AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

จุ๊ดจู๋ ลูกชาย พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจ เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง

จุ๊ดจู๋ ลูกชาย พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจ

ว่าด้วยเรื่อง จุ๊ดจู๋ ลูกชาย ผู้เขียนเคยมีเพื่อนมาปรึกษาว่าควรจะขลิบหรือไม่ขลิบดี เรื่องนี้ละเอียดอ่อนควรปรึกษากับคุณหมอดีที่สุดค่ะ เพราะอาจจะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นเรื่องอวัยวะเพศลูกชายของทุกครอบครัวที่มีหลายๆ เรื่องข้องใจ และอยากได้คำตอบ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีความรู้ในเรื่อง จุ๊ดจู๋ของลูกชาย แบบกระจ่างจากคุณหมอ มาฝากค่ะ

 

จุ๊ดจู๋ ลูกชาย พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจ เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกกันมาก่อน บางครั้งอาจพบว่าการดู จุ๊ดจู๋ ลูกชาย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมักจะมีข้อมูลจากญาติผู้ใหญ่ว่าให้ทำแบบนั้นแบบนี้ซิลูกจะได้ฉี่สบาย หรือจะเป็นความรู้ใหม่ที่มีข้อมูลให้ศึกษาอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี เห็นแบบนี้แล้วก็ปวดหัวมึนงงตามไปด้วยเลยจริงๆ ค่ะ ^_^

วันก่อนได้มีโอกาสอ่านเรื่องของ “จู๋น้อยๆ” จากนายแพทย์แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ เจ้าของเพจดังเรื่องเล่าจากโรงหมอ” ที่คุณหมอมักจะมีเรื่องเล่าจากเคสจริงที่ได้รักษาคนไข้นำมาเขียนเล่าแบบให้สาระความรู้ ใส่รายละเอียดไว้อย่างครบถ้วนอ่านแล้วเพลินตั้งแต่ต้นจนจบเลยค่ะ

และครั้งนี้เห็นว่ามีแม่ๆ จากแฟนเพจ Amarin Baby & Kids ถามกันเข้ามาบ่อยๆ เกี่ยวกับการดูแล จุ๊ดจู๋ ลูกชาย ที่มีทั้งแบบมีปัญหา และเรื่องกังวลใจธรรมดาทั่วไป ครั้งนี้ผู้เขียนได้ขออนุญาตนำข้อมูลเรื่อง “จู๋น้อยๆ” จากคุณหมอแมนวัฒน์ มาให้คุณพ่อคุณแม่ที่อาจกำลังมีความสงสัย หรือมีปัญหาเดียวกับเคสที่คุณหมอนำมาเล่าให้ฟังเดียวกันนี้ ได้เข้าใจและจะได้ดูแล อวัยวะเพศชายของลูกกันได้อย่างถูกต้องค่ะ

อ่านต่อ ลูกชายป่วยอวัยวะตรงปลายอักเสบ คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ลูกชายมีอาการหนังหุ้มปลายตีบ และอวัยวะเพศตรงปลายอักเสบ หมอให้การรักษาอย่างไร?

คุณหมอแมนวัฒน์ เขียนเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า มีคุณป้าพาหลายชายตัวน้อยมารักษาอาการ “เป็นไข้ ปัสสาวะออกแล้วเจ็บ ปลาย จู๋บวมตึง มีหนองไหลออก และร้องไห้งอแงตลอดเวลา” ซึ่งคุณหมอได้วินัจฉัยแล้วเกิดจาก หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศมีการ ตีบ+อักเสบ ทำให้อวัยวะเพศตรงปลายเกิดการอักเสบขึ้นมา ซึ่งหลานของคุณป้ามีอาการแบบนี้ที่เป็นๆ หายๆ มาหลายรอบแล้ว

คุณหมอจึงได้ปรึกษากับคุณหมอเด็ก ที่ได้ประเด็นความรู้ในการรักษาอยู่ 2 เรื่องคือ
1. ต้องแก้ด้วยการให้ความรู้ผู้ดูแลถึงการรักษาความสะอาดอวัยวะเพศชายอย่างถูกต้อง

  1. ต้องรักษาหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศที่ไม่เปิดและตีบ+อักเสบเรื้อรัง

จากเคสนี้คุณหมอได้ทำการรักษาด้วยการขลิบหนังหุ้มปลายออก เด็กจะมีอาการบวมที่อวัยวะเพศ และเจ็บอยู่วันสองวัน  จากนั้นอาการบวมเจ็บก็ค่อยๆ หายไป และเด็กสามารถปัสสาวะออกดี ไม่ร้องเจ็บอีก

จากเคสนี้คุณหมอแมนวัฒน์ ได้ให้ความรู้ในเรื่องของ จุ๊ดจู๋ ลูกชาย ไว้ตามนี้ค่ะ

“อวัยวะเพศชายถูกสร้างมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนโคน-ตรงกลางเป็นทรงกระบอก คั่นด้วยร่องและรอยหยัก ก่อนจะต่อมาเป็นส่วนหัวลักษณะกลมมน มีรูเปิดของท่อปัสสาวะตลอดทั้งอวัยวะเพศจะปกคลุมด้วยผิวหนัง แต่ส่วนหัว ผิวหนังที่คลุมจะเป็นเซลล์เยื่อบุ มีสองชั้นประกอบกันเป็นหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

ซึ่งหนังหุ้มปลายนี้จะติดรวมกับเยื่อบุที่ปกคลุมส่วนหัวของอวัยวะเพศ และจะมีการแยกออกจากกันได้เองตามธรรมชาติ โดยระยะเวลาในการแยกกันนี้ ในเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนเกิดมาแยกได้เลย บางคนแยกได้ในไม่กี่วัน แต่บางคนใช้เวลาเป็นปี ส่วนใหญ่จะมีการแยกกันได้ก่อนอายุ 5 ขวบ เมื่อมีการแยกอย่างสมบูรณ์เกิดขึ้น จะสามารถรูดหนังหุ้มปลายลงมาทางส่วนโคนเปิดส่วนหัวของอวัยวะเพศได้ทั้งหมด

การเปิดของส่วนหัวอวัยวะเพศนี้อาจเกิดขึ้นเองในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัว หรือจากการดึงรั้งจากภายนอกก็ได้ เด็กชายมักจะค้นพบการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้ได้เอง เมื่อร่างกายมีการเจริญเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กบางคนส่วนของหนังหุ้มปลาย อาจจะติดกับส่วนหัวของอวัยวะเพศไปจนโต และไม่สามารถรูดเปิดได้ ซึ่งหากไม่มีปัญหาในการปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ไม่นับเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด หนังหุ้มปลาย มีหน้าที่สำคัญคือปกป้องส่วนหัวของอวัยวะเพศจากการเปื้อนและหมักหมมของอุจจาระ ปัสสาวะ หากตัดเอาส่วนนี้ออกไป และไม่มีการดูแลความสะอาดที่ดี จะเกิดการอักเสบของปลายท่อปัสสาวะ และส่วนหัวของอวัยวะเพศได้ง่าย”

คุณพ่อคุณแม่พอจะเข้าใจพื้นฐานความเป็นมาของอวัยวะเพศชายของลูกกันแล้วนะคะ ทีนี้เราจะมาต่อกันด้วยเรื่อง จุ๊ดจู๋  ของลูกกันต่อค่ะ เพราะคุณหมอได้ให้ความรู้ได้อย่างละเอียดอยู่อีกหลายประเด็ดเลยค่ะ  

อ่านต่อ การดูแลอวัยวะของทารกเพศชาย คลิกหน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การดูแลอวัยวะเพศ ของทารกที่ส่วนของหนังหุ้มปลายยังไม่เปิดทำอย่างไร?

ไม่ต้องทำอะไร เพียงระวังอย่าให้มีการอับชื้นนานๆ จากปัสสาวะหรืออุจจาระ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนี้อักเสบ อาบน้ำ หรือเช็ดตัวตามปกติ และทำความสะอาดอวัยวะส่วนนี้ไปด้วยพร้อมกัน ไม่ต้องใช้น้ำยาพิเศษใดๆ  *อย่าพยายามใช้  แรงรูดเปิด หรือใช้ไม้พันสำลีเข้าไปเช็ดทำความสะอาด อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อบุ เกิดการติดเชื้อ อักเสบ และมีการตีบของปลายท่อปัสสาวะ/หนังหุ้มปลายตามมาได้

การดูแลอวัยวะเพศของทารก ที่สามารถรูดเปิดหนังหุ้มปลายได้แล้ว หรือทำการผ่าตัด “ขลิบ” หนังหุ้ม ปลายออกไปแล้ว ทำอย่างไร?

ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ทุกครั้งที่อาบน้ำ หรือเช็ดตัวทำความสะอาด ให้รูดเปิดส่วนหัวของอวัยวะเพศออกมาล้าง ทำความสะอาดไปด้วยพร้อมกัน แล้วรูดปิดกลับ (ถ้าขลิบก็ไม่ต้องรูดครับ ส่วนหัวของอวัยวะเพศอยู่ภายนอกอยู่แล้ว) เมื่อ เด็กโตขึ้น สอนให้รูดเปิดมาล้างทำความสะอาดด้วยตนเองในขณะอาบน้ำเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

 “ขลิบ” คืออะไร ทำให้ลูกดีไหม?

การขลิบหนังหุ้มปลาย คือการตัดเอาหนังส่วนนั้นออก เปิดให้ส่วนหัวของอวัยวะเพศออกสู่ภายนอก เป็นหัตถการที่ทำกันมานับพันปีตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ อาจนับเป็นพิธีกรรมหนึ่งในกลุ่มชาติอิสลาม และยิว ที่เด็กชายทุกคนต้องผ่าน ในสหรัฐอเมริกา การขลิบหนังหุ้มปลาย เป็นการผ่าตัดที่ทำมากที่สุดเป็นอันดับ 5 กว่า 60% ของเด็กชายอเมริกัน จะได้รับการทำหัตถการนี้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของความง่ายต่อการดูแล ส่วนในเอเชียนั้น ไม่เป็นที่นิยมนักเว้นสำหรับชาวมุสลิม

ข้อดีของการขลิบ

– ทำความสะอาดง่าย ไม่มีการหมักหมม

– เชื่อว่าทำให้อวัยวะเพศเจริญเติบโตได้ดี ไม่ถูกบีบรัด

– ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ของเด็กชายในช่วงแรกเกิดถึงหนึ่งปี จาก 1:100 เป็น 1:1000

– ในผู้ใหญ่ ช่วยลดปัญหาการหลั่งไว

– ลดโอกาสเกิดมะเร็งของอวัยวะเพศชาย และโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกของคู่สมรส

ข้อเสียของการขลิบ

– เจ็บ โดยเฉพาะถ้าไม่มีการให้ยาระงับความรู้สึกที่ดี

– มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด เสียเลือด หรือเกิดปลายท่อปัสสาวะตีบตามมาได้

– การรับความรู้สึกของอวัยวะเพศลดลง บางการศึกษาพบว่าอาจทำให้การแข็งตัวลดลง (แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ลดโอกาสการหลั่งไว)

ถ้าคุณพ่อคุณแม่บางท่านที่อยากจะให้ลูกได้รับการขลิบ อาจปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลตั้งแต่แรกเกิด แต่หากไม่ใช่ความต้องการของคุณพ่อคุณแม่แล้ว…หนังหุ้มปลายแบบไหน ที่ควรพาไปพบแพทย์?

– หนังหุ้มปลายอักเสบบ่อย เกิดแผลเป็นๆ หายๆ อาจบวม แดง มีหนอง มีอาการเจ็บ

– เวลาปัสสาวะ ออกยาก ตรงหนังหุ้มปลายโป่งเป็นกระเปาะ

– มีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีการโป่งของทางเดินปัสสาวะส่วนบน

– หนังหุ้มปลายปิดสนิท ปกคลุมปลายท่อปัสสาวะ

– เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว มีการตึงของผิวหนังคล้ายวงแหวนรัด ตรงช่วงปลายของอวัยวะเพศ เด็กอาจมีอาการเจ็บ

เป็นอย่างไรบ้างคะ ทางทีมงานหวังว่าคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีข้อสงสัย และเรื่องกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาอวัยวะเพศของลูกชาย จะได้ความรู้ที่กระจ่างกันขึ้นมาบ้างนะคะ ซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณหมอแมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ เจ้าของเพจเรื่องเล่าจากโรงหมอ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ขลิบ หรือไม่ขลิบ ให้ลูกน้อยดี?
จิ๋มเด็ก จู๋เด็ก ทำไมลูกถึงชอบจับเล่น?
ทำความสะอาดอวัยวะเพศของ “ลูกชาย”

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณหมอแมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ เจ้าของเพจ “เรื่องเล่าจากโรงหมอ