กลากน้ำนม เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่น่าจะคุ้นชื่อกับโรคกลากน้ำนมกันอยู่บ้าง แต่อาจยังไม่ทราบสาเหตุว่าแท้จริงแล้วกลากน้ำนมนั้นมีสาเหตุจากอะไร แล้วจะมีวิธีรักษาให้หายขาดได้ไหม หากเด็กๆ เป็นโรคนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของกลากน้ำนม มาให้ได้ทราบกันค่ะ
กลากน้ำนม คืออะไร ?
กลากน้ำนม หรือ เกลื้อนน้ำนม(Pityriasis alba) ซึ่งชื่อตามทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคด่างแดด โรคนี้มาจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ตามปกติ ทำให้ผิวหนังจางลงจนกลายเป็นวงด่างขาว
กลากน้ำนมเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กวัยตั้งแต่อายุประมาณ 3-16 ปี และประมาณ 90% ของผู้ป่วยด้วยโรคด่างแดดจะมีอายุน้อยกว่า 12 ปี
Good to know… “กลากน้ำนม (เกลื้อนน้ำนม) เป็นโรคที่หายได้เอง และไม่ทิ้งร่องรอยด่างหรือแผลเป็นไว้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นได้อีกครั้งหากผิวตรงบริเวณที่เคยเกิดโรคได้รับการกระตุ้น เช่น ถูกแสงแดดจัด การเล่นกีฬาว่ายน้ำกลางแจ้ง ฯลฯ กลากน้ำนม จะหายได้เองภายในเวลาเป็นเดือน หรือ หนึ่งปี”
อ่านต่อ >> “เกลื้อนน้ำนม มีอาการอย่างไร?” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
กลากน้ำนม มีอาการอย่างไร ?
วงดวงด่างสีขาวจางเล็กๆ บนใบหน้าของเด็กๆ คืออาการแสดงของเกลื้อนน้ำนมนั่นเองค่ะ ซึ่งวงด่างขาวจะมีขนาดประมาณ 1-4 เซนติเมตร หากสังเกตดูใกล้ๆ จะพบว่ามีลักษณะเป็นขุยบางๆ สำหรับเด็กๆ ที่เป็นกลากน้ำนมจะไม่มีอาการเจ็บหรือคันแต่อย่างใด มักพบว่าเกิดขึ้นตรงบริเวณแก้ม แขน ขา ลำตัว และไหล่ วงด่างขาวในระยะแรกอาจเป็นผื่นแดงเล็กน้อย จากนั้นจะค่อยๆ กลายเป็นด่างขาว โดยระยะที่ผื่นแดงจะสังเกตไม่ค่อยเห็นชัดเจนเท่าไหร่นัก
กลากน้ำนมมีสาเหตุจากอะไร?
เวลาที่เด็กๆ มีวงด่างสีขาวขึ้นบริเวณใบหน้า คุณพ่อคุณแม่มักจะกังวลว่า โรคนี้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุใด แล้วจะรักษาจนหายขาดได้หรือไม่? สำหรับโรคกลากน้ำนม มีสาเหตุมาจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ตรงชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสี (Pigment)ได้ตามปกติ จึงทำให้ผิวหนังกลายเป็นรอยด่างขาว ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีเกิดความผิดปกติ ยังไม่ทราบสาเหตุที่บอกถึงอาการอย่างชัดเจน แต่อาจจะเป็นเพราะการแพ้ลมหรือแพ้แสงแดด การติดเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งการใช้สบู่ที่มีด่างมาก และเพราะน้ำเหลืองเสีย ซึ่งจะทำให้ผิวหนังมีภาวะที่ไวต่อลมและแสงแดด
Good to know… “การป้องกันโรคด่างแดด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ถ้าต้องโดนแดด ควรใช้ยากันแดดที่มีค่า SPF15 หรือมากกว่า โรคด่างแดดหากไม่โดนแดดจัดจะค่อยๆ จางลง อาจใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นหรือครีมสตีรอยด์อย่างอ่อนทารอยอาจจางลงเร็วขึ้น”
อ่านต่อ >> “โรคด่างแดด กับการดูแลรักษาเบื้องต้น” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อเกิดเป็นเกลื้อนน้ำนม
ส่วนมากแล้วหากพบว่าลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่มีอาการของกลากน้ำนม หรือเกลื้อนน้ำนม คุณหมอมักจะแนะนำให้ดูแลรักษาในเบื้องต้น คือ
- ทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) และครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันโดยเฉพาะบริเวณรอยโรค
- อาบน้ำ ทำความสะอาดผิวบริเวณรอยโรคด้วยสบู่ที่อ่อนโยน เช่น สบู่เด็กอ่อน
- บริเวณรอยโรค ถ้าใช้เครื่องสำอางต้องเป็นชนิดไม่แพ้และชนิดอ่อนโยนต่อผิวหนัง
- อาบน้ำที่อุณหภูมิปกติ หรือเพียงพออุ่น ไม่อุ่นจัด
Good to know… “กลากน้ำนมมักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก คือ ระยะ 3 ขวบ จนถึงวัยเป็นหนุ่มสาวเต็มที่ คือ 16-17 ปี และเกิดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ไม่ใช่จะเกิดเฉพาะคนในอายุระหว่างนี้เท่านั้น เด็กที่อายุน้อยกว่านี้ หรือคนโตที่อายุมากกว่านี้ก็เป็นกลากน้ำนมได้”
วิธีป้องกันโรคเกลื้อนน้ำนม
- ควรให้เด็กๆ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแสงแดดจัดๆ ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นตากแดดตากลมมากเกินไป และควรทาครีมกันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF 15 ทุกครั้งที่ต้องออกแดด
- ทุกครั้งหลังอาบน้ำ คุณแม่ควรทาโลชั่น หรือครีมบำรุงผิวสำหรับเด็ก เพื่อรักษาผิวให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา และหากต้องอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรหมั่นทาโลชั่นให้ลูก เพราะอากาศเย็นๆ จะยิ่งทำให้ผิวแห้งได้
- ควรเลือกใช้เป็นสบู่เด็กที่อ่อนต่อผิว มากกว่าสบู่ทั่วไป
อ่านต่อ >> “5 วิธีการรักษาโรคเกลื้อนน้ำนม ให้หายขาด” หน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5 วิธีรักษากลากน้ำนม1
- หากมีผื่นผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
- ถ้าพบว่าเป็นกลากน้ำนมจริง แพทย์จะให้ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ความเข้มข้นต่ำ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.02% (TA / Triamcinolone acetonide 02% cream), ครีมไฮโดรคอร์ติโซน 1-2% (Hydrocortisone 1-2% cream) โดยให้ทาวันละ 1-2 ครั้ง ในระยะเวลาที่จำกัดภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- การทาด้วยครีมสเตียรอยด์นี้อาจใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กว่าจะหาย (บางรายอาจได้ผล แต่บางรายอาจจะไม่ได้ผล)
- ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ความเข้มข้นสูงหรือชนิดที่แรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวหนังเป็นรอยด่างขาวจากยาได้ ซึ่งจะรักษาให้หายได้ยาก
- ห้ามซื้อยาทาประเภทแสบร้อนหรือขี้ผึ้งเบอร์ต่าง ๆ มาใช้ทา เพราะอาจทำให้หน้าไหม้เกรียม หรือหนังแห้งเป็นผื่นดำได้
- ถ้าหากแยกกันไม่ออกระหว่างกลากน้ำนมกับเกลื้อน ให้ลองรักษาแบบเกลื้อนดูก่อน หรือถ้าใช้ครีมสเตียรอยด์ทาแล้วรอยโรคกลับลุกลามมากขึ้นก็อาจเป็นเกลื้อนได้ ควรหยุดยาสเตียรอยด์ และให้ใช้ยาฆ่าเชื้อรารักษาเกลื้อนแทน
- การใช้สำลีชุบน้ำนมแม่นำมาเช็ดบริเวณที่เป็นรอยโรคให้ลูกทุกวัน หรือการใช้ดอกมะลิแช่เย็นและนำมาขยี้เบาๆ ใช้ถูบริเวณที่เป็นรอยโรค ร่วมไปกับการรักษาความสะอาดต่าง ๆ ให้ดี เช่น การใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดเบา ๆ การเปลี่ยนเสื้อ เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้า หรือผ้ากันเปื้อนบ่อย ๆ จะช่วยให้รอยด่างขาวจางลงและหายไปได้เร็วขึ้น
- สำหรับการดูแลตนเองในระหว่างที่เป็นกลากน้ำนม ควรปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามอย่าตากแดดตากลมมากนัก เช่น ถ้าเคยเล่นกีฬาตอนแดดจัด ก็ให้เลื่อนมาเล่นตอนไม่มีแดด คือ ช่วงเช้าตรู่หรือตอนเย็นแทน และถ้าต้องโดนแดดก็ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดด้วยทุกครั้ง
- ควรทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณรอยโรค
- การอาบน้ำหรือการล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็นรอยโรค ควรใช้สบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่เหลว สบู่เด็ก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสำหรับเด็กอ่อน
- อาบน้ำอุณหภูมิปกติหรืออุ่นพอประมาณ ไม่อุ่นมากจนเกินไป
- การใช้เครื่องสำอางกับผิวบริเวณที่เป็นโรค ควรใช้เครื่องสำอางชนิดไม่แพ้และชนิดอ่อนโยนต่อผิวหนัง1
โรคเกลื้อนน้ำนมหากเป็นมาก อาจทำให้เด็กๆ หมดความมั่นใจได้ ดังนั้นหากพบว่าลูกเป็นโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะโรคนี้ หากรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยให้วงด่างขาวจางลงและหายขาดได้ …ด้วยความห่วงใยค่ะ
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!
7 โรคผิวหนัง ช่วงฤดูหนาว ที่เป็นได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ปัญหา “ผิวหนัง” ยอดฮิตของลูกเบบี๋
รับมืออย่างไร? เมื่อลูกติด “กลาก เกลื้อน” มาจากโรงเรียน
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1กลากน้ำนม.medthai.com
พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล แพทย์ผิวหนัง. กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม. haamor.com
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร. วิธีรักษากลากน้ำนม. doctor.or.th
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร.กลากน้ำนม. doctor.or.th