AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พ่อแม่สูบบุหรี่ วิจัยชี้! เสี่ยงลูกมีสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมในทางลบได้ง่าย

ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือ พ่อสูบบุหรี่ ผลต่อลูก ที่จะได้รับคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ไม่ว่าจะต่อสุขภาพร่างกายและล่าสุดมีงานวิจัยออกมาเผยว่ามีผลต่อจิตใจด้วย

หลายคนต่างก็รู้ว่า “บุหรี่” มีพิษภัยร้ายแรงขนาดไหน องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในควันบุหรี่ เต็มไปด้วย นิโคติน (สารเสพติด), สารเคมี 7,000 ชนิด, สารพิษ มากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็ง มากกว่า 70 ชนิด ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลงรวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับควันบุหรี่เข้าไปก็อาจเจ็บป่วยได้ไม่น้อยไปกว่าผู้สูบเองเช่นกัน

วิจัยชี้ แม่หรือ พ่อสูบบุหรี่ ผลต่อลูก อาจสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมด้านลบได้ง่าย!

ควันบุหรี่สีขาวนี้มีสารเคมีอยู่หลายพันชนิด และกว่า 60 ชนิดที่ในวงการแพทย์ระบุไว้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นจะได้รับผลกระทบโดยตรง หรืออาจจะมากกว่าตัวผู้สูบเอง 5-10 เท่าเลยทีเดียว เพราะมีความเข้มข้นของสารพิษมากกว่า เนื่องจากควันจากปลายมวลบุหรี่มีอุณหภูมิเผาไหม้ต่ำ โดยโทษจากควันบุหรี่มือสองสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

กลุ่มเด็กเล็กและเด็ก

ร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ และไม่เพียงพอต่อการป้องกันสารพิษจากควันบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นหากมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ เด็ก ๆ อาจจะป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด, หลอดลมอักเสบ, ปอดบวม และอาจมีสมรรถภาพปอดแย่กว่าเด็ก ๆ ทั่วไป

⇒ Must read : อันตรายที่มองไม่เห็น!! ควันบุหรี่ จากพ่อแม่สู่ลูกน้อย เสี่ยงปอดติดเชื้อ

กลุ่มแม่ท้อง

กลุ่มนี้ถือว่าอันตรายมาก ๆ หากคุณแม่ท้องได้รับควันบุหรี่มือสองในปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตร, คลอดก่อนกำหนดหรือครรภ์เป็นพิษได้เลยทีเดียว สำหรับคุณแม่ท้องเองที่สูบบุหรี่นั้น พบว่า จะทำให้น้ำหนักครรภ์เพิ่มน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ และรกลอกตัวก่อนกำหนดมากขึ้น ลูกที่คลอดจากแม่ที่สูบบุหรี่ อาจจะมีน้ำหนักและความยาวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ อาจจะมีความผิดปกติทางระบบประสาท ระบบความจำได้

⇒ Must read : หยุดทำร้ายลูกน้อยด้วยการ สูบบุหรี่ตอนท้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : health.kapook.com

ทั้งนี้ด้าน สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยผลวิจัยพบว่าการที่พ่อแม่สูบบุหรี่ ทำให้ลูกน้อยมีสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมในทางลบได้ง่ายอีกด้วย

โดย มาร์ค แฮมเมอร์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้เปิดเผยว่า ใครๆ ก็รู้ว่าผลกระทบของการสูดกลิ่นควันบุหรี่นั้นก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายของเด็ก แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าควันบุหรี่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเช่นกัน

ปัจจุบันนี้ 2 ใน 3 ของเด็กอายุระหว่าง 3-11 ปี ในสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการสูดดมควันบุหรี่ ขณะที่ 1 ใน 5 ของเด็กอายุ 9-17 ปี ได้สูดกลิ่นควันบุหรี่ถึงขั้นเสพติด และมีภาวะผิดปกติทางจิตแล้ว  และจากการศึกษาโดยการตรวจปริมาณควันบุหรี่จากน้ำลายของเด็กวัย 4-8 ปี จำนวน 901 คน

พบว่า เด็กที่ได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายมากจะมีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ และมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างติดลบ  ขณะที่เด็กที่ได้รับควันบุหรี่น้อยที่สุด มีสุขภาพจิตดี และมีพัฒนาการทางสมองที่ดีด้วย  ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องพยายามให้ลูกน้อยอยู่ห่างไกลจากควันบุหรี่ และได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายให้น้อยที่สุด เพื่อสุขภาพจิตที่ดี อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้น้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ

อ่านต่อ >> ผลวิจัยพบพ่อแม่สูบบุหรี่ ทำให้ลูกน้อยมีสมาธิสั้นและมีพฤติกรรมในทางลบได้ง่าย คลิกหน้า 2

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ควันบุหรี่ต้นเหตุทำลายสุขภาพจิตของเด็ก ๆ นั้น ส่วนใหญ่มาจากในบ้านของเด็กทั้งนั้น นั่นหมายถึง พ่อและแม่ของเด็กเอง ที่สูบบุหรี่โดยไม่ตระหนักถึงโทษร้ายที่ลูกจะได้รับ จึงทำให้เด็กได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายและบุหรี่มือสองก็เป็นอันตรายกว่าผู้สูบเองเสียอีก

ดังนั้น ก็คงจะถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ควรจะตระหนักถึงภัยร้ายที่แฝงอยู่ในควันบุหรี่ ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดมะเร็งและโรคต่าง ๆ ได้ง่ายแล้ว ยังทำลายสุขภาพจิต จนทำให้ลูกน้อยมีพฤติกรรมที่เลวร้าย และคงถึงเวลาแล้ว ที่พ่อแม่ ไม่เพียงแค่เลี่ยงการสูบบุหรี่ต่อหน้าลูกเท่านั้น แต่ควร “เลิก” สูบบุหรี่ไปโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาพกายและจิตใจที่ดีของลูก และยังทำให้ตัวพ่อแม่เองมีสุขภาพดีอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : talk.ict.in.th/15317

อีกทั้ง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ยังกล่าวขอเรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนไม่สูบบุหรี่ในทุกที่ที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ด้วย เพื่อลดโอกาสการเสพติดบุหรี่ของเยาวชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันเยาวชนจากการติดยาเสพติด สุรา และอบายมุขอื่น เช่น การเที่ยวกลางคืน และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นอกเหนือจากผลเสียต่อสุขภาพที่การสูบบุหรี่ของวัยรุ่น จะทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์เท่าวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ ทำให้ปอดพัฒนาไม่เต็มที่ ออกกำลังกายได้น้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจมากกว่า เช่น ไอ เหนื่อยง่าย

“รายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.4 – 2.1 เท่า และวัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองที่อื่นนอกบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ถึง 1.8 เท่าของวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสอง หลักฐานยังพบว่า การสูบบุหรี่ของพ่อแม่เพิ่มความเสี่ยงที่ลูกจะติดบุหรี่ โดยเฉพาะหากพ่อแม่สูบบุหรี่ในบ้าน และการไม่สูบบุหรี่ในบ้านลดโอกาสที่ลูกจะเสพติดบุหรี่”

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้น 2 แสนคน โดยหนึ่งแสนคนติดบุหรี่ก่อนอายุ 17 ปี และ 9 ใน 10 คน ที่ติดบุหรี่ใหม่ติดก่อนอายุ 24 ปี ซึ่งตามสถิติเด็กไทยที่ติดบุหรี่ 7 ใน 10 คน จะติดไปตลอดชีวิต และใน 3 คนที่เลิกสูบได้ โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลา 22 ปี ทุกฝ่ายในสังคมจึงต้องร่วมมือกันในการลดนักสูบหน้าใหม่ โดยนอกจากพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ไม่สูบบุหรี่แล้ว หากยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ก็ต้องไม่สูบในบ้าน และพยายามไม่สูบให้ลูกเห็น และบ้านที่สองของเด็กและเยาวชน คือ โรงเรียน และสถานศึกษาทุกระดับ บุคลากรโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับทุกคนโดยเฉพาะผู้บริหารและครูอาจารย์ก็ต้องเป็นแบบอย่างโดยปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามสูบบุหรี่ในโรงเรียน รวมถึงมหาวิทยาลัย ส่วนในสังคมวงกว้าง ผู้สูบบุหรี่ทุกคนก็ต้องร่วมกันป้องกันเด็ก และเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ โดยไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่กฎหมายห้ามสูบ โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th

ดังนั้นแล้ว เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ เลิกบุหรี่ได้เพื่อลูกน้อย Amarin Baby & Kids จึงมีความรู้ดีๆ ในการเลิกบุหรี่จาก ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ มาฝาก เพื่อช่วยให้คนที่สูบบุหรี่อยู่เข้าใจสถานการณ์การติดของตัวเองอย่างง่ายๆ รวมถึงคนที่มีคนรัก หรือคนในครอบครัวซึ่งตกเป็นทาสของบุหรี่อยู่ ก็สามารถทำความเข้าใจและนำคำแนะนำนี้ไปปรับใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการเลิกบุหรี่

โดยผู้ให้คำปรึกษาด้านการเลิกบุหรี่ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เล่าว่า ผู้สูบบุหรี่แต่ละคนเลิกบุหรี่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เป็นเหตุผลเฉพาะตน การรู้ว่าตนเองต้องการอะไรจากการเลิกบุหรี่จะช่วยให้เกิดความมุ่งมั่นในการเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น

อ่านต่อ >> “7 วิธีเลิกบุหรี่ให้สำเร็จเพื่อคนที่คุณรัก” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ซึ่งการติดบุหรี่เกิดจากปัจจัยอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านนิสัยพฤติกรรม คือการสูบบุหรี่ร่วมกับการกระทำบางอย่าง เช่น สูบหลังกินข้าว กินเหล้าแล้วสูบ เป็นต้น ด้านความคิดและอารมณ์ คือ สูบบุหรี่เมื่อมีความคิดหรืออารมณ์บางอย่าง เช่น อารมณ์กังวล เบื่อ โดยทั้ง 2 ด้านนี้รวมเป็นความเคยชินในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ด้านร่างกายหรือการติดนิโคติน ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีส่วนประกอบในบุหรี่

วิธีเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ √

ษักรินทร์ แนะนำว่า การเลิกบุหรี่ให้สำเร็จนั้น ควรจะหยุดสูบในทันที หรือที่เรียกกันว่า “หักดิบ” พร้อมทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. ปรับพฤติกรรมเนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยการสูบให้น้อยลงนั้น ในที่สุดจะกลับไปสูบมากขึ้นอย่างเดิม หรือสูบมากกว่าเดิมเสียอีก

โดยในระยะแรกๆ ที่เลิกสูบ มักจะเกิดอาการอยากบุหรี่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นอาการที่ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะเป็นการเสพติดมาจากพฤติกรรมการสูบเดิม ดังนั้นหากมีอาการอยากสูบบุหรี่ล่ะก็ แนะนำให้หาหมากฝรั่ง ลูกอม หรือดมยาดม เพื่อให้ติดเป็นนิสัยใหม่แทนการสูบบุหรี่ ใช้ หมากฝรั่งนิโคตินมาเคี้ยวจะดีมาก

2. หลีกเลี่ยงสถานที่หรือช่วงระยะเวลาที่เคยสูบบุหรี่อยู่เป็นประจำ เพราะความเคยชินเหล่านั้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้หวนกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง ลองหาสถานที่ใหม่ ๆ หรือเดินออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ช่วยได้มากไม่น้อย

3. การดื่มน้ำก็เป็นตัวช่วยที่ดี เช่นกัน คนที่เลิกบุหรี่ควรดื่มน้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 10 แก้วหรือปริมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพราะน้ำจะเป็นตัวช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายและจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

4. การเลือกรับประทานอาหาร ผู้ที่เลิกบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท เผ็ด เค็ม มัน หวาน เพราะอาหารประเภทเหล่านี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้สูบอยากสูบบุหรี่เช่นกัน ในช่วงที่เลิกบุหรี่ควรรับประทานผักผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว ที่เป็นตัวช่วยที่ดีในการลดอาการอยากสูบบุหรี่ ผลไม้ควรเป็นผลไม้สดเท่านั้น

5. การนำมะนาวมาเป็นตัวช่วย แนะนำให้หันมะนาวทั้งเปลือกเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่กล่องพกติดตัวไว้ เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาก็หยิบมะนาวขึ้นมาอมและขณะเวลาอมควรอมช้าๆ และเคี้ยวเปลือกมะนาวแล้วกลืน การทำเช่นนี้จะช่วยได้เพราะรสขมของผิวมะนาวจะช่วยทำให้รู้สึกขมปากขมคอ จนไม่อยากสูบบุหรี่

6. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 30 นาที เพราะยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ปอดก็จะยิ่งแข็งแรง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้ร่างกายขับพิษออกมากับเหงื่อได้อีกด้วย

7. การย้ำเตือนตนเอง หากคิดที่จะสูบบุหรี่ขึ้นเมื่อไหร่ ก็ขอให้ย้ำกับตนเองอยู่เสมอว่า ที่เลิกนั้นเพื่ออะไร และให้ทำตามเป้าหมายการเลิกบุหรี่ของตนเองตามที่ตั้งใจไว้ให้ดีที่สุด

สุดท้ายผู้ให้คำปรึกษาด้านการเลิกบุหรี่ ย้ำว่า การเลิกบุหรี่ต้องอาศัยกำลังใจ ความเข้มแข็ง และตั้งใจจริง เพราะบุหรี่ติดง่าย เลิกยาก แต่ไม่มีใครทำไม่ได้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจ การที่เรามีความคิดที่จะเลิกบุหรี่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าคุณเป็นผู้หนึ่งที่คิดจะเลิกบุหรี่ ลองปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นนี้ดู แล้วคุณจะรู้ว่า ‘จิตใจ’ ที่เข้มแข็ง เมื่อรวมกับ ‘วินัย’ ที่ดี ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี Amarin Baby & Kids เชื่อว่าความตั้งมั่นที่จะทำเพื่อลูกน้อยและคนที่คุณรัก ก็จะสามารถ ช่วยให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่สามารถเลิกบุหรี่ได้แน่นนอน เพราะ “การเลิกบุหรี่ก็ไม่ใช่ฝันที่ไปไม่ถึง และไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย” ขอแค่ตั้งใจ!

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th , daily.rabbit.co.th