ลูกหกล้ม แผลติดเชื้อ จนเกือบอันตรายถึงชีวิต เป็นเรื่องจริงจากคุณแม่ท่านหนึ่งที่ได้เขียนแชร์ประสบการณ์ที่ครอบครัวเธอเพิ่งประสบกันมาสดๆ ร้อนๆ กับอุบัติเหตุเล็กๆ เพียงแค่ลูกหกล้มและมีแผลเล็กนิดเดียว แต่ผลที่ตามมาคือแผลเกิดติดเชื้อและถ้าไปหาหมอช้าอีกนิดมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ
ลูกหกล้ม แผลติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิต!!
เชื่อว่าถ้าทุกครอบครัวได้อ่าน ลูกหกล้ม แผลติดเชื้อ จะต้องคิดเหมือนกันว่าแค่หกล้มถึงขั้นจะติดเชื้อในกระแสเลือดเชียวหรือ ซึ่งคุณแม่เจ้าของเรื่องที่ตอนแรกเธอก็คิดเช่นกันเหมือนกัน และก็ทำให้เกือบพลาดถึงชีวิตน้อยๆ ของลูกชายสุดที่รัก ลองไปดูสิ่งที่คุณแม่เขียนเล่ามากันค่ะ
👉👉อ่านกันสักนิดนะคะแม่ๆ 👈👈 ขออนุญาติแชร์ประสบการณ์ เตือนแม่ๆ ให้ระวังไว้ค่ะ เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวันจันทร์(14/08/2560) ที่ผ่านมาตอนช่วงเช้า ลูกของเราหกล้ม มีแผลนิดเดียว ย้ำว่านิดเดียวจริงๆ พอดีวันนั้นน้องก็ไปเที่ยวกับ คุณตาของเขาตามปกติ กลับมาบ้านก็ร่าเริงดีไม่ได้ผิดปกติอะไรยังเล่นได้ทั้งวัน ตกเย็นกินข้าวอาบน้ำเข้านอนตามปกติ เวลาประมาณเที่ยงคืน ลูกเริ่มมีไข้ ร้องบอกว่าเจ็บขา เจ็บขา เราก็นึกว่าไปเดินเที่ยวมาจนปวดขา เลยบอกนอนนะลูกนะแต่ก่อนนอนก็เอายาพาราเซตามอล(ยาซาร่าน้ำ) ให้ลูกกิน แต่ยังไงลูกก็ไม่ยอมนอนอาจด้วยเจ็บขาและพิษไข้ด้วย ส่วนเราอีแม่ก็งอมง่วงมากเพราะมีลูกอ่อน 3 เดือนกว่าอีกคนที่ต้องเลี้ยงคู่กัน ลืมบอกไปว่าลูกชายหกล้มนี่อายุ 4 ขวบกว่าแล้วค่ะ
หลังจากที่ลูกไม่ยอมนอนมาทั้งคืน จนสุดท้ายลูกก็มาพล็อยหลับอีกทีตอนเกือบเช้าประมานตี 4 ได้ค่ะ จากนั้นเราก็ลุกไปทำงานบ้านทุกอย่างเสร็จ ลูกๆ ก็ตื่นนอน พอเช้ามาดูขาลูกบวมแดงมาก จนรีบพาไปคลินิก หมอก็ตกใจว่าไปทำอะไรมา ทำไม่เป็นขนาดนี้ อาการคือมีหนองข้างในติดเชื้อ ตรงข้อหัวเข่า คุณหมอก็ฉีดยาฆ่าเชื้อให้ รักษาดูอาการกันมาได้ 3 วัน ขาที่บวมก็ไม่ดีขึ้น สุดท้ายคุณหมอที่คลินิกก็ทำเรื่องส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลต่อ พอมาถึงโรงพยาบาลก็ไปเอกซเรย์ต่อ จากนั้นก็เจาะเลือดไปตรวจเพาะเชื้อ สรุปน้องติดเชื้อมาก ตอนนี้ก็ยังอยู่โรงพยาบาล อีกสามวันถึงได้กลับบ้าน ที่น่าตกใจคือคุณหมอบอกว่าถ้ามาไม่ทันอาจเสียชีวิตติดเชื้อในกระแสเลือดได้!!! เรายังถามตัวเองว่าเป็นไปได้ยังไง ลูกเกือบตายเพราะแผลหน่อยเดียว จนสามารถทำให้เราอาจพลากจากลูกไปตลอดชีวิต
ผู้เขียนได้พูดคุยกับคุณแม่เพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณแม่เล่าว่าตอนที่ลูกชายหกล้มแล้วมีแผลเล็กๆ ได้ทำการปฐมพยาบาลด้วยการล้างทำความสะอาดบาดแผลที่ถลอกอย่างดี ก่อนที่ลูกชายจะออกไปเที่ยวกับคุณตา แต่ก็ไม่คิดว่าหลังจากที่ลูกกลับบ้านมาและถึงเช้าของอีกวันจากแผลเล็กๆ นิดเดียว จะสามารถลามไปใหญ่ถึงขนาดนั้น
บทความแนะนำ คลิก>> เตือน! ยาลดไข้ ใช้ผิดวิธีอันตรายถึงชีวิตลูก
ซึ่งตอนนี้ลูกชายของคุณแม่ได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และอาการก็ดีขึ้นตามลำดับหลังจากที่คุณหมอรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ จากเหตุการณ์นี้คุณแม่ยังอยากฝากถึงทุกๆ ครอบครัวที่มีลูก ที่ถ้าหากลูกเกิดอุบัติเหตุขึ้นไม่ว่าจะแผลถลอกเล็กๆ หรือแผลใหญ่ก็ตามแต่ นอกจากทำความสะอาดแผลให้ลูกเบื้องต้นแล้ว ก็ต้องสังเกตอาการลูกด้วยว่าเขามีอาการปวด มีไข้ เซื่องซึม รวมถึงแผลมีอาการบวมมากน้อยไปจากเดิมด้วยหรือไม่ เพราะหากลูกมีอาการอย่าใดอย่างหนึ่งให้รีบพาส่งโรงพยาบาลทันที เพราะไม่เช่นนั้นจากแผลเล็กๆ อาจลุกลามจนแก้ไขรักษาไม่ทันได้ค่ะ
อ่านต่อ อาการแสดงว่าติดเชื้อในกระแสเลือด หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อาการแสดงของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ที่ควรรู้!!
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ การที่มีเชื้อโรคในกระแสเลือด ซึ่งสามารถที่จะทราบว่าเชื้อนั้นๆ คือเชื้ออะไร ก็จากการที่นำเลือดไปเพาะเชื้อดูก็จะทำให้ทราบนั่นเองค่ะ สำหรับอาการที่แสดงว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้เขียนขออนุญาตนำความรู้จาก ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ[1] มาให้ได้ทราบกันดังนี้ค่ะ…
อาการแสดงเมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ เรียกว่า เป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย (Systemic inflammatory response syndrome; SIRS) ยกตัวอย่าง เช่น
– มีไข้สูงเกิน 38.3 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
– ชีพจรเต้นเร็วเกิน 90 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่
– หายใจเร็วเกิน 24 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่
– เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากขึ้น
และก็ยังมีอาการจำเพาะที่ที่เกิดบริเวณอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น อาการปัสสาวะแสบขัด แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อที่ระบบขับปัสสาวะ หรือมีอาการไอ เจ็บหน้าอก อาจหมายถึงการติดเชื้อที่ปอด เป็นต้น[1]
บทความแนะนำ คลิก>> เวลาลูกมีไข้ เมื่อไหร่ถึงต้องพาไปพบแพทย์
การติดเชื้อในกระแสเลือดยังเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยรวมทั้งจากบาดแผลเล็กๆ ก็สามารถก่อเชื้อโรคขึ้นในกระแสเลือดได้หากดูแลบาดแผลไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นจึงแนะนำว่าหากเด็กเล็กๆ ที่ยังมีภูมิต้านทานโรคที่ไม่มากและแข็งแรงพอจะรับมือกับเชื้อโรคต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปได้ พ่อแม่ต้องให้ความใส่ใจกับลูกให้มาก เมื่อพบว่าลูกมีอาการซึม อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ มีไข้ ไม่ต้องให้รีบพาส่งโรงพยาบาลทันทีนะคะ
อ่านต่อ การดูแลเบื้องต้นเมื่อมีบาดแผล หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การปฐมพยาบาลบาดแผลเบื้องต้น
เพื่อเป็นการป้องกันบาดแผลจากเชื้อโรคในเบื้องต้น ต้องมีการปฐมพยาบาลที่ต้องกับบาดแผลกันก่อนค่ะ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำวิธีการดูแลบาดแผล มาให้ได้ทราบกันดังนี้ค่ะ
ชนิดของบาดแผล
บาดแผลปิด หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังไม่มีการฉีกขาด แต่มีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นแผลฟกช้ำ บวม ห้อเลือด ข้อเท้าพลิก ข้อแพลง มีอาการปวดระบม มีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้
- ภายใน 24 ชั่วโมงแรก ให้ใช้น้ำแข็ง หรือถุงน้ำเย็นประคบ เพื่อไม่ให้เลือดออก และช่วยระงับอาการปวด
- หลัง 24 ชั่วโมง ควรประคบด้วยน้ำอุ่น เพื่อช่วยละลายลิ่มเลือด
บาดแผลเปิด หมายถึง บาดแผลที่มีการฉีกขาด และมีเลือดไหลออกมานอกผิวหนัง เช่น แผลถลอก แผลตัด แผลฉีกขาด แผลถูกยิง แผลถูกแทง เป็นต้น
การปฐมพยาบาลบาดแผลเปิด ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ กว้างและลึก มีเลือดออกมาก ผู้ปฐมพยาบาลไม่ควรชำระล้างบาดแผลเอง ให้ห้ามเลือดทันที โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลไว้ และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ส่วนบาดแผลเล็กน้อย แผลไม่ลึกมาก เช่น มีดบาด เข็มตำ เป็นต้น มีวิธีปฐมพยาบาลดังนี้
- ชะล้างแผลและทำความสะอาดรอบๆ แผล ถ้าแผลสกปรกมาก ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่
- ใช้ผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซสะอาด ซับบริเวณแผลให้แห้ง
- ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน ไม่จำเป็นต้องปิดแผล ถ้าเป็นแผลถลอก แต่หากมีเลือดซึม ควรใช้ผ้าก๊อซสะอาดปิดแผลไว้[2]
ความปลอดภัยของชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะชีวิตน้อยๆ ของลูกๆ ดังนั้นเมื่อพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกหลังจากได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเล็กน้อยตาม แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะบาดแผลที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายที่เรียกว่าภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้นเมื่อรู้อาการที่เกิดขึ้นกับลูกได้เร็ว ก็สามารถให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว และหายขาดได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ
ทีมงานเว็บไซต์ Amarin Baby & Kids ขอเป็นกำลังใจให้ลูกชายของคุณแม่ Sukanda หายป่วยกลับมาสดใสร่าเริงในเร็ววันนี้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ประคบร้อน ประคบเย็น จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำตอนไหน?
แม่ย้ำ! ลูกไม่สบาย ให้รีบหาหมอ!
ขอขอบคุณเรื่องจาก : คุณแม่ Sukanda Muadpa
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด. healthtoday
2การปฐมพยาบาลบาดแผลเบื้องต้น. โรงพยาบาลเวชธานี