การ ตรวจภายใน เป็นหนึ่งวิธีในการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวของกับอวัยวะระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยตรวจทางช่องคลอด เพื่อหาความผิดปกติ อาทิ การติดเชื้อ เนื้องอก และมะเร็ง ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเขินอายเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ หรือไม่ก็กลัวไปเลย ยิ่งในรายที่ไม่เคยตรวจภายในมาก่อนไม่ต้องพูดถึง…ทั้งที่ความจริงแล้วการตรวจแต่ละครั้งสูติแพทย์จะปกปิดคนไข้อย่างมิดชิด และเปิดเฉพาะส่วนที่จะตรวจเท่านั้น
โดยการตรวจภายในจะอาศัยการดูส่วนที่มองเห็น คือ อวัยวะเพศภายนอก ช่องคลอด และปากมดลูก และอาศัยการคลำในส่วนที่มองไม่เห็น คือ มดลูก ปีกมดลูก รวมทั้งรังไข่
คุณหมอจะทำอะไรบ้าง
- เมื่อไปถึงห้องตรวจก็จะต้องเปลี่ยนใส่ชุดที่ทางพยาบาลเตรียมไว้ให้เพื่อสะดวกในการตรวจ จากนั้นก็ขึ้นนอนบนเตียงที่มีขาหยั่ง เพื่อสูติแพทย์จะดูลักษณะทั่ว ๆ ไป ภายนอกก่อนว่ามีผื่นแผล ติ่งเนื้อ หรือก้อนที่ผิดปกติหรือไม่
- จากนั้นจะถึงขั้นตอนตรวจดูในช่องคลอด ซึ่งจำเป็นต้องสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด เพื่อถ่างเปิดให้เห็นลักษณะภายในช่องคลอดและปากมดลูก และตรวจดูว่าตกขาวมีสี กลิ่น และปริมาณผิดปกติหรือไม่ ส่วนอวัยวะที่อยู่ลึกที่สุดเท่าที่จะเห็นได้อย่างปากมดลูกก็จะได้รับการตรวจดูว่า มีแผลอักเสบหรือมีติ่งเนื้อหรือไม่
- ปกติสูติแพทย์จะถือโอกาสตรวจมะเร็งปากมดลูกไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บ เพราะใช้เครื่องมือป้ายเอาน้ำในช่องคลอด ขูดผิวปากมดลูก และช่องภายในปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน ก็จะรู้ผล
- ส่วนการตรวจอีกขั้นตอน คือตรวจโดยคลำผ่านทางช่องคลอด โดยแพทย์จะสอดนิ้วในช่องคลอด ส่วนอีกมือหนึ่งจะกดท้องน้อย เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ที่เหลือซึ่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน
สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจหามะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาว ๆ ที่แต่งงานแล้วควรตรวจหามะเร็งทุกปี แต่ในรายที่พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังที่ปากมดลูก หรือสงสัยว่าจะมีเซลล์ผิดปกติเกิดขึ้น และอาจพัฒนาไปสู่เซลล์มะเร็ง สูติแพทย์อาจจะต้องนัดมาตรวจทุก 3-6 เดือน
กลุ่มเสี่ยงที่ควรตรวจทุกปี
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีเคยมีคู่หลายคน
- ปัจจุบันมีคู่ขาหลายคน
- คู่ขามีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและมีแฟนหลายคน
- เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก
- เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก
- เป็นโรคหูดหงอนไก่
- ติดเชื้อ HIV
- เป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนเช่น มะเร็ง
อ่าน >> การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจภายใน กดหน้า 2
การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจภายใน
การตรวจภายในสามารถนัดสูติแพทย์เข้าไปตรวจได้ทุกเวลา ยกเว้นช่วงที่มีประจำเดือน แต่ถ้ามีเลือดออกผิดปกติไม่ใช่ประจำเดือน ก็ตรวจได้เลย สูติแพทย์จะได้ดูจุดที่เลือดออก สีของเลือด ปริมาณมากน้อยแค่ไหน วินิจฉัยได้แม่นยำไม่ต้องรอเลือดหยุด ซึ่งควรเตรียมตัวก่อนรับการตรวจภายในดังนี้
- ควรปัสสาวะทิ้งให้หมดก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกให้ชัดเจน
- ถ้ามีปัญหาเรื่องกระเพาะปัสสาวะ สูตินรีแพทย์อาจสวนตรวจเพาะเชื้อโรคและให้ยาปฏิชีวนะตามเชื้อโรคนั้นๆ
- ถ้ามีปัญหาเรื่องตกขาวมีกลิ่น คัน ตกขาวเปลี่ยนสี ไม่ควรสอดยามาเอง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจเชื้อได้ถูกต้อง ให้ยาได้ทันท่วงที ถ้าสอดยามา จะมียาเต็มในช่องคลอด จะตรวจไม่ได้
- ไม่ควรใช้น้ำยาล้างลึกเข้าไปในช่องคลอดก่อนมาตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือมาตรวจการ เพราะภาวะความเป็นกรดด่างถูกทำลาย เซลล์ที่หลุดลอกออกมาถูกล้างไปหมด
- ไม่ต้องงดอาหารและน้ำดื่มมาในการตรวจภายในมาตรวจได้เลย ทางสูตินรีแพทย์จะ ตรวจคลำเต้านมให้ด้วย ถ้ามีน้ำไหลจากหัวนม จะบีบใส่ slide ไปตรวจเซลล์มะเร็ง
- ในการวินิจฉัยบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่ อาจตรวจทางทวารหนักร่วมด้วยโดยใช้นิ้วชี้ตรวจทางช่องคลอด นิ้วกลางตรวจทางทวารหนัก และอีกมือคลำหน้าท้องด้วย
การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด แต่จะกลับทำให้ผู้หญิงเรามั่นใจได้ว่าสุขภาพสตรีของตัวเองนั้นปกติดีหรือไม่ หรือหากพบความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ง่ายต่อการรักษาและหายได้เร็ว ลดโอกาสการสูญเสียต่างๆ ได้มากกว่าค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ประภาพรรณ นาควัชระ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวชวิทยา
ที่มาและภาพจาก: Health Today