AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Kid safety – ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และเบบี๋ปลอดภัย

วิธีรับมือกับนานาปัญหาสุขภาพของแม่ลูกอ่อนทั้งแบบพึ่งและไม่พึ่งการใช้ยา ซึ่งถึงจะอยู่ในช่วงให้นม ก็ไม่เป็นอันตรายต่อเบบี๋อย่างแน่นอน

1. การฟื้นตัวหลังคลอด

อะเซตามิโนเฟนและไอบูโปรเฟนเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดหลังคลอดได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยาลดการอักเสบบางชนิด แม้ไม่ใช่ยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่น นาพรอกเซนเกิน 2-3 วัน หรือควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเลย

หากผ่าคลอด แนะนำให้ใช้โคเดอีนและมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่แรงกว่า แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากๆ อาจมีผลต่อทารกที่กินนมแม่ จึงต้องปรึกษาแพทย์

ทางเลือกอื่นๆ ปล่อยให้ร่างกายฟื้นตัวเองในช่วง 6 สัปดาห์แรก ให้พักผ่อนอย่างเต็มที่ งดทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากๆ ขอให้สามี เพื่อนหรือญาติช่วยทำงานบ้าน โดยเฉพาะการยกของหนักๆ และในกรณีผ่าคลอด ให้ลดแรงกดตรงรอยผ่าโดยใช้หมอนบังท้องตอนให้นมในท่านั่ง

อ่านต่อ “ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และเบบี๋ปลอดภัย” หน้า 2

2. ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ต้องปรึกษาแพทย์เรื่องข้อดี-ข้อเสียของยาเหล่านี้ก่อนเริ่มใช้ ยารักษาภาวะซึมเศร้าที่แพทย์มักแนะนำว่าใช้ได้คือเซอร์ทราลีน และพารอกซีทีน แต่ยาฟลูออกซีทีนอาจสัมพันธ์กับการเกิดโคลิกในทารกที่กินนมแม่ได้ ทารกจะร้องไห้ทีละนานๆ อาเจียน นอนได้น้อยลงและถ่ายเหลว โดยเฉพาะแม่ที่มีลูกวัยต่ำกว่า 4 เดือนไม่ควรใช้

ทางเลือกอื่นๆ จำกัดปริมาณยาในนมแม่โดยให้แพทย์กำหนดขนาดยาต่ำสุดที่ยังได้ผลดี และกินยาตอนให้นมเสร็จ บรรเทาอาการซึมเศร้าหลังคลอดด้วยวิธีอื่น เช่น การเข้ากลุ่มคุณแม่มือใหม่ (ที่จะคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน) หรือการเข้าคลาสออกกำลังกายสำหรับแม่และลูกน้อย

3. เต้านมอักเสบ

หากเต้านมอักเสบเพราะติดเชื้อ คุณหมอมักแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะอย่างไดคลอกซาซิลลิน คลอกซาซิลลิน เซฟาเลกซิน หรืออะมอกซีซิลลิน+คลาวูลาเนต เป็นระยะเวลา 7-14 วัน ยาปฏิชีวนะมักจะออกฤทธิ์เร็ว หลังเริ่มใช้ 24-48 ชั่วโมงน่าจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น แต่ต้องกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง จะได้ไม่กลับมาเป็นอีก

ทางเลือกอื่นๆ แม่อาจคิดจะเลิกให้นมไปเลยเพราะความเจ็บขณะมีการติดเชื้อ แต่ถ้าระบายน้ำนมในเต้านมข้างที่มีการติดเชื้อได้มากพอ (ผ่านการปั๊มนมหรือการให้นมลูก) จะป้องกันไม่ให้มีแบคทีเรียสะสมในเต้านมมากขึ้นอีกและอาจช่วยย่นระยะเวลาในการติดเชื้อได้ ที่สำคัญ คุณสมบัติด้านการต้านแบคทีเรียของนมแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อเชื้อโรคไปยังลูก จึงไม่ต้องเป็นห่วงลูกเลยค่ะ

อ่านต่อ “ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และเบบี๋ปลอดภัย” หน้า 3

4. การติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา

ถ้าแม่ติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อราชนิดอื่นๆ แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้ฟลูโคนาโซล เป็นยาเม็ดที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับช่วงให้นม ฟลูโคนาโซลที่ตกค้างในนมแม่ยังอาจช่วยรักษาอาการติดเชื้อในลูกด้วย (สูตรสำหรับทารกก็มี)

ยาต้านเชื้อรารูปแบบขี้ผึ้งที่ใช้ทาเฉพาะที่อย่างโคลไตรมาโซลนีสแตตินและไมโคนาโซลก็ใช้ได้ แต่ควรใช้ตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น

ทางเลือกอื่นๆ ยาม่วงหรือเจนเชียนไวโอเลตที่หาซื้อได้จากร้านขายยาส่วนใหญ่โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาคือยาต้านเชื้อราจากธรรมชาติที่ปลอดภัย แม่หลายๆ คนก็ชอบใช้ ให้ป้ายยาที่เต้านมและหัวนม ในปากลูกและที่อื่นๆ ที่มีการติดเชื้อได้เลย

อ่านต่อ “ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และเบบี๋ปลอดภัย” หน้า 4

5. หัวนมแตกและเจ็บ

ขี้ผึ้งหรือครีมลาโนลินซึ่งใช้ทาที่หัวนมหลังการให้นมจะช่วยรักษาความชุ่มชื้น จึงช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยเฉพาะขี้ผึ้งหรือครีมที่มีส่วนผสมของลาโนลิน 100% อย่าง Purlan กับ Lansinoh ไม่เป็นพิษต่อทารกและก่อนที่ให้นมก็ไม่จำเป็นต้องล้างออก

ให้เลี่ยงขี้ผึ้งหรือครีมทาหัวนมที่มีส่วนผสมอื่นหรือไม่ได้ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ เพราะจะทำให้ยิ่งระคายเคืองและอาการแย่ลง นอกจากนี้บางยี่ห้ออาจเป็นพิษต่อทารกด้วย (องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ เพิ่งออกประกาศเตือนเรื่องครีมทาหัวนมที่มีส่วนผสมซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของทารก)

ทางเลือกอื่นๆ อาการหัวนมแตกและเจ็บมักเกิดจากวิธีอุ้มลูกเข้าเต้าหรือท่าให้นมที่ไม่ถูกต้อง แม่จึงควรขอคำแนะนำเรื่องเทคนิคในการให้นมลูกจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะแค่ปรับเปลี่ยนท่าเล็กน้อย แม่ก็มักจะให้นมได้โดยไม่ทำให้หัวนมแตกและเจ็บอีก

 

ขอขอบคุณ นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจทานเนื้อหาและอัพเดตข้อมูล

เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock