอาหารที่จะทำให้อาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น เช่น อาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ไม่สะอาด ควรทานอาหารที่สุกใหม่
- กรณีที่ได้รับยาปฏิชีวนะ ต้องดูแลและเคร่งครัดในการให้ลูกรับประทานยาครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง
- ให้ลูกได้นอนหลับอย่างเพียงพอและออกกำลังกายให้พอเหมาะ
- ระมัดระวังเรื่องสภาวะแวดล้อม และหลีกเลี่ยงจากผู้ป่วยอื่นๆ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก
หากลูกมีไข้ เจ็บคอมาก ควรนึกถึงโรคคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบไว้ด้วยเสมอ และควรรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัดนะคะ4
♦ อีสุกอีใส (Chicken pox)
โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด โรคงูสวัด ติดต่อได้ด้วย การไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้เป็นโรค โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวตามลำดับ
อาการอีสุกอีใส
เนื่องจาก โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่หายเองได้ โดยมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการ กลุ่ม “ไรน์” (Reye’s syndrome) ได้ ทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาด กรณีที่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน ควรตัดเล็บให้สั้นและหลักเลี่ยง การแกะ หรือเกาตุ่ม ในรายที่มีอาการคันมาก อาจให้รับประทานยาช่วยลดอาการคันหรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือล้างแผลปิดบาดแผล
การรักษาอีสุกอีใส
ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส แต่ต้องใช้ขนาดสูงและแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรกที่มีอาการมิฉะนั้นอาจไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี
⇒ บทความแนะนำควรอ่าน : อีสุกอีใส รักษาได้ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ภายใน 3 วัน
โรคอีสุกอีใสเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก นั้นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโรคอีสุกอีใสที่เดิมเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 แต่ในปัจจุบันมีไวรัสโรคอีสุกอีใสสายพันธุ์ใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าเดิมด้วย ดังนั้น หากคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็กไปแล้ว เกิดตอนนี้ได้รับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ก็ยังสามารถกลับไปเป็นอีสุกอีใสได้อีกรอบ เพราะเป็นเชื้อไวรัสคนละตัวกันนั่นเอง และหากเป็นตอนโตยังอาจมีอาการหนักกว่าเด็ก ๆ ด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็มีแผลเป็นให้รำคาญใจอีกต่างหาก5
อ่านต่อ >> “ระวังโรคที่ลูกป่วยแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♦ โรคมือเท้าปาก (HFMD)
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ซึ่งโรคมือเท้าปากสามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ และสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่สัตว์หรือสัตว์สู่คน
ทั้งนี้ โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
เนื่องจากในปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่วๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกที่สุด จะต้องหมั่นสังเกตอาการ หากลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที6
♦ โรคท้องเสีย
ท้องเสียหรืออุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและการตายในเด็กทั่วโลก โดยปกติเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปีมีอัตราการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ย 3 ครั้งต่อปี ซึ่งตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก ท้องเสีย, ท้องร่วง, ท้องเดิน หรืออุจจารระร่วง หมายถึง
- การถ่ายอุจจาระเหลวปนน้ำหรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในหนึ่งวัน
- หรือถ่ายเป็นมูกเลือดแม้เพียง 1 ครั้ง
- หรือถ่ายเป็นน้ำปริมาณมากๆเพียงครั้งเดียวต่อวัน
ในทารกแรกเกิดที่กินนมแม่ จะถ่ายอุจจาระเนื้อนิ่มและวันละหลายครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นปกติ การที่จะวินิจฉัยท้องร่วงในทารกต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติ่มเช่น ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไปจากปกติ การมีไข้ร่วมด้วย ภาวะขาดน้ำในทารก เป็นต้น
อาการท้องเสียพบได้บ่อยที่สุดในวัยเด็กเล็กอายุ 4-6 เดือนขึ้นไป มักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค เนื่องจากเด็กในวัยนี้มักมีความสนใจหยิบจับสิ่งต่างๆ เข้าปากหรือชอบดูดนิ้วมือ คนรุ่นเก่ามักเรียกอาการท้องเสียในวัยนี้ว่าเป็นอาการ “ยืดตัว” เนื่องจากอาการท้องเสียมักเกิดในช่วงที่เด็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ (เช่น คืบ คลาน นั่ง เกาะยืน) พอดี
อาการท้องเสียในเด็ก
มีหลายสาเหตุ แต่เกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและจากสารพิษของแบคทีเรีย (Toxin) โดยสาเหตุหลักคือการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงเฉียบพลันมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัสโรต้า ซึ่งเป็นสาเหตุของอุจจาระร่วงเฉียบพลันในวัยเด็กที่มีอุบัติการณ์สูงถึง 50 % ของท้องเสียในเด็กทั้งหมด
ในปัจจุบันมีการรายงานถึงไวรัสชนิดอื่นที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้นเช่น เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus), โนโรไวรัส (Norovirus), แอสโตรไวรัส (Astrovirus), เนื่องจากมีการให้วัคซีนโรต้ามากขึ้น จึงทำให้พบการติดเชื้อโรต้าไวรัสลดลงกว่าแต่ก่อน7
การรักษาอาการท้องเสียในเด็ก
อาการท้องเสียส่วนใหญ่หายได้เองโดยอาจไม่ต้องได้รับการรักษาใดๆ อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาเบื้องต้นจะทำให้ผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น ลดโอกาสในการเกิดภาวะขาดน้ำที่รุนแรง และลดโอกาสในการต้องพบแพทย์หรือต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การดูแลรักษาเบื้องต้นประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารและดื่มนม การดื่มน้ำเกลือแร่ และการดูแลรักษาตามอาการที่พบร่วมด้วย
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคท้องเสียบางโรคเช่น จากโรต้าไวรัส ซึ่งวัคซีนป้องกันโรต้าไวรัสสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลลง 40% จากผู้ป่วยทั้งหมด จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้
อ่านต่อ >> “ระวังโรคที่ลูกป่วยแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♦ RSV
RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ เนื่องจากมักเกิดในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
อาการเมื่อลูกป่วยเป็น RSV
โดยเด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการเป็นแบบหวัด คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ-นมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วยซึ่งจะหายได้ใน 5-7วัน แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV คือ อาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึม ตัวเขียว กินข้าว น้ำ นมไม่ได้ ทางที่ดีถ้าเด็กมีไข้ 3 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์
ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้าหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย
การรักษาโรค RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ หรือพ่นยา และนอนพักผ่อนเยอะๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวช้าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้วหลอดลมและถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งใหม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไมโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม
เพราะเรื่องการเจ็บป่วยของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งการให้การดูแล เบื้องต้นอย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยให้ลูกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ แข็งแรง สุขภาพดี เป็นผู้ใหญ่ที่มี ประสิทธิภาพ และเป็นกำลังสำคัญของชาติสืบไป
ทั้งนี้ได้มีการเปิดสายด่วนเพื่อเปิดรับปรึกษาปัญหาสุขภาพลูกน้อยมาก่อนหน้านี้แล้ว จาก รพ.เด็ก 1415 เพื่อตอบโจทย์พ่อแม่ ถึงอาการป่วยไข้ของลูก ซึ่งก็จะช่วยลดการเดินทางและค่าใช้จ่าย ลดภาวะวิกฤตเด็กก่อนมาพบแพทย์ เช่น สายด่วนไข้เลือดออก สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ถึงกว่า 95% หมายเลข 1415 สายตรงโรงพยาบาลเด็ก ได้ทดลองเปิดบริการตั้งแต่ ธ.ค. 2556 มีผู้รับบริการเดือนละประมาณ 24,000 ครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน สะท้อนให้เห็นว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการ เป็นที่พึ่งของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพ และช่วยชีวิตเด็กในภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างดี ผอ.รพ.เด็ก กล่าว
นอกจากนี้ หมายเลข 1415 ยังเชื่อมต่อกับ 1515 ครอบครัวผูกพัน ที่เปิดบริการส่งข้อความที่เป็นประโยชน์ในการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 2 ปี ให้กับผู้สมัครรับ SMS ทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้ที่โทรมายังหมายเลข 1515 สามารถเลือกกด 0 เพื่อติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของโรงพยาบาลเด็กได้ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริการดูแลรักษาสุขภาพเด็กอย่างครบวงจร เพื่อมอบพัฒนาการที่ดีที่สุดให้กับเด็กไทย ซึ่งจะเป็นพลังที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- อาการผิดปกติของทารก ที่ต้องพบแพทย์
- อาการเจ็บป่วยของลูกน้อย ที่ไม่ควรมองข้าม
- 10 สิ่งที่กุมารแพทย์อยากบอกกับคุณแม่ของผู้ป่วยเด็กน้อย
1th.wikipedia.org , 2www.truelife.com , 3www.bumrungrad.com , 4www.si.mahidol.ac.th ,
5health.mthai.com ,6www.bumrungrad.com , 7haamor.com , www.manager.co.th