AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอชี้! เด็ก 4 ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือไม่ใช่เรื่องดี เสี่ยงออทิสติกเทียม

พ่อแม่อย่าชะล่าใจ!! ปล่อยให้ดูมือถือ จนเก่งอังกฤษ พูดได้คล่องปรื๋อ แต่เพจดังและหมอ…ออกมาเตือน ทำแบบนี้ เสี่ยงลูกเป็นโรคออทิสติกเทียมได้

ปัจจุบันมีการพบว่าเด็กวัยเตรียมอนุบาลและวัยอนุบาล เสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก หรือภาวะ ออทิสติกเทียม มากขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากวิธีการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ แต่พฤติกรรมที่คล้ายหรือเหมือนจะเป็นออทิสติกนี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้หากคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันและใส่ใจดูแลลูกแบบใกล้ชิด

ดีจริงหรือ? เด็ก 4 ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือ เสี่ยงออทิสติกเทียม

เช่นเดียวกับจากระแสข่าวที่มีเด็กหญิงวัย  4 ขวบ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งที่ยังไม่ได้เรียน และพบว่าเด็กคนดังกล่าวมักจะนั่งดูการ์ตูนที่เป็นภาษาอังกฤษผ่านช่อง Youtube จากโทรศัพท์มือถือ โดยเป็นการฟังแล้วพูดตาม จนกลายเป็นกระแสชื่นชมอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นประโยชน์อีกด้านหนึ่งในการใช้เทคโนโลยีเลี้ยงลูก

เนื้อหาข่าว มีดังนี้…

พบเด็กหญิงวัย 4 ขวบ มีพฤติกรรมชอบพูดภาษาอังกฤษกับทุกคน ทั้งกับแม่ ยาย และเพื่อนๆ นักข่าวจึงเดินทางไปตรวจสอบ โดยพบกับผู้เป็นแม่ของ เด็กหญิงวัย 4 ขวบคนนี้

โดยคุณแม่  เปิดเผยว่า… เริ่มแรกเดิมที น้องป่วยเป็นโรคเกร็ดเลือดต่ำ หากเป็นแผลแล้วเลือดจะไหลไม่หยุด จึงคอยดูแลไม่ยอมห่าง เกรงว่าลูกออกไปนอกบ้านแล้วจะหกล้ม หรือเกิดอันตรายอื่นๆ ต่อมาจึงเอาโทรศัพท์ให้เล่น เพราะไม่อยากให้ออกนอกบ้าน ลูกก็เล่นโทรศัพท์ทั้งกลางวันและกลางคืน แรก ๆ ก็ไม่ได้สนใจ แต่เมื่ออายุได้  2 ขวบ สังเกตเห็นน้องชอบพูดเป็นภาษาอังกฤษ โดยเรียกตนว่ามามี้ และชอบพูดเยส โน โอเค และประโยคอื่นๆอีกมาก

ขอบคุณภาพจาก : วัฒนะ แก้วก่า

ซึ่งคุณแม่ยังบอกอีกว่า… ตัวน้องเองก็ไม่เคยเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แต่กลับพูดภาษาอังกฤษ อาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของโลกโซเชียล จึงทำให้น้องเรียนรู้เร็ว มักจะพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนๆ แม้กระทั่งผู้เป็นแม่ ยาย และลุงป้าน้าอา หรือชาวต่างชาติ จนตอนหลังตนต้องหัดเรียนภาษากับลูก ทุกวันนี้เกรงว่าลูกจะพูดภาษาอังกฤษจนไม่อยากพูดไทย จึงอยากจะปรึกษาแพทย์ ว่าเด็กมีปัญหาหรือไม่ หากมีปัญหาจะได้แก้ไขทันท่วงที

ที่มาข่าวจาก : www.thairath.co.thช

อ่านต่อ >> “เพจดัง! อธิบาย..ให้ลูกเก่งอังกฤษจากมือถือไม่ใช่เรื่องดีเสี่ยงเป็นโรคออทิสติกเทียม” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ดีจริงหรือ? เด็ก 4 ขวบเก่งอังกฤษเพราะมือถือ

ทว่าเรื่องนี้เพจเฟซบุ๊กชื่อดัง Drama-addict ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า…

การที่เด็กเล็กดูคลิปรายการพูดภาษาอังกฤษ และสามารถพูดตามได้นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเด็กเล็กๆ นั้นสามารถเรียนรู้จากสิ่งกระตุ้นรอบข้างได้ดี และในกรณีนี้เด็กเล่นมือถือดูยูทูบตั้งแต่สองขวบ เขาก็เรียนรู้จากที่เห็น แต่การพูดภาษาอังกฤษได้ กับการเข้าใจความหมายนั้นเป็นอีกเรื่องนึง

ทั้งนี้ยังได้ยกตัวอย่างว่า…

มีเด็กหลายคนที่พ่อแม่ปล่อยให้เล่นมือถือแต่ยังเล็ก พอเห็นลูกพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ดีใจนึกว่าลูกมีพัฒนาการ แต่ความจริงแล้วนั่นเป็นการพูดเลียนแบบเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่รู้ความหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้มีปัญหาเรื่อง ภาวะ ออทิสติกเทียม ติดมาด้วย

= =") ประเด็นแบบนี้นักข่าวควรทำการบ้านหาความรู้หน่อยนะคือการที่เด็กเล็กดูยูทิวป์แล้วสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อันนี้เรื่อง…

โพสต์โดย Drama-addict บน 15 มกราคม 2018

หมอชี้! เด็ก 4 ขวบเก่งอังกฤษ
เพราะมือถือไม่ใช่เรื่องดี! เสี่ยง ออทิสติกเทียม

ทั้งนี้ด้าน พญ.กุลนิดา เต็มชวาลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้บอกกับทางเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ว่า…

ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีหรือชื่นชม เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่ออิเล็คทรอนิกส์มากจนเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กในอนาคตและต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเร่งด่วนด้วยซ้ำ

การปล่อยให้มือถือกลายเป็นพ่อแม่ของเด็กไม่ใช่เรื่องที่ดี อุปกรณ์พวกนี้เป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่ใช่วิธีการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ที่ถูกต้อง หน้าจอมันไม่สามารถตอบโต้ ชี้ถูกผิดหรือบอกความหมายของสิ่งต่างๆ ให้เขาเข้าใจ เขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษได้ เรียกว่าพูดภาษายูทูปได้เท่านั้น

ซึ่งคุณหมอยังบอกอีกว่า…จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่า กุมารแพทย์ทั่วโลกชี้ว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี ไม่ควรสัมผัสกับหน้าจอและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ใดๆ ทั้งสิ้น

“เด็กเล็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เห็นคือชีวิตจริงหรือชีวิตเสมือนในจอ และทำให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมีปัญหา เช่น หากเขาอารมณ์ไม่ดีก็จะไม่ตอบโต้กับผู้อื่นและอยู่ในโลกส่วนตัวของเขาผลเสียคือ ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ช้าลงโดยเฉพาะด้านภาษา” สิ่งที่น่ากลัวเมื่อปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์มากเกินไป คือ ภาวะ ออทิสติกเทียม ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ การมีปฏิสัมพันธ์และทักษะทางสังคมบกพร่อง

>> ไปทำความรู้จักกับ “ออทิสติกเทียมพร้อมวิธีป้องกัน” คลิกหน้า 3


ขอบคุณที่มาจาก : www.posttoday.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

พฤติกรรมคล้ายออทิสติก หรือ ออทิสติกเทียม คืออะไร

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เช่น ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับลูก เป็นต้น

แต่การให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ One-way Communication หรือการรับสารเพียงทางเดียว จึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม คือ…

เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ มีความผิดปกติทางด้านภาษา คือ เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทั้งวัน

และท้ายที่สุดมีความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ นอกจากนี้ยังมีผลต่อพัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติทางสมอและมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ นั่นคือ อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จ นั่งทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้

ออทิสติก VS ออทิสติกเทียม

โรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียม จะเกิดจาก “ขาดการกระตุ้น” เป็นหลัก และถึงแม้ว่าทั้งสองอย่างจะมีลักษณะอาการคล้ายกัน แต่เด็กที่เป็นออทิสติกเทียมหากได้รับ “การกระตุ้น” ที่เหมาะสมถูกทางในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะสามารถกลับมาเป็นเด็กปกติได้

ในขณะที่เด็กออทิสติกยังคงมีพฤติกรรมที่ต่างจากเด็กปกติถึงแม้จะได้รับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการแล้ว อย่างไรก็ตามเด็กที่เป็นออทิสติกหากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมก็สามารถมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้อย่างมาก

√ วิธีการป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกล ออทิสติกเทียม

1. พูดคุยกับลูกบ่อยๆ

ในกรณีสำหรับเด็กเล็กต้องพูดช้าๆ ชัดๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การออกเสียงและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดู อย่างน้อยควรคุยกับเด็กวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบ Two-way Communication โต้ตอบระหว่างกัน และให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ที่ช่วยในการสื่อสาร ตลอดจนเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเด็กด้วยกันเองบ้าง

2. หลีกห่างสมาร์ทโฟน

ในการเลี้ยงลูกช่วง 1.5 ขวบปีแรก ไม่ควรนำสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาให้เด็กเล่น ในเด็กหลัง 1.5 ขวบหากให้เล่นต้องไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยหลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นเพียงลำพัง ขณะเดียวกันต้องมอบความรักความอบอุ่น รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้วยการเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการสมองและร่างกาย เช่น การต่อบล็อก ร้อยเชือก ระบายสี ปั้นแป้ง เตะบอล ขี่จักรยาน เพราะการเจริญวัยของลูกน้อยในวัยนี้เป็นดั่งช่วงขุมทรัพย์สมองเด็กที่จะเจริญเติบโตมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นวัยแห่งการเลียนแบบ ดังนั้นของเล่นที่ดีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือพ่อกับแม่

ทั้งนี้หากเด็กมีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก หรือออทิสติกเทียม  คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะสามารถหายขาดและหายไวได้ถ้ารู้โดยเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่พบว่ามีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกถ้าทำการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน และกลับมาเป็นเด็กปกติได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่กำลังสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าลูกเป็นออทิสติกหรือมีพฤติกรรมที่คล้าย
ออทิสติกหรือไม่ ควรนำเด็กเข้ารับการตรวจเช็กพัฒนาการกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอาการที่ถูกต้อง และไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะวัย 5 ขวบแรกเป็นช่วงวัยที่สมองของเด็กมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ต้องป้องกันและรีบรักษาให้ถูกวิธี

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokhospital.com