สีปัสสาวะ บอกภาวะขาดน้ำได้
ดูจากภาพก็พอจะสังเกตกันได้บ้างนะคะ ซึ่งนอกจากการสังเกต สีปัสสาวะ ว่ามีภาวะขาดน้ำแล้ว ก็ยังมีอาการอื่นๆที่แสดงออกว่ากำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำได้เช่นกันค่ะ
อาการของภาวะขาดน้ำ
กระหายน้ำ เป็นสัญญาณหรืออาการแรก ๆ ที่ร่างกายแสดงออกเพื่อพยายามเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกาย
สำหรับทารกและเด็กเล็ก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำได้มากที่สุดค่ะ เนื่องจากเด็กเล็กไม่สามารถบอกออกมาได้ว่าหิวน้ำเมื่อไร บางรายอาจพบอาการปากและลิ้นแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือผ้าอ้อมเปียกปัสสาวะน้อยลง สีปัสสาวะ เข้มขึ้น รวมถึงมีอาการตาโหล แก้มตอบ กระหม่อมบุ๋ม ง่วงซึม หงุดหงิดง่าย หายใจเร็ว มือเท้าเย็น ตามมาด้วยค่ะ แม่ๆอย่าลืมสังเกตลูกน้อยด้วยนะคะ
สำหรับผู้ใหญ่ จะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปตามระดับความรุนแรงของภาวะขาดน้ำค่ะ ซึ่งอาการที่จะแสดงออกมา เช่น
- กระหายน้ำ
- ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ และ สีปัสสาวะ มีสีเข้มขึ้น
- ผิวแห้ง ตาแห้ง ปากแห้ง
- ง่วงซึม อ่อนเพลีย
- ท้องผูก
- มึนหัว วิงเวียน ปวดศีรษะ
แต่หากมีอาการที่เริ่มรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น
- กระหายน้ำรุนแรง
- ปัสสาวะน้อย ไม่มีเหงื่อ
- ไม่สามารถดื่มน้ำได้
- ความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นเร็วและแรง หายใจเร็วและหอบ
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- ท้องเสียรุนแรง อุจจาระเป็นเลือด
- ตาโหลหรือตาลึก
- ผิวหนังแห้ง และเหี่ยวย่น
- ดูซึมลง สับสน สูญเสียการรับรู้เรื่องบุคคล เวลาและสถานที่
สาเหตุของภาวะขาดน้ำ
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการโคม่า ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วย เป็นหวัด หรือเจ็บคอ อาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและดื่มน้ำน้อยลง
- ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก รวมถึงการสูญเสียน้ำผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น แผลไฟไหม้ แผลในปาก แผลติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอย่างรุนแรง
- มีการปัสสาวะมากผิดปกติ ในผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ ยาความดันโลหิต หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- เหงื่อออกมากผิดปกติ เช่น จากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน หรือ ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด
การรักษาภาวะขาดน้ำ
การรักษาภาวะขาดน้ำ สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มหรือชดเชยปริมาณของเหลวในร่างกาย โดยการดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ หรือดื่มควบคู่กับน้ำเปล่าก็ได้ค่ะ แพทย์อาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำจากอาการอาเจียนและท้องเสีย ที่ไม่สามารถดื่มน้ำผสมเกลือแร่ได้ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
♦♦♦ ในกรณีที่ทารกมีภาวะขาดน้ำ และยังชดเชยน้ำในร่างกายได้ไม่เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ถึงการใช้เครื่องดื่มผงละลายเกลือแร่ โดยพิจารณาจากอายุและน้ำหนักตัวของทารก และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ
การป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ควรดื่มน้ำมากๆ ทั้งก่อนและหลัง หรือในช่วงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย โดยการดื่มบ่อยๆ หรือทุก 15 – 20 นาที หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ แต่หากมีการออกกำลังกายต่อเนื่องนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรหยุดพักจากการออกกำลังกายถ้าพบว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ และควรเลือกใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับการทำกิจกรรม เช่น เสื้อผ้าสีอ่อน เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
- ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 – 12 แก้ว โดยเฉพาะในวันที่มีการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ อาหารทะเล พืชตระกูลถั่ว นมไขมันต่ำ
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ
ภาวะขาดน้ำ เป็นอาการที่สามารถสังเกตได้จาก สีปัสสาวะ ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่นอกจากเรื่องของภาวะขาดน้ำ สีของปัสสาวะ ก็สามารถบอกถึงโรคอื่นๆได้ด้วยเช่นกันค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก pobpad
สีปัสสาวะบอกโรคอะไรได้บ้าง?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่