โรค PCOS กับการตั้งครรภ์ มีลูกยาก อยากมีลูกทำอย่างไร - Amarin Baby & Kids
โรค PCOS

โรค PCOS กับการตั้งครรภ์ มีลูกยาก อยากท้อง อยากมีลูกต้องทำอย่างไร

event
โรค PCOS
โรค PCOS

โรค PCOS (Polycystic Ovary Syndrome)  หรือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ  ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนในร่างกาย อาทิ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน เทสโทสเทอโรน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดโตขึ้น และอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น หรือขนขึ้นบริเวณใบหน้าหรือตามตัวมากผิดปกติ หรือมีบุตรยากซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาในการตั้งครรภ์ โดยอาการนี้มักพบมากขึ้นในวัยรุ่น และพบมากถึง 1 ใน 10 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่อยากมีลูก แต่มีภาวะ PCOS นั้นควรทำอย่างไรดี

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ

โรค PCOS กับการตั้งครรภ์ ส่งผลให้มีลูกยาก

กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบในหรือภาวะ PCOS เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาสำหรับว่าที่คุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ โรค PCOS ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะ PCOS ได้ อาทิเช่น

มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

ความผิดปกติของฮอร์โมนที่มักพบในผู้ป่วย PCOS คือ

  • ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (Androgen) มากผิดปกติ หากร่างกายเปลี่ยนแอนโดรเจน เป็นเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากรังไข่ของเพศหญิง เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไปจะส่งผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ ที่มีผลต่อการตกไข่ ทำให้ร่างกายอาจมีไข่ตกบ้าง ไม่ตกบ้าง หรือบางครั้งอาจไม่มีไข่ตกเลยก็ได้ ซึ่งการที่ไม่มีไข่ตกนี้จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ยิ่งมีไข่ตกน้อยเท่าโหร่โอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลงไปด้วย
  • มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนปริมาณสูงกว่าปกติ เทสโทสเทอโรนหนึ่งในฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติในเพศหญิงจะมีฮอร์โมนชนิดนี้ในปริมาณต่ำ แต่หากระดับเทสโทสเทอโรนที่สูงมากกว่าระดับทั่วไป ก็จะส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้
  • มีฮอร์โมนลูทิไนซิงที่ช่วยกระตุ้นการตกไข่ปริมาณสูงกว่าปกติ หากมีปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่ปกติ
  • ฮอร์โมนโพรแลกตินมีปริมาณสูงกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมหลั่งน้ำนมในแม่ที่ตั้งครรภ์ หากมีปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ แต่จะพบในเฉพาะผู้หญิงสาวบางรายเท่านั้น
  • SHBG หรือ Sex Hormone Binding Globulin เป็นโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ช่วยควบคุมปฏิกิริยาของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่มีต่อร่างกาย หากปริมาณ SHBG ต่ำลงจะส่งผลให้ร่างกายผิดปกติจากฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้น

*ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุ ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หรือสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน รวมถึงภาวะดื้ออินซูลิน ที่ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณเปลี่ยนไป (ข้อมูลจาก : www.pobpad.com)

เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน

ภาวะดื้ออินซูลินหรือภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองกับปริมาณอินซูลินปกติ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิด PCOS ที่ส่งผลให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรนมากขึ้นไปด้วย โดยปริมาณที่ร่างกายมีอินซูลินในกระแสเลือดและเทสโทสเทอโรนมากผิดปกติ จะกระทบต่อการสร้างถุงน้ำในรังไข่ การตกไข่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และภาวะอ้วน เป็นต้น

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือดป่วยเป็นโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ จะมีความเสี่ยงต่อการได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นโรค PCOS มากกว่าบุคคลอื่น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักวิจัยกำลังศึกษาถึงยีนส์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคนี้ แต่สาเหตุนี้ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ชัดเจน

สำหรับคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ในขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ อีกทั้งยังความเสี่ยงแท้งบุตร ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์หรืออาจคลอดก่อนกำหนด

อาการของโรค PCOS

ผู้ป่วยโรค PCOS หรือของโรคถถุงน้ำหลายใบในรังไข่ที่พบได้ทั่วไปมีอาการที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน  บางรายอาจแสดงอาการออกมาชัดเจน แต่บางรายก็แทบไม่แสดงอาการใด ๆ  ซึ่งอาการของโรคมักมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวและมีความผิดปกติเพิ่มขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยสามารถสังเกตอาการหลัก ๆ ได้ดังนี้

โรค pcos กับการตั้งครรภ์

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจมาขาด ๆ หาย ๆ มาไม่สม่ำเสมอ หรือมีประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
  • มีการตกไข่ที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล
  • มีลูกยาก ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรค PCOS บางราย อาจมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือนหรือบางรายอาจไม่ตกไข่ จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยาก
  • ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาย เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายบางชนิดที่สูงขึ้น เช่น มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าผู้หญิงปกติทั่วไป มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรมซึ่งทำให้ผมร่วงและผมบาง และทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจและความมั่นใจลงได้
  • ผู้ป่วยโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ มากกว่าร้อยละ 50 มีระดับฮอร์โมนอินซูลินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ทั้งนี้ยังมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีความเสี่ยงระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูงและความดันโลหิตสูงอีกด้วย
  • อาการอื่น ๆ เช่น อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ   ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทำให้บางรายพบว่ามีภาวะอ้วนร่วมด้วย เป็นต้น

เป็น PCOS มีลูกยาก อยากท้อง อยากมีลูกต้องทำอย่างไร

วิธีการรักษาโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่มักแตกต่างกันไปตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น โรคอ้วน ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือภาวะมีบุตรยาก ซึ่งมีวิธีรักษาและช่วยลดภาวะ PCOS อาทิเช่น

1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารที่เหมาะสม

การเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะ PCOS ลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัว และช่วยมีลูกง่ายขึ้น โดยแบ่งโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วย PCOS ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มอาหารที่ควรรับประทาน

  • อาหารที่มีอิโนซิทอล ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ สำหรับแหล่งอาหารที่พบอิโนซิทอล เช่น ตับวัว จมูกข้าวสาลี กากน้ำตาล ถั่วลิสง ลูกเกด แคนตาลูป กะหล่ำปลี เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน
  • อาหารเน้นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น ไก่ ปลา กุ้ง เต้าหู้ และโปรตีนจากพืช อาหารกลุ่มนี้จะช่วยให้อิ่มนาน ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว  ช่วยรักษาสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด และยังช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงอีกด้วย
  • อาหารประเภทที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ถั่วอัลมอนด์ พิสตาชิโอ วอลนัท เป็นต้น รวมถึงผักผลไม้ต่างๆ  เพื่อช่วยลดระดับอินซูลินและช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงรักษาระดับสมดุลฮอร์โมนด้วย
  • อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงอย่าง ส้ม สับปะรด มะละกอ กีวี่ ฝรั่ง ผักชนิดต่าง ๆ เช่น ผักโขม บร็อคโคลี่ ผักคะน้า มะเขือเทศ ธัญพืชไม่ขัดสีชนิดต่างๆ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท รวมถึงแหล่งอาหารไขมันไม่อิ่มตัว เช่น อะโวคาโด เป็นต้น อาหารกลุ่มนี้จะช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน

กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  •  อาหารผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส นม หรือโยเกิร์ตที่มีน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยนมหรือมีระบบจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมจะเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนและกระบวนการอักเสบในร่างกาย
  • อาหารประเภทน้ำตาลหรือที่ผ่านการแปรรูป เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ โยเกิร์ต คุ้กกี้ ไอศกรีม หรืออาหารที่ปรุงรสด้วยน้ำตาลมาก ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบและภาวะดื้ออินซูลิน
  • ข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว พิซซ่า พาสต้า เป็นต้น การจำกัดปริมาณการกินอาหารกลุ่มนี้จะช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นปัจจัยหนึ่งต่อการเป็น PCOS
  • ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น ในอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารผัดทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เป็นต้น เพื่อลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย และเพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้

2.กินยาคุมช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ

คุณหมอจะแนะนำให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมหรือแบบฮอร์โมนตัวเดียว โดยตัวยาจะช่วยทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทั้งยังช่วยให้เกิดภาวะไข่ตก เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เมื่อมีประจำเดือนปกติ

3.รับประทานยาช่วยให้มีการไข่ตกปกติ 

การตกไข่ที่ผิดปกติ เช่น ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่ เกิดจากสาเหตุที่ประจำเดือนมาผิดปกติ ส่งผลให้มีบุตรยาก คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานโคลมีฟีน ซึ่งเป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยให้การตกไข่เป็นไปตามปกติ หรือให้ยาเมทฟอร์มินเสริมหากกรณีรับประทานยาโคลมีฟีนแล้วการตกไข่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ หรือหากใช้ทั้งสองตัวยาไม่เป็นผลก็อาจเปลี่ยนวิธีการรักษาด้วยการฉีดโกนาโดโทรปิน ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติงและฮอร์โมนลูทิไนซิงเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตกไข่ปกติ อย่างไรก็ตามการฉีดโกนาโดโทรปินอาจเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แฝด

โรค pcos อยากมีลูก

4.เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นหนึ่งวิธีในการช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ป่วยโรค PCOS และสามีภรรยาที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพร่างกายของทั้งคู่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

5.เสริมสร้างสุขภาพที่ดี

นอกจากการปรับพฤติกรรมด้านการกินแล้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยทำให้ฮอร์โมนในร่างกายมีความสมดุล ที่จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ลดภาวะการเกิดโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

ทั้งนี้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือว่าที่คุณแม่ที่วางแผนจะมีบุตรควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หากพบความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนหายไปครั้งละนาน ๆ หรือมาแบบกะปริดกะปรอย สิวขึ้นหรือขนขึ้นผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการ หรือปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับโรค PCOS เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยที่ดีที่สุดสำหรับการวางแผนตั้งครรภ์.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.comwww.hellokhunmor.comwww.samitivejhospitals.com
ข้อมูลโภชนบำบัดสำหรับ PCOS โดย ภนิตา จตุรวิทย์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ผู้จัดการศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเทพธารินทร์

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก :

ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง!

มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายเงียบ ทำผู้หญิงเสียชีวิตมากกว่ารอด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up