โรคงูสวัด เป็นโรคที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ รู้จักกันดี แต่ใครจะคิดล่ะคะว่าจะเกิดในเด็กเล็กและทารกได้ เรามาทำความรู้จักกับ โรคงูสวัดในเด็ก ที่มาที่ไปของโรคนี้พร้อมทั้งวิธีการป้องกัน กันดีกว่าค่ะ
เครดิตภาพจาก : haamor.com
โรคงูสวัดในเด็ก อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม!
โรคงูสวัด คืออะไร?
งูสวัด (Shingles) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือเรียกย่อว่า VZV/วีซีวี ไวรัส) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) หากเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อก็จะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้วจะยังคงมีเชื้อไวรัสชนิดนี้หลงเหลือซุกซ่อนอยู่ในปมประสาทต่างๆ โดยเฉพาะของลำตัว รอเวลาที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานลดลง เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด หรือมีโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น เชื้อไวรัสจึงเจริญเติบโตจนทำให้ปมประสาทอักเสบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้
สาเหตุของ โรคงูสวัดในเด็ก
โรคงูสวัดเป็นโรคติดต่อได้จากการสัมผัสผื่นหรือตุ่มพองของโรคงูสวัดหรือติดเชื้อโรคอีสุกอีใสจากผู้อื่น หากไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ผู้สัมผัสไม่เกิดเป็นงูสวัด แต่จะเกิดเป็นโรคอีสุกอีใส สำหรับโรคงูสวัดในทารก สาเหตุมักจากมาจากคุณแม่ที่เป็นอีสุกอีใสตอนตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทารกจะได้รับเชื้ออีสุกอีใสจากในท้อง โดยเชื้ออีสุกอีใสได้ไปหลบอยู่ในปมประสาทของทารก เมื่อร่างกายอ่อนแอลง อาการของโรคงูสวัดก็จะแสดงออกมาได้
สำหรับโรคอีสุกอีใสก็เป็นโรคติดต่อที่ติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วมาก เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยทั้งจากในอากาศ จากละอองการไอ จาม การหายใจ การสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสผื่นที่ผิวหนัง และ/หรือ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำของโรค รวมไปถึงการสัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆของผู้ป่วย
โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 10 – 21 วัน และผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วงประมาณ 5 วันก่อนขึ้นผื่น ยาวไปจนถึงเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว (การสัมผัสสะเก็ดแผลไม่ติดโรค) ดังนั้นระยะแพร่เชื้อในโรคอีสุกอีใสจึงนานได้ถึง 7 – 10 วันหรือนานกว่านี้ในผู้ใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้เป็นโรคติดต่อระบาดได้อย่างกว้างขวางถ้าไม่แยกผู้ป่วยให้ดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ โรคงูสวัดในเด็ก มีอาการอย่างไร?
โรคงูสวัดในเด็ก มีอาการอย่างไร?
- มีอาการคล้ายไข้หวัดนำก่อน ประมาณ 2 – 3 วัน อาจมีไข้(มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ) หรือไม่มีไข้ก็ได้
- อาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย และเจ็บ ในบริเวณติดเชื้อมาก (ยังไม่มีผื่นขึ้น) หลังจากนั้นจึงขึ้นผื่น
- ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน เป็นทางยาว และไม่กว้างมากนัก มักเป็นทางยาวตามแนว ประสาทของร่างกาย โดยมักเริ่มในแนวใกล้ๆ กลางลำตัวตามแนวปมประสาท เช่น ตามประสาทของลำตัว แขน ขา ตา และหู และมักเกิดเพียงด้านเดียว โดยทั่วไปมักพบที่ลำตัวบ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการคันในบริเวณขึ้นผื่น เจ็บปวดมาก อาจร่วมกับปวดแสบปวดร้อน บางคนร่วมกับอาการชาในบริเวณนั้นๆ
- อาการปวดมักนำมาก่อนเกิดผื่นแดง และเมื่อเกิดผื่นแล้ว อาการปวดก็ยังคงอยู่ และบ่อยครั้ง เมื่อโรคและผื่นหายแล้วก็ยังปวดได้ต่อเนื่อง อาจเป็นปีๆ แต่อาจปวดมากหรือน้อยไม่เท่ากัน ในทุกราย ซึ่งอาการปวดในบางราย (ทั้งระหว่างเกิดโรคหรือภายหลังโรคหายแล้ว) อาจปวดมากจนต้องใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มยาเสพติดหรือใช้ยาชาหรือฉีดยาชาเข้าประสาท
- หลังเกิดผื่นได้ประมาณ 1 วัน ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพอง ตุ่มพองมักเกิดใหม่ตลอดระยะเวลา 2 – 3 วัน โดยมีน้ำใสๆในตุ่ม แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นตุ่มสีเหลือง อาจเป็นน้ำเลือดในที่สุด จะตกสะเก็ดเป็นสีดำ และสะเก็ดค่อยๆหลุดจางหายไปภายใน 2 – 3 สัปดาห์ อาจหายโดยไม่มีแผลเป็น หรือเป็นแผลเป็นเมื่อตุ่มพองเกิดติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทเช่นมีความผิดปกติที่ดวงตาและการมองเห็น หากตุ่มใสขึ้นในบริเวณของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับประสาทตา
- และในเด็กที่มีภาวะความคุ้มกันบกพร่องมาก ก็อาจเป็นงูสวัดที่รุนแรงได้ และมีโอกาสที่เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ปอดอักเสบ เป็นต้น
โดยทั่วไปโรคงูสวัดเป็นโรคไม่รุนแรง มักรักษาหายภายใน 2 – 3 สัปดาห์ และไม่ค่อยเกิดเป็นซ้ำ (แต่เมื่อเกิดเป็นซ้ำ มักไม่ค่อยเกิน 3 ครั้ง) เมื่อเกิดกับประสาทกล้ามเนื้อ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง (ไม่มีใครรู้ว่านานเท่าไร) เมื่อเกิดกับประสาทหู หูอาจหนวกได้ นอกจากนั้น ภายหลังรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยอาจยังมีอาการปวดเรื้อรังเป็นปีๆในตำแหน่งเกิดโรคได้ดังกล่าวแล้ว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ดูวิธีการรักษาและการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคงูสวัดได้ที่นี่
การรักษาโรคงูสวัด และการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคงูสวัด
สำหรับเด็กเล็ก ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อเริ่มมีอาการเพื่อรับการพิจารณาการใช้ยาต้านไวรัส (ยา Aciclovir) ซึ่งจะได้ผลดี ลดความรุนแรงของอาการและช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นเมื่อได้รับยาภายใน 3 วันหลังเกิดผื่น (มีทั้งยาทา กิน และ ฉีด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค) นอกจากนั้นคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ โดย เฉพาะยาแก้ปวดและยาบรรเทาอาการคัน เช่น การทาน้ำยาคาลามาย (Calamine lotion)
โรคงูสวัดในเด็ก ป้องกันได้นะ
เราสามารถป้องกันโรคงูสวัดได้โดยการป้องกันไม่ให้ร่างกายรับเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ตั้งแต่แรก ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่นและตุ่มโรคของผู้ป่วยคนอื่นๆ และวิธีการป้องกันแบบง่าย ๆ คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสดังกล่าวจู่โจมร่างกาย ทั้งนี้ หากยังไม่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสมาก่อนก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ หรือการฉีดวัคซีนก็เป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังอาจป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยวัคซีนนี้จะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ และกระตุ้นอีกครั้ง ตอนอายุประมาณ 4-5 ขวบค่ะ
แม้ว่าโรคงูสวัดในเด็ก โดยทั่วไปเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่โรคนี้ก็สร้างความกังวลใจให้กับแม่ๆ ไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ ดังนั้นเราควรกันเอาไว้ก่อน โดยการพาลูกน้อยไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเอาไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
บทความอื่นๆ เพิ่มเติม
“อีสุกอีใส” โรคติดต่อที่ดูไม่น่ากลัว แต่อันตรายถึงชีวิตลูก!
ระวัง 7 โรคนี้ ลูกเป็นแล้ว สามารถเป็นซ้ำได้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่