6 แมลงมีพิษ สัตว์ร้าย ที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก - Amarin Baby & Kids
แมลงมีพิษ

5 แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

event
แมลงมีพิษ
แมลงมีพิษ

ช่วงฤดูฝนไม่ใช่ระวังแค่โรคภัยไข้เจ็บที่มักมากับฝนเพียงอย่างเดียว สำหรับบ้านที่มีเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังและป้องกันเหล่า แมลงมีพิษ สัตว์ร้ายที่ไม่ได้รับเชิญ แฝงตัวมากับหน้าฝนเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกและคนในครอบครัว

5 แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

แมลงที่มากับฝน
แมลงที่มากับฝน

1.แมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดก เจ้าสัตว์ร้ายตัวเล็กที่ต้องระวังให้เป็นอย่างดีทีเดียว แมลงก้นกระดกจะมีลักษณะลำตัวเป็นปล้อง ๆ มีสีดำสลับสีแดงหรือสีแดงอมส้ม มักพบในที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำหรือตามพงหญ้า และมักระบาดในหน้าฝน ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยโดนพิษของแมลงก้นกระดกมากที่สุดในช่วงฤดูฝน โดยเมื่อไปสัมผัสที่ตัวแมลงก็จะปล่อยสารพิษที่เป็นของเหลวออกมา จะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนมาก มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส ซึ่งอาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีแต่จะเริ่มเกิดผื่นแดงมีลักษณะเป็นทางยาวและเกิดอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ถ้าผิวหนังเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อย จะสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มหนองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับแมลงก้นกระดก

  • เมื่อโดนพิษให้รีบล้างผิวด้วยน้ำเปล่าและฟอกสบู่ทันที จากนั้นจุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้ง และประคบเย็นบริเวณที่สัมผัสกับแมลงโดยตรง ถ้ามีอาการอักเสบรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที

วิธีป้องกันอันตรายเมื่อเจอแมลงก้นกระดก

  • สอนลูกให้ทำความรู้จักกับแมลงมีพิษชนิดนี้ เมื่อพบเจอห้ามจับ ตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า และอย่าเข้าใกล้โดยเด็ดขาด
  • เมื่อเจอแมลงก้นกระดกให้กวาดทิ้ง หรือใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป
  • หากใช้ยาฆ่าแมลงพ่น ต้องกวาดแมลงใส่ถุงและมัดปากถุงให้สนิท เพราะแมลงไม่ว่าจะมีชีวิตหรือตายก็สามารถปล่อยพิษได้
  • เช็กช่องโหว่จากหน้าต่าง ประตู ให้ปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้แมลงต่าง ๆ เล็ดลอดเข้ามาได้

2.ยุง

ยุง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นชุกชุมในช่วงหน้าฝน โดยเพราะน้ำขังตามแหล่งต่าง ๆ ที่ยุงสามารถไปวางไข่ ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดยุงมากมายหลายสายพันธุ์ ที่นอกจากจะกัดลูกน้อยและคนในครอบครัวเป็นตุ่มแดงและคันแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคอันตรายที่มักแพร่ระบาดในหน้าฝน เช่น

  • โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะ มักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี อาการเบื้องต้นจะคล้ายอาการไข้หวัดแต่หากเป็นไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมาก ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเบื่ออาหาร ในบางรายอาจอาเจียน และพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดขึ้นตามร่างกาย
  • โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นป่องเป็นพาหะ จะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกอ่อนเพลีย หนาวสั่น หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดปากซีดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย หากมีอาการรุนแรงส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • โรคไข้สมองอักเสบ มียุงรำคาญเป็นพาหะ หลังรับเชื้อ 5-15 วัน จะมีอาการไข้สูง อาเจียน ปวดหัว อ่อนเพลีย และเริ่มส่งผลผิดปกติที่สมอง เมื่อรักษาโรคหายจะมีโอกาสผิดปกติจากอาการทางสมองหลงเหลือ เช่น พูดไม่ชัด เกร็ง ชัก หรือสติไม่ค่อยปกติ เป็นต้น หากมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ข้อมูลจาก : www.sanook.com 

วิธีป้องกันและกำจัดยุง

  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงบริเวณที่มีน้ำขังรอบบ้าน ทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำในแจกัน ในกระถางทุกสัปดาห์ ปิดโอ่ง ปิดถังให้สนิทมิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงไปวางไข่
  • ป้องกันคนในครอบครัวไม่ให้โดนยุงกัดด้วยการติดมุ้งลวด ทายากันยุง นอนกางมุ้ง และปิดประตูทุกครั้งที่เข้า-ออก
  • ปลูกพืชกันยุง เช่น ตะไคร้หอม หรือใช้การบูรวางไว้ตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง เพื่อไล่ยุง
ตะขาบเข้าบ้าน
ตะขาบเข้าบ้าน

3.ตะขาบ

ตะขาบ เป็นสัตว์มีพิษที่อันตรายอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในช่วงหน้าฝนที่สภาพอากาศที่ชื้น เมื่อโดนตะขาบกัดจะเห็นเป็นรอยเขี้ยวมีจุดเลือด 2 จุด ลักษณะแผลเหมือนจะเป็นรอยไหม้ พิษของตะขาบจะทำให้มีอาการอักเสบ ปวด บวมแดง แสบร้อน ในบางรายที่แพ้พิษอย่างรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยหลังโดนกัด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และเกิดเป็นอัมพาตในบริเวณจุดที่ถูกกัด ทั้งนี้พิษของตะขาบยังไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกตะขาบกัด

ให้รีบล้างบริเวณแผลที่ถูกกัดด้วยยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ประมาณ 30 วินาที ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบเพื่อช่วยลดอาการปวดบวม และรับประทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด ในรายที่มีอาการแพ้พิษรุนแรงหรือไม่แน่ใจว่าสัตว์ที่กัดเป็นตะขาบหรือสัตว์ชนิดอื่นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

วิธีป้องกันตะขาบเข้าบ้าน

  • ตะขาบหรือสัตว์เลื้อยคลานจะชอบที่อับชื้น ดังนั้นต้องพยายามเคลียร์บ้านให้โปร่งโล่ง และสะอาดเรียบร้อย ไม่มีมุมอับและที่อับชื้น เพื่อลดที่ให้ตะขาบซ่อนตัว
  • ใช้ปูนขาวหรือโซดาไฟ ราดหรือโรยในจุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีตะขาบหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มักมากับความชื้นเข้ามา

4.กิ้งกือ

กิ้งกือ เป็นสัตว์ที่มักมากับหน้าฝนและความอับชื้น เหมือนดูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีพิษมีภัย แต่กิ้งกือบางชนิดสามารถปล่อยสารพิษที่เป็นของเหลวออกจากบริเวณรอยต่อของข้อปล้อง หรือบางชนิดอาจปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัว แม้ว่าสารพิษดังกล่าวจะไม่ค่อยส่งผลต่อร่างกาย แต่หากเด็ก ๆ หรือคนที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย เมื่อไปสัมผัสโดนพิษก็อาจทำให้เกิดอาการแสบ คัน ผิวหนังไหม้ หรือเป็นรอยแดงที่ผิวได้

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกพิษกิ้งกือ

ให้รีบทำความสะอาดบริเวณที่โดนพิษด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลาย ๆ รอบ และเช็ดทายาฆ่าเชื้อโรค เพื่อช่วยลดพิษกิ้งกือ แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคที่มาพร้อมกับกิ้งกือได้

วิธีป้องกันกิ้งกือเข้าบ้าน

  • ทำความสะอาดสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านทั้งภายในภายนอกให้เป็นระเบียบ กำจัดที่อับชื้น เช่น บริเวณใต้รองเท้า พรมเช็ดเท้า กองใบไม้ หรือตัดหญ้าให้สั้น และพยายามทำให้พื้นบ้านแห้ง
  • อุดรอยร้าว รูโหว่ เพื่อไม่ให้กิ้งกือหรือสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ เข้าบ้าน
แมงป่องเข้าบ้าน
แมงป่องเข้าบ้าน

5.แมงป่อง

แมงป่อง เป็นสัตว์มีพิษอีกชนิดที่แค่เห็นก็ทำให้ใจสั่นกลัว โดยเฉพาะพิษสงของพิษร้ายที่ปลายหางที่จะมีต่อมพิษและอวัยวะที่ใช้ต่อย แผลที่ถูกต่อยจะมีลักษณะเป็นรูเข็มหนึ่งรูและบางครั้งเป็นรอยไหม้ และมีอาการปวดแสบทันที และหลังจากนั้น 30 นาทีจะรู้สึกปวดมาก มีอาการบวมแดง และแสบร้อนที่แผล ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจะรู้สึกปวดหัว อาเจียน มีไข้สูง มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดตามร่างกาย ไปจนถึงอาการชักเกร็งได้ ดังนั้นเมื่อโดนแมงป่องต่อยให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที ทั้งนี้หากไม่รีบรักษาอาจเกิดอาการชัก น้ำคั่งปอด และอาจเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและระบบหายใจล้มเหลวได้

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงป่องต่อย

เมื่อถูกแมงป่องต่อยให้รีบแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด ประคบแผลด้วยผ้าห่อน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการปวดและให้เส้นเลือดหดตัว ซึ่งจะช่วยทำให้พิษกระจายตัวได้ช้าลง จากนั้นรีบไปพบแพทย์โดยทันที

วิธีป้องกันแมงป่องเข้าบ้าน

  • ดูแลความสะอาดบริเวณบ้าน ให้โล่ง โปร่ง โดยเฉพาะในมุมที่ซอกหลืบ เช่น ใต้กระถาง พื้นใต้หิน ในสวน ซึ่งเป็นที่ซ่อนตัวของแมงป่อง
  • ปิดช่องทางเข้าออก เช็กหรือซ่อมแซมร่องที่มีรูโหว่ให้มิดชิด และท่อน้ำควรหาตะแกรงหรือแผ่นไม้มาปิดกันเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางเข้าออกของสัตว์ต่าง ๆ
  • สอนลูกให้คอยปิดประตูทุกครั้งที่เข้า-ออก เพื่อเพื่อกันแมลงและสัตว์ต่าง ๆ เข้าบ้าน
  • ใช้กลิ่นหอม เช่น น้ำมันหอมระเหย วางไว้ในจุดเสี่ยง เช่น ประตูที่อยู่ใกล้สวน ในครัว หรือจุดที่มีความอับชื้นอย่างห้องน้ำ เพราะแมงป่องจะไม่ชอบเข้าใกล้กลิ่นหอมเหล่านี้

สัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน

งูที่มากับหน้าฝน

งู

งู มีทั้งมีพิษและไม่พิษ ขึ้นชื่อว่าสัตว์ร้ายที่น่ากลัวอันดับต้น ๆ ที่ต้องระวังให้ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่งูจะหนีน้ำจากที่เคยอยู่ใต้ดิน ก็อพยพขึ้นมาสู่ที่สูงหรือมาอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้น ที่รก เฉอะแฉะ และมีแหล่งอาหาร อาทิ บนเต้นไม้ เสาไฟฟ้า และอาจเข้าบ้านมาในแบบที่เราไม่รู้ตัว อาจจะขดตัวหลบซ่อนอยู่ในที่ลับตา เช่น ในรองเท้า ใต้ผ้าห่ม เป็นต้น ในงูที่ไม่มีพิษนั้นเมื่อถูกกัดก็สามารถทำให้บาดเจ็บได้ แต่ถ้าเป็นงูพิษก็จะอันตรายมากยิ่งขึ้น หากได้รับพิษงูก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับเซรุ่มอย่างทันท่วงที ทั้งนี้จากข้อมูลของ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ได้แบ่ง “งูพิษ” ที่พบบ่อยในประเทศไทย ออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่

  • งูพิษต่อระบบประสาท เช่น งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม เป็นต้น โดยเมื่อถูกกัดพิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต โดยเนิ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็กไปจนถึงกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการโดนงูพิษกัดเริ่มแรกจะหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น กลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ ไปจนถึงหยุดหายใจ และเสียชีวิต
  • งูพิษต่อระบบเลือด เช่น งูแมวเซา เมื่อถูกกัดจะมีอาการปวดบวมรอบแผลเล็กน้อย และอาจพบพบภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยได้ งูกะปะ เมื่อถูกกัดจะพบตุ่มน้ำเลือด และมีเลือดออกจากแผลที่ถูกกกัดและงูเขียวหางไหม้ เมื่อถูกกัดจะทำให้เกิดอาการบวมบริเวณที่ถูกกัดและลุกลามมากขึ้น เช่น ถ้าถูกกัดนิ้วมือแต่จะบวมทั้งแขน นอกจากนี้มีอาการช้ำเลือด เนื่องจากพิษจพะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว จะพบเลือดออกไม่หยุดในอวัยวะภายใน ในทางเดินอาหาร สมอง ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น
  • งูพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล เมื่อถูกกัดจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว ปัสสาวะมีสีเข้มจนถึงสีดำ มีปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน และอาจมีหัวใจหยุดเต้นจากภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือด

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

สังเกตว่าถ้าเป็น งูพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผลเสมอ แผลที่ถูกงูพิษกัดจะมีลักษณะเหมือนเข็มตำ และมีเลือดออกซึม ๆ ถ้าเป็นงูที่ไม่มีพิษจะไม่มีรอยเขี้ยว นอกจากนี้งูพิษกัดบางครั้งจะกัดแต่ไม่ปล่อยพิษก็เป็นได้ ทั้งนี้เมื่อถูกงูกัดอย่าพยายามเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัด และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

การป้องกันงูเข้าบ้าน

  • ดูแลรักษาจัดสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง โดยเฉพาะภายในครัวและถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู ซึ่งคือแหล่งอาหารของงูก็คือหนู ที่จะดึงงูเข้ามาได้
  • ตรวจสอบหลังคา ระบบท่อน้ำ ไม่ให้มีรู้รั่ว หรือรอยแตก เพื่อปิดช่องทางเข้าออกของหนูและงู
  • ป้องกันด้วยการวางกลิ่นที่งูไม่ชอบ เช่น กลิ่นน้ำมันก๊าด ส้ม มะกรูด วางไปตามจุดต่าง ๆ ที่คาดว่างูจะเข้ามาใกล้ได้ เช่น ท่อน้ำ ถังขยะ หน้าต่างใกล้ต้นไม้ เป็นต้น
  • หากพบงูเข้าบ้าน โทรติดต่อสายด่วน 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจับงู

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค  แนะนำว่าควรระมัดระวังการเจ็บป่วยในช่วงฤดูฝน ควรหมั่นสำรวจตามบริเวณตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า ฝ้าเช็ดเท้า ท่อต่าง ๆ หรือตามขอบประตูของบ้าน เพราะอาจพบสัตว์มีพิษที่หนีฝนมาอาศัยหลบซ่อนอยู่กัดต่อย  เนื่องจากในช่วงที่ฝนตกและมีน้ำท่วมฉับพลัน อาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่าง ๆ ของบ้าน เช่น  ตู้เก็บของ ในครัว เป็นต้น ข้อคำแนะนำในการป้องกัน คือ

  1. ควรจัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ ทำความสะอาดตามซอกหลืบ และสอดส่องตามมุมอับของบ้านเป็นประจำ ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
  2. สำรวจสิ่งแปลกปลอมก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง เพราะอาจมีตะขาบหรือแมงป่องไปอาศัยอยู่ หากพบเจอสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดี และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย

ที่มา : www.thaihealth.or.th

จะเห็นได้ว่าทั้งแมลงและสัตว์แต่ละชนิดที่มีพิษที่มากับสายฝนนั้นน่าขยาดหวาดกลัวและอันตรายมาก ๆ ทีเดียว เรียกได้ว่าอย่ามาให้ได้เห็นกันเลยดีกว่า โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตรอบบ้านและจัดบริเวณให้สะอาดเป็นระเบียบอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาหลบซ่อนในบ้านได้ และควรได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้สัมผัสกับแมลงมีพิษหรือสัตว์ร้ายต่าง ๆ ที่เป็นพาหะนำโรคด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สอนลูกให้รู้จักหน้าค่าตาและพิษภัย เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัวนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.newtv.co.thwww.kapook.comwww.springnews.co.thwww.realasset.co.th

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

5 เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน พ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องระวัง !

6 โรคที่มากับหน้าฝน ในเด็กที่ต้องระวัง รู้เท่าทันป้องกันลูกป่วย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up