ช่วงหน้าฝน เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และเป็นปัญหาสำคัญของลูกน้อยวัยทารก และเด็กเล็ก ที่คุณพ่อ คุณแม่เป็นกังวลใจ โรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ RSV คือ 1 ในโรคที่คุณพ่อ คุณแม่ควรระมัดระวัง เนื่องจากเป็นโรคใกล้ตัว โดยมีอาการคล้ายกับโรคหวัดธรรมดา ทำให้บางครั้งอาจมองข้าม จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงได้ มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV เพื่อป้องกันความเสี่ยงกันค่ะ
RSV คือ อะไร?
ไวรัส RSV คือ โรคที่ติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV มีอาการคล้ายหวัด แต่อาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ เมื่อติดต่อจะทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหาย ไอ มีน้ำมูก และหากติดเชื้อรุนแรง ก็อาจถึงขั้นปอดอักเสบได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเด็กต่ำกว่า 5 ปี อาการที่มักจะเกิดกับเด็กวัยนี้คือหลอดลมอักเสบ แต่หากเกิดกับผู้ใหญ่จะมีอาการคล้ายหวัดทั่วไป แต่หากเกิดในผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด หรือ ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน จะมีอาการรุนแรงมาก
วิธีสังเกตว่าลูกติดเชื้อ RSV หรือไม่
เนื่องจากอาการของโรค RSV เมื่อเริ่มแสดงอาการจะมีลักษณะคล้ายหวัด คือ มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ ไอแห้ง เจ็บคอ ทำให้แยกได้ยากว่าลูกเป็นหวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือ RSV กันแน่ แต่ในเด็กบางคน RSV จะมีอาการที่รุนแรงขึ้นในวันที่ 3-4 นับจากวันที่แสดงอาการคือ
- เริ่มหายใจเหนื่อยหอบ หายใจไม่อิ่ม เดินแล้วต้องหยุดพัก
- ไอมีเสมหะมาก
- มีไข้สูง
- ไอมีเสียงหวีดๆ
- บริเวณปากหรือเล็บมีสีเขียวคล้ำจากการขาดออกซิเจน
- เบื่ออาหาร เซื่องซืม
- หายใจเร็วกว่าปกติ
และสำหรับเด็กเล็กหรือทารก หากมีอาการดังนี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
- ประสบภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากตอนร้องไห้จะไม่มีน้ำตาไหลออกมา
- ไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
- หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบเหนื่อย
- มีน้ำมูกเหนียวทำให้หายใจลำบาก
- ปลายนิ้วหรือปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำจากภาวะขาดออกซิเจน
- เด็กทารกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร หรือมีผื่นขึ้น
หากลูกมีอาการเหล่านี้ หมายถึงสัญญาณที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อประเมินอาการว่าติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (ปอดบวม หลอดลมฝอยอักเสบ) หรือไม่
อ่านต่อ “แนวทางการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แนวทางการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส RSV
ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV สิ่งเดียวที่สามารถรักษาได้คือ การสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายของตัวลูกเอง ดังนั้น สิ่งที่คุณหมอ และคุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ การประคองอาการให้หายใจดีขึ้น คุณหมออาจพิจารณาจ่ายยา หรือให้รักษาที่โรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการที่แสดงออกมา ดังนี้
- เพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อระบบทางเดินหายใจที่ดีขึ้น ไม่ควรให้ค่าความชื้นในอากาศมากเกินร้อยละ 50 เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ
- นั่งหรือนอนในตำแหน่งที่หายใจได้สะดวก เช่น นั่งตัวตรง ไม่ห่อตัว ใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป
- ดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลัง เช่น เสมหะ หรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
- ใช้ยาหยอดจมูก เพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก อาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและดูดน้ำมูกเพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
- รับประทานยาในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้
ในกรณีที่พบอาการรุนแรงหรือในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์อาจใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- รับประทานยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการหายใจมีเสียงหวีด และดูดเสมหะเมื่อมีเสมหะข้นเหนียวจำนวนมาก เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
- แพทย์อาจใช้ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อขยายหลอดลมและลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
- แพทย์อาจให้ออกซิเจน หรือใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจหากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว
ทำไมไวรัส RSV ถึงร้ายกว่าหวัด?
เพราะไวรัส RSV มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าไวรัสทั่วไป ดังนี้
- อาจทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบได้ ไวรัสจะเคลื่อนตัวจากระบบทางเดินหายใจช่วงบน ได้แก่ จมูก คอ ปาก ลงไปที่ระบบทางเดินหายใจช่วงล่าง จนทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดหรือทางเดินหายใจ
- อาจทำให้ติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดจากเชื้อเข้าไปในพื้นที่บริเวณหลังแก้วหู ทำให้เกิดหูน้ำหนวก พบมากในผู้ป่วยที่เป็นทารกและเด็ก
- โรคหอบหืด และหลอดลมไว หากเกิดภาวะนี้ จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว คือ ทุกครั้งที่เป็นหวัดจะไอมากมีเสมหะมาก เพราะเป็นผลจากหลอดลมไว และหากไม่ได้รับการรักษาก็ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้ ซึ่งหลังจากหายป่วยจากไวรัส RSV แล้ว คุณหมออาจจะพิจารณาให้ทานยา Singulair (Montelukast) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคหอบหืด, รักษาโรคภูมิแพ้ (การจ่ายยาอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น)
- เกิดการติดเชื้อซ้ำ เมื่อมีการติดเชื้อแล้วครั้งหนึ่ง จะกลับมาติดเชื้ออีกครั้งได้เสมอ แต่อาการอาจไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อในครั้งแรก มักพบในรูปแบบของอาการหวัด
ชมคลิป เกร็ดความรู้คู่สุขภาพ | RSV ไวรัสร้าย อันตรายกว่าหวัด ได้ที่นี่
อ่านต่อ “วิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV
เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV แต่หากทุกคนในครอบครัวปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อได้
- ล้างมือเป็นระยะให้สะอาด ด้วยน้ำสบู่ หรือ แอลกอฮอลล์
- ผู้ป่วยควรใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
- หากลูกติดเชื้อไวรัส RSV ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ คอยระวังการไอ จาม ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่น เพราะหากแพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ ไวรัสตัวนี้ก็อาจกลับมาหาลูก จนกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
- หลีกเลี่ยงให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หรือเป็นหวัด
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะทิชชูที่ใช้แล้ว ควรทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด
- ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น ควรใช้แก้วน้ำของตัวเอง และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำที่ผู้ป่วยใช้แล้ว
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
- ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบว่าเด็กที่ป่วยมาเล่นของเล่นนั้น
ชมคลิป ไวรัส RSV วายร้ายต่อสุขภาพของเด็กเล็ก!!
ไวรัส RSV คือ ไวรัสรุนแรงกว่าหวัดทั่วไป การเตรียมตัวเพื่อรับมือและรู้ว่า RSV คืออะไรจึงสำคัญ เพราะเมื่อไรที่คุณพ่อคุณแม่คาดว่าลูกอาจจะติดเชื้อไวรัส RSV ก็จะได้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาวิธีและแนวทางการรักษาและรับมือกับอาการที่จะเกิดกับลูกได้ทัน
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : www.pobpad.com
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!
พ่อแม่ระวัง! ลูกเป็น RSV เพราะเครื่องเล่นที่ห้าง
5 โรคที่มากับมือ ไม่อยากเป็นล้างมือให้สะอาด
10 คุณประโยชน์ดีๆ ของ วิคส์ วาโปรับ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่