ไข้ดำแดง …เป็นโรคที่ไม่พบง่ายนัก ส่วนใหญ่มักเกิดในกลุ่มเด็กนักเรียน แต่ก็ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด ซึ่งเมื่อต้นปีพบมีผู้ป่วยกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่อายุ 1-14 ปี โดยกรมควบคุมโรคแนะนำ วิธีสังเกตอาการ หากลูกมีผื่นคล้ายกระดาษทรายใช่โรคดำแดง แน่นอน
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ “Group A” hemolytic streptococci ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น คออักเสบ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคไข้ดำแดงในปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-16 ก.พ.2560 มีผู้ป่วยแล้ว 243 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 1-14 ปี ถึง 224 ราย หรือร้อยละ 92 ส่วนในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,527 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเช่นกัน
ไข้ดำแดง คืออะไร น่ากลัวแค่ไหน พ่อแม่ต้องรู้
ไข้ดำแดง (Scarlet fever) หรือชื่อโบราณ คือ Scarlatina ซึ่งคนไทยสมัยก่อนเรียกกันว่า “โรคไข้อีดำอีแดง” เป็นโรคติดต่อเฉียบพลัน อาการจะปรากฏหลังจากผู้เป็นได้สัมผัสกับ “พาหะ” หรือผู้ป่วย 1 -10 วัน ซึ่งโรคนี้จะเป็นอยู่นาน 3 สัปดาห์
โรคไข้ดำแดงเกิดจากเชื้อ “Group A” hemolytic streptococci ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกันที่ทำให้เกิดโรค “คออักเสบ” ตำแหน่งที่มีการติดเชื้อในโรคไข้ดำแดงที่สำคัญคือ เยื่ออ่อนของกระบอกเสียง ซึ่งเป็นที่ขับพิษของเชื้อที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
อาการของเด็กที่ป่วยเป็น ไข้ดำแดง
ไข้ดำแดง เป็นการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจตอนบน ร่วมกับการออกผื่นของผิวหนัง จากเชื้อ “Group A” hemolytic streptococci ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้
โดยผื่นที่เกิดจากโรคนี้ จะขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีไข้ แต่อาจพบผื่นเป็นอาการแรกก็ได้ ผื่นชอบขึ้นบริเวณรอบคอ แล้วกระจายไปทั่วตัวและแขนขา ลักษณะของผื่น เป็นเม็ดหยาบ ๆ คล้ายกับกระดาษทราย ลักษณะของผื่นเป็นตุ่มเล็ก ๆ มองคล้ายหนังห่าน ผื่นมักไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่อาจพบลักษณะแก้มแดง และรอบปากซีด และที่ข้อพับต่าง ๆ เช่น ข้อศอก รักแร้ หรือขาหนีบตรงรอยข้อพับ จะดูมีสีเข้มมากขึ้นกว่าสีผิวในบริเวณอื่น ๆ
ผื่นจะขึ้นอยู่ 3-4 วัน หลังจากนั้นจึงเริ่มลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น เริ่มลอกจากใบหน้า ลำคอ ลงมาเรื่อยๆ ต่อจากนั้น จึงเห็น มือ เท้า ปลายมือ ปลายเท้า และเล็บ ลอกตามมา
และเมื่อตรวจในลำคอ จะพบว่ามีคออักเสบร่วมด้วย ที่ลิ้นและต่อมรับรสบนลิ้น จะเห็นชัดเจนโดยเฉพาะบริเวณปลายลิ้นจะนูนแดง เมื่อผิวลอกแล้ว มักเห็นว่าที่ลิ้นตรงปลายเป็นลักษณะคล้ายผิวของสตรอเบอร์รี่ (Strawberry tongue)
อ่านต่อ >> “การติดต่อของโรคไข้ดำแดงและวิธีการรักษา” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การติดต่อของโรคไข้ดำแดง
เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่คนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งทางอากาศหรือโดย ละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้เป็นโรค และอาจแพร่สู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่วันแรกที่อาการปรากฏ หรือหลังจากที่หายจากโรคไปแล้วเป็นเดือน บางคนเป็นพาหะนำโรคโดยที่ตนเองไม่เป็นโรคเลยก็ได้
ซึ่ง ผื่น ของโรคไข้ดำแดง จะเริ่มตรงทรวงอกและหลังส่วนบน ต่อมาที่หลังส่วนล่าง แขน หน้าท้อง และขา ส่วนมากผื่นจะไม่ขึ้นที่ใบหน้า แต่ใบหน้าจะแดง ยกเว้นรอบๆ ริมฝีปากจะเป็นสีขาวซีด ผื่นสีแดงจะกลายเป็นซีดเมื่อใช้นิ้วกด ส่วนใหญ่พบผื่นเป็นตุ่มพุพองเล็ก ๆ เมื่อผื่นค่อย ๆ หายไปผิวหนังก็จะเริ่มลอก
และในต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมากบางครั้งพบว่าเป็นฝีโรคแทรกซ้อน ที่พบบ่อยในเด็กที่ไม่ได้รับการรักษาได้แก่ โพรงจมูกอักเสบ หูตอนกลางอักเสบ ปุ่มกกหูอักเสบ หรือโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้แก่ ไขข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบหัวใจและไตถูกทำลายความรุนแรงของโรคลดน้อยลงมาก จึงทำให้อันตรายตายลดลงด้วย
ใครเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้อีดำอีแดงบ้าง?
- เด็กที่มีฐานะยากจน (อายุระหว่าง 5-15 ปี) เนื่องจากมีอาหารการกินที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กขาดสารอาหาร จึงมีภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ น้อยลง
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด โดยเฉพาะในเด็กที่มีฐานะยากจนทั้งในเมืองและในชนบท มักจะอาศัยอยู่ในห้องนอนที่คับแคบและอยู่กันอย่างแออัด จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย
- ผู้ที่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้ดำแดง
เมื่อไรที่ควรพาลูกพบแพทย์
1. มีอาการไข้ เจ็บคอ โดยเฉพาะเมื่อมีผิวหนังขึ้นผื่นร่วมด้วย
2. เมื่อได้การรักษาแล้ว กลับเกิดอาการข้างเคียงแทรกซ้อนตามมา เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอโตขึ้น เจ็บ และปวดหู หรือ กลับมามีไข้อีก ไอ หายใจเร็ว (ซึ่งเป็นอาการของโรคปอดบวม)
3. เมื่อมีอาการ เหนื่อยง่าย ปวดข้อ มีตุ่ม หรือก้อน ขึ้นใต้ผิวหนัง หรือมีลักษณะคล้ายลมพิษขึ้น (เป็นอาการของโรคไข้รูมาติก)
4. มีอาการบวม ปัสสาวะมีสีแดง/สีเลือด (มีเลือดปน) ซึ่งเป็นอาการของไตอักเสบ
วิธีการรักษาโรคไข้ดำแดง
การติดเชื้อ Group A hemolytic streptococci เป็นโรคที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้รูมาติกเฉียบพลัน และเพื่อทำให้อาการของผู้ป่วยหายเร็วขึ้น อีกทั้งป้องกันการติดเชื้อระบาดไปสู่ผู้อื่น
ในเด็กที่มีอาการของโรคไข้ดำแดง ชัดเจนนั้น คถณหมอควรให้ยาปฏิชีวนะทันที แต่สำหรับผู้ที่อาการไม่ชัดเจน ต้องรอผลเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งในลำคอ หรือผลการตรวจแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานสำหรับเชื้อ Group A hemolytic streptococci นี้ก่อน ส่วนการหาสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี้ นั้นจะต้องใช้เวลานาน เพราะแอนติบอดี้ จะขึ้นในเลือดจนมีปริมาณเพียงพอให้ตรวจพบได้ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่ร่างกายจะตอบสนองต่อการติดเชื้อ และต้องตรวจ 2 ครั้งห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่า แอนติบอดี้ครั้งที่ 2 ขึ้นจากการติดเชื้อครั้งใหม่ เนื่องจากการติดเชื้อครั้งก่อนๆ อาจทำให้มีแอนติบอดี้ขึ้นได้ระดับหนึ่ง และยังคงระดับสูงกว่าปกติอยู่นาน
- ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคไข้ดำแดงได้ผลดีคือ ยาเพนนิซิลิน วี (Penicillin V) ให้รับประทานเป็นเวลา 10 วัน แม้ว่าอาการอาจจะหายไปใน 3-4 วันแล้วก็ตาม ต้องเน้นรับประทานยาให้ครบ
- หากมีประวัติการแพ้ยา เพนิซิลิน (Penicillin) สามารถให้ยา อีริโธรมัยซิน (Erythromycin) แทนได้ แต่ต้องให้หลังอาหารทันที เพราะ ยาอีริโธรมัยซิน อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ และปวดท้อง
ในผู้ป่วยที่รักษาได้ยาปฏิชีวนะครบ 10 วัน และอาการต่างๆของเด็กกลับเป็นปกติดีแล้ว ไม่ต้องมีการติดตามผลรักษา ยกเว้นเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงตามมา แต่หากเด็กยังมีอาการผิดปกติต่อเนื่อง หรือกลับมามีอาการผิดปกติอีก คุณพ่อคุณแม่จึงควรต้องรีบนำเด็กกลับมาพบแพทย์ทันที
อ่านต่อ >> “วิธีการป้องกันโรคไข้ดำแดง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ภาวะแทรกซ้อนของไข้ดำแดง
สำหรับโรคไข้ดำแดง เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงทำให้หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ฝีทอนซิล ปอดอักเสบ และเชื้ออาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบ นอกจากนี้ยังมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ไข้รูมาติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะเกิดหลังต่อมทอนซิลอักเสบประมาณ 1-4 สัปดาห์ ซึ่งการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 10 วัน จะช่วยลดการเกิดของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้
หลังจากไข้อีดำอีแดงหายไปประมาณ 1-2 เดือน อาจมีโรคไตหรือโรคไข้รูมาติกตามมาได้
- โรคไต ทำให้มีอาการบวม ปัสสาวะน้อยเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ความดันโลหิตสูง ถ้าเป็นมาก ๆ อาจมีอาการหัวใจวายหรือไตวายได้ ซึ่งเป็นอันตรายมาก
- โรคไข้รูมาติก โรคนี้จะทำให้เกิดโรคหัวใจรูมาติก ผู้ป่วยจะมีอาการบวม เหนื่อยง่าย ลิ้นหัวใจรั่ว ปวดบวมตามข้อมือ เท้ากระตุก มีอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ ถ้ามีอาการทางโรคหัวใจมาก อาจต้องทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
วิธีป้องกันไข้ดำแดง
เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ การป้องกันการติดเชื้อจึงสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคติดเชื้อผ่านการสัมผัสและฝุ่นละออง ดังนี้
- ดูแลสุขภาพร่างกายของลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ เครื่องนอน แก้วน้ำ เป็นต้น
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการขยี้ตา แคะจมูก หรือปาก
- คุณพ่อคุณแม่ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันทีที่พบ
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น และต้องรีบรักษาโรคนี้ให้หายเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อ Group A hemolytic streptococci แต่กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีนอยู่ ทั้งนี้โรคไข้ดำแดง มีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค คือมีไข้และผื่น หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกจะเป็นโรคนี้ หรือไม่ควรพามาพบกุมารแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงทีนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เตือนพ่อแม่ระวัง ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ระบาด
- ไข้ หรือ ตัวร้อน เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ และดูอาการลูกให้เป็น!!
- ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthmeplease.com , www.thaipost.net , www.thainannyclub.com , haamor.com