AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

8 โรคฮิตเปิดเทอม พ่อแม่เตรียมไว้เลย เปิดเทอมนี้ เจอแน่!!

โรคฮิตเปิดเทอม

โรงเรียน 1 ในแหล่งที่เด็กจะต้องอยู่ร่วมกัน นอกจากพ่อแม่ต้องระวังโรคโควิด-19 แล้ว ยังต้องระวังอีก 8 โรคฮิตเปิดเทอม ด้วย เช่น โรคมือเท้าปาก โรคไข้หวัดใหญ่ RSV

8 โรคฮิตเปิดเทอม พ่อแม่เตรียมไว้เลย เปิดเทอมนี้ เจอแน่!!

เปิดเทอมทีไร สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เด็ก ๆ ที่มักจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพตามมา เนื่องจากการอยู่ร่วมกันหลาย ๆ คน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรคต่าง ๆ ให้กันและกันนั่นเอง ดังนั้น ทีมแม่ ABK จึงได้รวบรวม 8 โรคฮิตเปิดเทอม โรคที่พบได้บ่อยเมื่อเปิดเทอม เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ เตรียมตัว และคอยสังเกตลูก ๆ เมื่อลูกมีอาการต้องสงสัย จะได้พาลูกไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที

8 โรคฮิตเปิดเทอม พ่อแม่เตรียมไว้เลย เปิดเทอมนี้ เจอแน่!!

  1. โรคสุกใส หรือ โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มาด้วยอาการไข้ออกผื่น พบมากในเด็กแต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ บางกรณีสามารถหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หลังจากหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะไปหลบอยู่ที่ปมประสาทของผู้ป่วย และสามารถทำให้เกิดโรคงูสวัดได้หากผู้ป่วยรายนี้มีภูมิต้านทานลดลง

สาเหตุ โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลล่า (varicella zoster virus) ซึ่งแพร่กระจายโดยการหายใจเอาฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไป หรืออาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ

อาการของโรค หลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส อาการจะแสดงภายใน 8-21 วัน เริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและมีผื่นเริ่มจากลำตัว ใบหน้าและลามไปแขนขา อาจพบตุ่มขึ้นในช่องปากและเยื่อบุต่าง ๆ ได้ มักมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว และตกสะเก็ดจะหลุดหายไปในเวลา 5-20 วัน

โรคสุกใส

2. โรคมือเท้าปาก

เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่สามารถเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนใหญ่เกิดจากสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และส่วนที่เกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักและอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาะแทรกซ้อนหรืออาการที่รุนแรงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างภาวะสมองอักเสบ โดยเชื้อไวรัสเหล่านี้จะสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการปนเปื้อนอยู่ในของเหลวในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของเหลวในแผลหนอง อุจจาระ และของเหลวที่ออกมาจากการไอหรือจาม

อาการของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วันหลังจากมีไข้ คือ ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน

3. เฮอร์แปงไจน่า

โรคเฮอร์แปงไจน่า เป็นโรคที่ติดเชื้อจากไวรัสชนิดเดียวกันกับมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มของ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือจะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น ขณะที่โรคมือเท้าปาก นอกจากจะมีแผลที่ปากแล้วจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย กลุ่มเสี่ยงของโรคเฮอร์แปงไจน่าส่วนมากจะเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ และเจอในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในโรงเรียนอนุบาล มักเล่นของเล่นรวมกัน หยิบจับสิ่งของรวมกัน จึงมีโอกาสติดต่อได้ง่าย โดยตัวเชื้อจะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ในทุกฤดู

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) การติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของคนที่มีเชื้อ เพราะบางครั้งอาจสัมผัสแล้วเผลอรับประทานเข้าไป ก็ทำให้ติดเชื้อได้

อาการของโรค ลักษณะอาการจะมีไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส และมีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง แต่ถ้าเป็นมือ เท้า ปาก ไข้จะไม่สูง และมีแผลกระจายอยู่ทั่วปาก รวมทั้งมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย

 

4. ไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัด

ไข้หวัดใหญ่ (Flu or Influenza) คือ โรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในส่วนของจมูก ลำคอ และปอด อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอหรือจาม แต่มีความรุนแรงและมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ โรคนี้เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดปี และระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝนที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี

สาเหตุ เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสกลุ่ม Influenza Virus ผ่านทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ การรับของเหลวที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ผ่านการกิน การดื่ม หรือการสัมผัสเชื้อเข้าสู่เนื้อเยื่อร่างกายโดยตรงทางเลือด น้ำเหลือง น้ำหล่อลื่นที่ดวงตา

อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยไข้หวัดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า เช่น มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย บางราย ผู้ป่วยมีอาการแสดงอย่างอื่น แต่ไม่มีไข้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นได้ด้วย ทั้งนี้อาการป่วยที่อาจเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับร่างกาย อายุ และโรคประจำตัวเดิมของแต่ละบุคคลด้วย

5. โรค RSV

ไวรัส RSV คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษคือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก เชื้อไวรัสชนิดนี้ มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ

สาเหตุ เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วย โรค RSV มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมาก ๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว อาจจะเกิดภาวะรุนแรงถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้

อาการของโรค ไวรัส RSV ในระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้รู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น ไอ จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ

โรค RSV

6. ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือปวดท้อง ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้

สาเหตุ ส่วนใหญ่ภาวะอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม อาหารกระป๋องที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น

อาการของโรค ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป ผู้ป่วยมักจะรู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนเป็นเลือด มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน ไม่อยากอาหาร มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อย เป็นต้น มีอาการทางระบบประสาท เช่น มองเห็นไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

7. โรคตาแดง

โรคตาแดง คืออาการเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมักติดต่อกันได้ง่าย เชื้อที่ทำให้เกิดโรคตาแดงที่พบได้บ่อยได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุ เป็นโรคระบาดทางตาที่พบได้บ่อย มักมีการระบาดเป็นช่วง ๆ เป็นประจำทุกปี ส่วนใหญ่เป็นในช่วงฤดูฝนติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว การติดต่อของโรคเกิดโดยตรงจากการสัมผัส การใช้ของร่วมกัน การไอจาม แม้กระทั่งการหายใจรดกันก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดอาการภายใน 1-2 วัน และเมื่อเกิดเป็นตาแดงขึ้น จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนานถึง 2 สัปดาห์

อาการของโรค ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการตาแดงอย่างเฉียบพลัน เคืองตามาก เคืองแสง เจ็บตา น้ำตาไหล ตาบวม มักไม่มีขี้ตาหรือมีขี้ตาเป็นเมือกใส ๆ เล็กน้อย ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาจึงจะมีขี้ตามาก บางคนมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโตและเจ็บ ผู้ที่เป็นตาแดงมักเป็นกับตาข้างหนึ่งก่อน ต่อมาอีก 2-3 วัน อาจลุกลามเป็นกับตาอีกข้างหนึ่งได้ ระยะเวลาของโรคนี้จะเป็นนานประมาณ 10-14 วัน

8. โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคเป็นยุงที่ออกหากินเฉพาะในตอนกลางวัน ชอบอาศัยอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น อาจพบโรคนี้ประปรายตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนคือเดือนพฤษภาคม-กันยายน

สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ พบใน”ยุงลาย” เชื้อไวรัสเดงกี่จะอาศัยอยู่บริเวณผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง ดังนั้นเมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ที่ต่อมน้ำลายไปกัดคน เท่ากับว่าคนคนนั้นรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปเต็ม ๆ

อาการของโรค อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้สูง ตัวร้อน ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางรายอาจคลื่นไส้อาเจียน อาจพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกายในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ

หากสังเกตุดี ๆ โรคฮิตเปิดเทอม เกือบทุกโรคนั้น มีการติดต่อผ่านการไอ จาม และการใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเน้นย้ำให้ลูก ๆ ทำตามมาตรการการป้องกันโรคของโรงเรียนอย่างเคร่งครัด เช่น งดใช้สิ่งของร่วมกัน ล้างมือบ่อย ๆ สวมใส่หน้ากากเป็นประจำ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว ยังช่วยป้องกัน โรคฮิตเปิดเทอม นี้ได้อีกด้วย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โรคเฮอร์แปงไจน่า โรคระบาดในเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

การเรียนลูก เป็นเพียงเรื่องของครู จบที่โรงเรียนจริงหรือ?

เปิดเทอมนี้ เตรียมของให้ลูกไปโรงเรียน ต้องมีอะไรบ้าง

แนะ 4 วิธี ทำความสะอาดของใช้ ใกล้ตัว ให้ปลอดเชื้อโควิด-19

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สสส., www.pobpad.com, www.rama.mahidol.ac.th, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids