AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เช็ก 10 สัญญาณมะเร็งปากมดลูก ภัยเงียบใกล้ตัวแม่

มะเร็งปากมดลูก ภัยเงียบที่คุกคามผู้หญิงทุกคน แม้แต่ “คนเป็นแม่”  ที่สำคัญโรคนี้จัดเป็นอยู่ในอันดับสามของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย ไปไม่น้อย เพราะกว่าจะรู้ว่า “ตัวเองเป็นมะเร็ง” อาการของโรคก็ลุกลามบานปลาย หลายคนต้องผ่านกระบวนการรักษาที่ยาวนาน และกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน หนทางป้องกันดีที่สุดคือ การสังเกตสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น

มะเร็งปากมดลูก คร่าชีวิตหญิงไทยถึงวันละ 6 คน

ในปีพ.ศ. 2562 พบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 5,513 คน และหญิงไทยเสียชีวิตจาก มะเร็งปากมดลูก 2,251 คนต่อปี เฉลี่ยวันละ 6 คน ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลงกว่าปีพ.ศ. 2561 ที่มากถึงวันละ 14 คน แต่ก็เรียกได้ว่ายังคงเป็นสถิติที่น่ากังวลอยู่ดี ผู้หญิงทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตให้น้อยลง

 

 HPV สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก

เชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น เชื้อ HPV มีอยู่กว่า 150 สายพันธุ์ แต่สำหรับผู้หญิง สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของโรค มะเร็งปากมดลูก สูงถึง 70% และสาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อเอชพีวีคือติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยมะเร็งปากมดลูก พบมากในผู้หญิงอายุ 35-60 ปี

อ่านเพิ่มเติม >> หญิงไทยฟังทางนี้!! ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมฟรี!!

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก

1.เกิดจากการมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุน้อยกว่า 17 ปี เพราะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกมาก และมีความไวต่อสารก่อมะเร็ง

2.มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส และหนองใน ก็จะยิ่งทำให้มีความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก มากขึ้น

3.ทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 1.3 เท่า ถ้ารับประทานนานถึง 10 ปี มีความเสี่ยงถึง 2.5 เท่า

ทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก

4.คลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว

5. สูบบุหรี่ มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์ หรือรับยากดภูมิคุ้มกัน อาจเป็นตัวเร่งให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 10 สัญญาณมะเร็งปากมดลูก แม่ต้องรู้

1. มีเลือดออกผิดปกติ ที่ไม่ใช่ประจำเดือน เช่น เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือน เลือกออกเป็นระยะ เลือดออกหลังจากตรวจภายใน

2. เลือดออกหลังวัยทอง เช่น ผู้หญิงวัย 55 ปี หมดประจำเดือนไป 3 ปี แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอดอีก ควรรีบไปพบแพทย์

3. ตกขาวผิดปกติ เช่น เป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด มีเลือดปน

4. ปัสสาวะขัด ปวดแสบ อาจเป็นสัญญาณมะเร็งปากมดลูก หรืออาจติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ไม่แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรประมาท และสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย

5. เจ็บขณะร่วมเพศ เป็นหนึ่งสัญญาณเตือนมะเร็งปากมดลูก

6.ประจำเดือนมามากและนานผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปากมดลูก

7. ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยจากสถิติผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก มักจะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และเลือดปน

8. เจ็บปวดตามร่างกาย โดยเฉพาะ ขา หลัง และเชิงกราน เนื่องจากมะเร็งกระจายส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด

9. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เพราะระบบการรักษาสมดุลของร่างกายทำงานหนัก เพื่อต่อต้านและกำจัดมะเร็งออกไป

10 .น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เพราะร่างกายจะสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่กำจัดไขมันส่วนเกินมากเกินไป ทำให้น้ำหนักลดทั้งๆ ที่ไม่ได้อดอาหาร

 

วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1. ตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป

 

อ่านเพิ่มเติม >> แพทย์แนะหญิงไทย ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ทุกสามปี

อ่านเพิ่มเติม >> 8 ข้อควรรู้ ก่อนพาลูกไป ฉีดวัคซีน มะเร็งปากมดลูก

 

2. ผู้หญิงที่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ควรตรวจหา มะเร็งปากมดลูก ทุก 6 เดือน

3. ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่

4. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ

5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค มะเร็งปากมดลูก สามารถติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอฉีดวัคซีนได้

 

ถึงแม้ว่ามะเร็งปากมดลูก จะเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยไปเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ในปัจจุบันนี้ มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งโดยวิธีการผ่าตัดและการใช้รังสีรักษา นอกจากนี้ ยังเป็นโรคที่สามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน และสามารถตรวจคัดกรองได้เป็นระยะ ๆ ดังนั้น  อย่าหลงผิดไปรักษาผิดวิธี เช่น การไปรักษาโดยยาสมุนไพร หรือกลัวการรักษาจนเกินเหตุ ทำให้โรคเป็นมากขึ้น โอกาสหายจากโรคน้อยลง

 


ขอบคุณข้อมูลจาก

thaijobsgov.com, สถาบันมะเร็งแห่งชาติราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลหน่วยสารสนเทศมะเร็ง, โรงพยาบาลเปาโล, Line Today

อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม

ตรวจคัดกรองมะเร็ง ในผู้หญิงควรตรวจเมื่อไหร่?

ไขข้อสงสัย! ใส่ผ้าอนามัยนานๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกจริงหรือ?

9 อาหารช่วยลดความเสี่ยงการเกิด มะเร็งปากมดลูก

หญิงไทยฟังทางนี้!! ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมฟรี!!