แพทย์เตือนผมร่วงเกินวันละ 30-50 เส้น ต้องรีบหาหมอ! ผมร่วงเกิดจากอะไร ผู้หญิง ที่เจอกับปัญหาผมร่วงเยอะ ๆ ต้องระวังอันตรายจากโรคร้าย
ผมร่วงเกิดจากอะไร ผู้หญิง ที่มีผมร่วงหลังคลอด อันตรายหรือไม่
แม่ ๆ ทราบกันไหมคะว่า ผมร่วงแค่ไหนถึงปกติ ผมร่วงแค่ไหนคือสัญญาณอันตราย เชื่อว่าแม่ ๆ หลายคนคงไม่ทันได้ระวังตัว คิดว่าอาการผมร่วงเยอะแบบนี้เป็นเรื่องทั่วไป แม่บางคนอาจมีผมร่วงต่อเนื่องมาจากหลังคลอดจนเคยชิน สำหรับอาการผมร่วงหลังคลอดนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนคุณแม่ ที่ผ่านพ้นการตั้งครรภ์มาแล้ว และในการตั้งครรภ์นั้นเองร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ตอนท้องแม่หลายคนผมยาวสลวยเงางาม พอหลังคลอดเท่านั้นแหละ ผมที่เคยดกดำร่วงเป็นกระจุก สางทีออกมาเป็นกำ ด้วยระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ทำให้ผมกลับมาร่วงเหมือนเดิมบางคนร่วงหนักขึ้นเสียอีก แต่อาการผมร่วงจะค่อย ๆ ดีขึ้นไปเอง แต่หากผ่านไปเป็นปี ก็ยังรู้สึกว่าผมร่วงหนักมาก ให้รีบปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ผมร่วงแบบไหนเรียก ผมร่วงหนักมาก
ปกติผมของเราจะมีจำนวนเส้นผม 80,000-1,200,000 เส้น ในแต่ละวันจะงอกขึ้นมาประมาณ 0.35 มิลลิเมตร อายุของเส้นผมจะอยู่ที่ 2-6 ปี การที่ผมร่วงเป็นประจำนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่มักจะไม่เกิน 30-50 เส้น สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ผมร่วง ได้แก่
- ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ ผมร่วงแบบนี้พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักเกิดกับผู้ชายเสียมากกว่า เนื่องจากรากผมมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย เส้นผมจึงมีอายุสั้นกว่าปกติ ส่วนเส้นผมที่เกิดใหม่ก็จะมีขนาดเล็กและบางลง ส่วนมากผมของผู้ชายมักร่วงกลางศีรษะและหน้าผาก และมักจะร่วงมากขึ้นเมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไป
- ผมร่วงหลังหมดประจำเดือน สำหรับผู้หญิงมักจะมีอาการผมร่วงมากเป็นพิเศษเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
- ผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญเติบโตชั่วคราว เกิดขึ้นได้ทุกวัน เพราะแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10-15 % ที่หยุดเจริญและหลุดร่วง
- ผมหยุดการเจริญเติบโตในทันที ในบางภาวะเส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้มีเส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงมากกว่าปกติ เห็นได้ในแม่หลังคลอด ทารกแรกเกิดหลังจากเป็นไข้สูง หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ คนที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง เสียเลือด มีการบริจาคเลือด พบการใช้ยาบางชนิด และภาวะเครียดทางจิตใจ ผมร่วงชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นใน 1-3 เดือน หลังจากนั้นจะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามปกติ
- ผมร่วงเป็นหย่อม อาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ผมร่วงเฉพาะที่ ผมร่วงเป็นวงกลมหรือวงรี มีขอบเขตชัดเจน พบว่าตรงกลางไม่มีเส้นผม หนังศีรษะไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย บางคนอาจพบเส้นผมสีขาวขึ้น อาการแบบนี้เป็นผมร่วงที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ผมร่วงซ่อนโรคร้ายอะไรไว้บ้าง
- โรคต่อมไทรอยด์และโรคด่างขาว – บางคนอาจมีผมร่วงเพียง 1-2 หย่อม หรือมีผมร่วงมากกว่า 10 หย่อม อาจลุกลามจนทั่วศีรษะ มีขนตาและขนคิ้วร่วงร่วมด้วย อาการนี้ผู้ป่วยบางคนอาจหายไปเองตามธรรมชาติ แต่อาจกินเวลาเป็นปี หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อยครั้ง อาการผมร่วงแบบนี้อาจเป็นร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์และโรคด่างขาว
- โรคดึงผมตนเอง (trichotillomania) – อาการดึงผมปัจจุบันพบผู้ป่วยในอัตรา 4% ของคนทั่วไป พบได้ทุกเพศทุกวัย มีทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว บางคนดึงผมแล้วรู้สึกสบายใจ ส่วนคนที่ดึงผมโดยไม่รู้ตัว มักจะดึงระหว่างทำกิจกรรมอื่น เช่น ตอนอ่านหนังสือหรือดูทีวี ปัจจัยที่ทำให้ดึงผมเกิดได้จากโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า พันธุกรรม ความผิดปกติทางสมองและสารเคมีในสมอง สมาธิสั้น มีความเครียด หรือมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สำหรับการถอนผมของเด็ก ๆ มักมีปัญหาทางครอบครัว ปัญหาการเรียน เด็กบางคนอาจถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย ทำให้ผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีผื่นคันหรือเป็นขุยและจะพบเส้นผมที่เป็นตอสั้น ๆ อยู่มาก
- โรคเชื้อราที่ศีรษะ (กลากที่ศีรษะ) – ผมร่วงจากเชื้อราอาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อรา โรคนี้ผมจะร่วงเป็นหย่อม ๆ มีผื่นแดงคันและเป็นขุยหรือสะเก็ด มักจะพบร่องรอยของโรค เชื้อรา (กลาก) ที่มือ เท้า ลำตัวหรือในบริเวณร่มผ้าร่วมด้วย
- โรคเอสแอลอี (SLE) โรค Lupus โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง อาจมีอาการผมร่วง ผมบาง แล้วเกิดเป็นแผล ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า
- โรคเรื้อรังบางอย่าง ก็ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ซิฟิลิส โรคตับ โรคไต
- โรคไทรอยด์ ร่างกายจะขับไขมันออกมาทางผิวหนังมาก ทำให้หนังศีรษะมัน รากผมอ่อนแอ
- โรคโลหิตจาง เพราะร่างกายขาดธาตุเหล็กจึงทำให้ผมร่วง
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าใจว่าเซลล์รากผมเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย
- ภาวะการมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เกิดภาวะผมบางจากแอนโดรเจน ร่วมกับผิวหน้ามัน
ปัญหาผมร่วงยังเกิดได้จากการทำผม ทั้งการม้วนผม ย้อมสีผม ดัดผม และเป่าผม รวมถึงอาการหนังศีรษะอักเสบ หรือเส้นผมเปราะหัก ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี ส่วนยาที่มีผลทำให้ผมร่วงมีอยู่หลายชนิด เช่น
- ยารักษามะเร็ง
- การฉายรังสีในการรักษามะเร็ง
- ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
- ยารักษาคอพอกเป็นพิษ
- ยาคุมกำเนิด
- ยาใช้ป้องกันโรคเกาต์
วิธีดูแลเส้นผมไม่ให้ร่วง
- สระผมทำความสะอาดเส้นผมและผิวหนังของศีรษะอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ควรเกาหรือขยี้หนังศีรษะแรงจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ เช่น การย้อม ทำสี ดัด ผมที่บ่อยเกินไป
- พยายามไม่ดึงหรือถอนผมเล่น
- ลดความเครียด หาวิธีผ่อนคลาย เพราะอาการเครียดจะกระตุ้นให้ผมร่วงมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าอาการผมร่วงเกิดได้จากหลายปัจจัย หลากหลายสาเหตุ หากรู้สึกว่าผมร่วงมากจนผิดสังเกต ผมร่วงเยอะเป็นเวลานาน ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพราะผมร่วงครั้งนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณของร่างกายถึงอันตรายที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูล : rama.mahidol, synphaet, thaihealth และ thonburimedicalcenter
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
พ่อเป็นซึมเศร้าหลังคลอดได้ ความเครียด กังวล ของคุณพ่อมือใหม่