AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคมะเร็งจอตาในเด็ก โรคมะเร็งท็อปฮิตในเด็ก พ่อแม่ต้องระวัง

โรคมะเร็งจอตาในเด็ก

พ่อแม่เคยสังเกตไหม ในดวงตาของลูกมีอะไรซ่อนไว้หรือเปล่า มาดูสัญญาณของ โรคมะเร็งจอตาในเด็ก ถ้าเป็นแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์!

สังเกตอาการ โรคมะเร็งจอตาในเด็ก

โรคร้ายบางชนิดหลบซ่อนตัวเก่งเหลือเกิน กว่าที่พ่อแม่จะรู้ก็เกือบสายไปเสียแล้ว เช่นเดียวกับโรคมะเร็งจอตาในเด็ก หรือมะเร็งจอประสาทตา ที่เป็นโรคร้ายอันตรายสำหรับเด็ก โดยคุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสต์เล่าเรื่องราวลูกสาววัยน่ารักน่าชัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้พ่อแม่คนอื่น ๆ ได้สังเกตอาการของลูกน้อย ว่า อาการเริ่มแรกตอนคลอดมา ลูกปกติทุกอย่าง แต่ช่วงวัย 9-10 เดือน เริ่มสังเกตเห็นเวลาตาของลูกโดนแสงส่องเข้ามาในตา จะเห็นเป็นจุดสีแดง จนดวงตาของลูกเปลี่ยนเป็นตาวาว กลม ๆ ใส ๆ ตรงกลางตาดำ มองเข้าไปแล้วเห็นเป็นก้อนเนื้อ จึงพาลูกไปหาหมอตอน 1 ขวบ 8 เดือน พอได้ตรวจอย่างละเอียดพบว่า ลูกเป็นมะเร็งจอตาหรือเส้นประสาทตา

โรคมะเร็งจอตาในเด็ก

“ตอนรู้ก็ช็อค พูดไม่ออกเลย คิดว่ามันเร็วไปหรือเปล่าที่ต้องมาเจอเรื่องร้าย ๆ แต่ก็ต้องเข้มแข็ง มีแอบนั่งร้องไห้ คิดมากค่ะ แต่น้องอารมณ์ดี ไม่งอแง ทำให้แม่มีกำลังใจมากขึ้นค่ะ” คุณแม่เล่าและเสริมว่า สาเหตุโรคมะเร็งจอตา คุณหมอแจ้งกับแม่ว่า เกิดขึ้นเอง 95% กรรมพันธุ์ 5% ของน้องเกิดขึ้นเอง

คุณแม่ยังได้เปิดเผยเรื่องราวเพิ่มเติมกับทีมแม่ ABK ว่า หลังจากนั้นก็ได้ทำการรักษา โดยคุณหมอต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก เพราะถ้าไม่เอาออกจะมีโอกาสเสียชีวิตได้เร็ว เชื้อจะแพร่หนักกว่านี้ กลัวว่าจะลุกลามขึ้นสมอง การเอาดวงตาออกก็เพื่อยื้อชีวิตให้ลูก ตอนนี้ลูกใส่ลูกแก้วในดวงตาอยู่ เป็นลูกแก้วขนาดเท่าดวงตาใส่เพื่อไม่ให้ตาปิด ตอนนี้แผลก็ยังไม่หายดี และต้องทำเรื่องจองคิวทำตาเทียมต่อไป

สำหรับการรักษา ในปัจจุบันน้องในวัย 1 ขวบ 11 เดือน ต้องทำคีโมทั้งหมด 6 ครั้ง ตอนนี้ทำไปแล้ว 2 ครั้ง คุณแม่เพิ่มเติมว่า ผลข้างเคียงของการทำคีโม ทำให้อาเจียน มีไข้ เบื่ออาหาร แล้วก็ทำให้มีปัญหาเรื่องการได้ยินด้วย คุณหมอเน้นย้ำด้วยว่า หลังจากนี้ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดมาก ๆ น้องต้องล้างตาวันละ 1 ครั้ง ห้ามอยู่ในที่ที่มีคนมาก ๆ หรือไปเดินตามห้าง น้องมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน และคุณหมอยังไม่ให้ฉีดวัคซีนจนกว่าจะทำคีโมครบจนเชื้อไม่มีแล้ว และน้องจะได้ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวมาฉีดทุกวันจนครบ 1 สัปดาห์หลังจากทำคีโม

โรคมะเร็งจอตาในเด็ก

มะเร็งจอประสาทตา พบบ่อยอันดับ 7 มะเร็งในเด็ก

ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคมะเร็ง ตรวจพบเร็วยิ่งดี ยิ่งลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต พ่อแม่จึงต้องใส่ใจลูก หมั่นสังเกตร่างกายของลูกเป็นประจำเพื่อดูความผิดปกติ รศ. นพ.เจษฎา บัวบุญนำ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ว่าเป็นโรคมะเร็งจอประสาทตา มีอยู่ราว ๆ 30 รายต่อปี ส่วนมากพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี

สาเหตุของโรคมะเร็งจอตาในเด็ก

แม้สาเหตุจะยังไม่แน่ชัดแต่พบความสัมพันธ์กับความผิดปกติของยีนที่ชื่อ RB ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งเซลล์และการตายของเซลล์ในร่างกายของคนปกติ ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนดังกล่าวในเซลล์สืบพันธุ์จะมีความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคมะเร็งจอประสาทตา หากพ่อแม่มีประวัติมะเร็งจอประสาทตาก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคมะเร็งจอประสาทตา

วิธีสังเกตอาการโรคมะเร็งจอตา

  1. ตาวาวซึ่งเกิดจากแสงที่สะท้อนจากตัวก้อนมะเร็งในจอประสาทตาพบจุดสีขาวที่กลางตาดำ
  2. อาการตาเหล่
  3. มีเลือดออกในช่องด้านหน้าม่านตา
  4. หากก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจปวดตาหรือมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบลูกตาซึ่งเกิดจากการตายของเนื่อเยื่อบริเวณรอบ
  5. เมื่อโรคลุกลามออกนอกลูกตา อาจพบว่าตาโปนจากก้อนมะเร็งลามออกมาในเบ้าตา
  6. ถ้าลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใบหน้า
  7. ในรายที่มีโรคแพร่กระจายไปที่สมองผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีอาการชักหรือแขนขาอ่อนแรงได้
  8. ผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายไปที่กระดูกอาจมีอาการปวดกระดูกหรือคลำพบก้อนตามแขนขาได้

อย่างไรก็ตาม หากโรคลุกลามออกนอกเบ้าตาหรือแพร่กระจาย อาจจะเสียชีวิตแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ สำหรับอาการตาวาว อาจเป็นไปได้ว่าเป็นโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ทั้งความผิดปกติของวุ้นตาหรือหลอดเลือดที่จอตาแต่กำเนิด หรือการติดเชื้อพยาธิบางชนิด

การรักษาของโรคมะเร็งจอตา

โรคมะเร็งจอประสาทตาหากพบว่ามีก้อนเล็ก ๆ ผู้ป่วยยังมีความสามารถในการมองเห็น ก็ยังไม่ต้องผ่าเอาลูกตาออก แต่ใช้การใช้การรักษาเฉพาะที่ เช่น การจี้ความเย็นหรือการใช้เลเซอร์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำทุกๆ 3 ถึง 4 สัปดาห์ หรืออาจรักษาด้วยการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าในชั้นวุ้นตาหรือทางหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงตัวก้อนมะเร็ง ใช้ฉายรังสีหรือการวางแร่กัมมันตรังสีที่ตา หากพบก้อนใหญ่จนสูญเสียการมองเห็น ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น หรือโรคมีการลุกลามออกนอกลูกตา จำเป็นที่จะต้องเอาลูกตาออกและใส่ตาปลอม

โรคมะเร็งจอตา หรือมะเร็งจอประสาทตา เป็นโรคที่หากพบได้เร็วและยังไม่ลุกลาม การรักษาอาจไม่ต้องผ่าดวงตา พ่อแม่จึงต้องสังเกตร่างกายลูกเป็นประจำ หากพบความผิดปกติให้รีบไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด จะได้รักษาได้ทันการณ์

อ้างอิงข้อมูล : tsh.or.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

มะเร็งจอตา โรคฮิตอันดับ 3 ในเด็ก!! เช็กง่ายๆ ด้วยสมาร์ทโฟน

ทารกติด RSV เสียชีวิต ภัยร้ายพรากลูกวัย 10 เดือนจากอกพ่อแม่

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?