ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุมากกว่า 21 ปีขึ้นไป ควรจะได้รับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในมดลูก ปากมดลูก ฯลฯ แต่ผู้หญิงหลายคนกลับไม่ยอมไปตรวจเพราะอายหรือกลัวเจ็บ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเผย ขั้นตอนการตรวจภายใน อย่างละเอียด ให้สาว ๆ แม่ ๆ ทุกคนรู้ว่าการตรวจภายในนั้น นอกจากจะมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ แล้ว ยังไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเลยค่ะ
เผย! ขั้นตอนการตรวจภายใน ตรวจเลย! ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination / Pelvic Examination) เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง โดยแพทย์จะมีการตรวจอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยหรือโรค
ตรวจภายในสำคัญอย่างไร? ไม่ได้เป็นโรคอะไรทำไมต้องตรวจ?
เพราะอวัยวะภายในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมีความซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติได้ด้วยตาเปล่า แต่จะพบได้จากการตรวจภายในเท่านั้น การตรวจภายใน ไม่เพียงแต่ดูความปกติของปากมดลูก แต่สามารถดูความผิดปกติของอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ได้ด้วย ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอก โดยอวัยวะเหล่านี้สามารถติดเชื้อหรือเกิดโรคได้ทุกส่วนโดยที่ไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น โรคช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็งปากมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองใน เริม เอชพีวี (HPV) ดังนั้นการตรวจภายในก็จะช่วยให้ค้นพบสาเหตุ รวมทั้งป้องกันหรือรักษาโรคนั้นได้ก่อนที่จะลุกลามหรือมีอาการร้ายแรง การตรวจภายในสามารถใช้ได้ในหลายกรณี ดังนี้
- เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง
- ตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อราหรือแบคทีเรียในช่องคลอด
- หาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริม โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)
- ตรวจและหาสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก เช่น ตกขาวผิดปกติ เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะมดลูกหย่อน อาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณหลัง
- ตรวจเพื่อวินิจฉัยการคุมกำเนิด โดยเพื่อช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์มีความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น การใส่ฝาครอบปากมดลูก การใส่ห่วงอนามัย
- ตรวจหาร่องรอยในกรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ตรวจเมื่อเริ่มตั้งครรภ์
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ใครต้องตรวจภายในบ้าง? ขั้นตอนการตรวจภายใน อย่างละเอียด
ใครต้องตรวจภายในบ้าง?
ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุมากกว่า 21 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ตาม และแม้ว่าจะเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็ตาม และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการตกขาวผิดปกติ หรือเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน เป็น ๆ หาย ๆ หรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ควรได้รับการตรวจภายในทันทีที่มีอาการผิดปกติ
ขั้นตอนการตรวจภายใน อย่างละเอียด
- ก่อนตรวจภายในแพทย์สูติ-นรีเวช จะซักประวัติเพื่อวินิจฉัยถึงความจำเป็นในการตรวจภายใน
- หากจำเป็นต้องตรวจ แพทย์จะอธิบายในความจำเป็นที่ควรจะตรวจ เพื่อขอความยินยอมของผู้เข้ารับการตรวจ
- ในการตรวจภายใน ทั้งจากแพทย์ผู้หญิง หรือแพทย์ผู้ชาย ต้องมีบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่ด้วย หากไม่มีบุคคลที่สามอยู่ด้วย ผู้เข้ารับการตรวจสามารถปฏิเสธการตรวจภายในได้
- ผู้เข้ารับการตรวจต้องมีการถอดกางเกงในและเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ ในกรณีผู้เข้ารับการตรวจไม่สามารถเปลี่ยนเสี้อผ้าได้ด้วยตัวเอง ผู้ช่วยที่เป็นผู้หญิงจะเป็นคนดูแลในการเปลี่ยนชุดให้
- ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทำการตรวจ
- จากนั้นให้นอนลงบนเตียงตรวจที่มีขาหยั่ง แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจจัดท่าทางในลักษณะใด ผู้เข้ารับการตรวจต้องพยายามแยกหัวเข่าทั้ง 2 ข้างให้กว้าง เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจได้สะดวก อาจมีการใช้ผ้าคลุมที่ร่างกายส่วนอื่นโดยเหลือเฉพาะช่วงที่มีการตรวจไว้
- แพทย์เริ่มทำการตรวจ โดยแพทย์จะมีการแจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจได้ทราบถึง ขั้นตอนการตรวจภายใน แต่ละขั้นตอน ดังนี้
- ดูบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่าว่ามีสภาพเป็นปกติหรือไม่ มีรอยแดง แผล บวม หรืออาการผิดปกติหรือไม่
- จากนั้นจึงเริ่มใช้เครื่องมือสำหรับตรวจคลอด (Speculum) ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของช่องคลอดของผู้รับการตรวจ (ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่) ซึ่งเป็นเครื่องมือทรี่มีลักษณะคล้ายปากเป็ดที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว (จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สะอาดหรือทำให้เกิดการติดเชื้อ) สอดผ่านเข้าไปในช่องคลอดแล้วเปิดขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้นเพื่อดูความผิดปกติ ตกขาว รอยแผล ก้อน หรือสีผิดปกติในช่องคลอดและปากมดลูก (ผู้เข้ารับการตรวจบางอาจรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อยในขั้นตอนนี้) ในบางรายอาจมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมกัน โดยแพทย์ใช้อุปกรณ์ป้ายตัวอย่างของเซลล์บริเวณปากมดลูกบางส่วนออกมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่าการตรวจแปปสเมียร์ เมื่อตรวจเสร็จจึงนำอุปกรณ์ทั้งหมดออก
- เมื่อตรวจด้วยเครื่องมือแล้ว แพทย์จะขออนุญาตคนไข้ใช้นิ้วมือใส่เข้าไปตรวจในช่องคลอด เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก โดยสวมถุงมือที่มีการเคลือบสารหล่อลื่น จากนั้นใช้นิ้วมือสอดเข้าไปทางอวัยวะเพศ และมืออีกข้างคลำบริเวณหน้าท้อง เพื่อตรวจดูขนาดและตำแหน่งของมดลูกว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น มีก้อนเนื้อ กดแล้วมีความรู้สึกเจ็บ หรือสิ่งผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ ในบางกรณี แพทย์อาจมีการตรวจทางทวารหนักด้วย เพื่อหาก้อนเนื้องอกหรือความผิดปกติของผู้เข้ารับการตรวจ
- การตรวจภายในไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย เว้นแต่ทำอัลตร้าซาวด์
ทั้งนี้ คนไข้สามารถขอตรวจภายในกับแพทย์ผู้หญิงได้ แต่บางสถานพยาบาลอาจมีเฉพาะแพทย์ผู้ชาย แต่การตรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคนไข้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะตรวจภายใน?
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะตรวจภายใน?
- ไม่ควรตรวจภายในในช่วงที่มีประจำเดือน และควรตรวจหลังประจำเดือนหมดสนิทประมาณ 1 สัปดาห์ หรือตรวจช่วงก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะในช่วงมีประจำเดือนจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ เหน็บยาในช่องคลอด หรือสวนล้างช่องคลอด ก่อนเข้ารับการตรวจ 24-48 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจได้
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่ามีปัญหาสุขภาพใดอยู่บ้าง และได้ใช้ยารักษาชนิดใดอยู่บ้าง เพราะการใช้ยาบางชนิด อาจมีผลต่อผลการตรวจ
- ควรถ่ายอุจาระมาก่อน
- ก่อนตรวจควรปัสสาวะให้เรียบร้อย
- ไม่จำเป็นต้องโกนขน เพราะอาจทำให้หมอวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมบางอย่างไม่ได้
- สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย เช่น นุ่งกระโปรง ไม่ควรนุ่งกางเกงหรือใส่เสื้อผ้า กางเกงที่รัดจนเกินไป
- ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกมาให้เรียบร้อย โดยไม่จำเป็นต้องสวนล้างภายในช่องคลอด
- หากมีตกขาวไม่จำเป็นต้องล้างออก เนื่องจากแพทย์จะได้สังเกตลักษณะของตกขาวเพื่อวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำขึ้น
- ทำใจให้สบาย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเกร็ง
เมื่อทราบถึง ขั้นตอนการตรวจภายใน อย่างละเอียดกันแล้ว ก็คงจะหายกังวลใจไปได้ไม่น้อยเลยใชไหมล่ะคะ ดังนั้น สาว ๆ ทุกคน อย่าลืมไปตรวจภายในกันทุกปีนะคะ เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ จำเป็นแค่ไหน
4 วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง คลำหาง่าย ๆ ด้วยสองมือเรา (มีคลิป)
แม่ ๆ ระวัง! คันจิ๊มิ ตกขาวเยอะเสี่ยง ติดเชื้อในช่องคลอด
ข้อมูลอ้างอิงจาก : workpointnews, kapook.com, pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่