AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ยาหมดอายุ-เสื่อมคุณภาพ…อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม! พร้อมวิธีสังเกตและตรวจสอบยาเสื่อมสภาพ

ปัจจุบันยาเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันซึ่งมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องพึ่งพาอาศัยยาเพื่อใช้รักษาตัวให้หายจากอาการป่วย แต่บางครั้งยาที่มีประโยชน์นี้ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ถ้าหากเราใช้ยาไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม

และปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยคือปัญหายาหมดอายุและยาเสื่อมคุณภาพ ซึ่งเกิดจากการที่คนเรามียาสะสมไว้ที่บ้านเกินความจำเป็น ประมาณ 3 – 4 เท่าของยาที่ควรมี!!! ทั้งยาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาล หรือคลินิกแล้วกินไม่หมด ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อย ที่เลือกกินยาที่เหลืออยู่ในบ้านมากกว่าออกไปหาหมอเมื่อมีอาการเจ็บป่วย … แต่ที่เสี่ยงอันตรายกว่าก็คือ ยาทุกชนิดมีวันหมดอายุ ซึ่งหมายถึงยาที่หมดประสิทธิภาพในการรักษาแล้ว ถ้าหากกินยาเสื่อมคุณภาพโดยไม่รู้ตัว อาจเสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต

>> การทานยาเสื่อมสภาพเป็นยาที่เปลี่ยนสภาพไป ทำให้ไม่เกิดผลในการรักษาที่ดี หรืออาจเป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้ได้ แม้แต่ยาที่แพทย์สั่ง ก็ควรกินตามคำแนะนำของแพทย์ครับ นั่นคือห้ามกินเกินกว่าวันที่ และไม่ต้องเก็บสะสมไว้หรอกครับ ที่เหลือให้ทิ้งได้เลย

วิธีสังเกตยา ทั้งวันที่ผลิตและวันหมดอายุ

ซึ่งในบรรดายาทั้งหลาย ส่วนมากจะระบุทั้งวันที่ผลิต และวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นภาษาอังกฤษ โดยวันที่ผลิตจะเขียนว่า “Manu. Date” หรือ “Mfg. Date” ตามด้วยวัน-เดือน-ปี ของวันผลิต ส่วนวันหมดอายุหรือวันสิ้นอายุของยา จะเป็นวันที่กำหนดอายุการใช้ยาสำหรับยาที่ผลิตในแต่ละครั้ง เพื่อแสดงว่ายาดังกล่าวมีคุณภาพมาตรฐานตามข้อกำหนดตลอดช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นอายุของยา จะเขียนว่า “Expiry Date” หรือ “Exp. Date” หรือ “Used before” หรือ Expiring หรือ Use by ตามด้วยวัน-เดือน-ปี ของวันหมดอายุ

ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต สามารถสังเกตได้จากวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เช่น ที่แผงยา ซองยา เป็นต้น กรณีที่ระบุเฉพาะเดือนและปีที่หมดอายุ วันหมดอายุจะเป็นวันสุดท้ายของเดือน

…หากคุณพ่อคุณแม่พบเห็นยาที่หมดอายุแล้วให้รีบทิ้งไปได้เลยไม่ต้องเสียดายหรือเก็บสะสมไว้ เพราะยาที่หมดอายุนั้นไม่เพียงกินแล้วไม่ได้ผลในการรักษา แต่อาจเกิดภัยตามมาอย่างคาดไม่ถึง เช่น ยาหมดอายุบางตัวทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง จนอาจกลายเป็นโรคกระเพาะ หรือแทนที่จะระงับโรคกลับทำให้โรคลุกลาม ตัวยาบางชนิดเมื่อเสื่อมอาจก่อโทษภัยแก่ร่างกาย ถึงกับทำให้ไตวายและไตอักเสบได้

อ่านต่อ >> วิธีสังเกตยา ทั้งวันที่ผลิตและวันหมดอายุ” คลิกหน้า 2

ส่วนวิธีการสังเกตยาที่มีการระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยจะมีวันหมดอายุดังต่อไปนี้

ทั้งนี้ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงอายุยาที่กล่าวข้างต้นได้ หากอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต แต่เมื่อมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ยาก็จะเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ … ดังนั้นการสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาร่วมด้วยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากยามีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ก็อาจอนุมานได้ว่าคุณภาพของยาน่าจะเปลี่ยนแปลงและผู้บริโภคไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป

อ่านต่อ >> วิธีการตรวจสอบและสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ” คลิกหน้า 3

วิธีการตรวจสอบและสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ

ถึงแม้ยาที่ผลิตมานั้นจะผ่านกระบวนการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาอย่างเข้มงวดแล้ว แต่ไม่อาจคงคุณภาพนั้นไว้ได้ตลอดกาล เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีความคงตัวแตกต่างกัน เมื่อเวลาผ่านไป ยานั้นๆ จะมีคุณภาพเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการกำหนดอายุการใช้ยา เพื่อไม่ให้มีการจัดเก็บยาไว้นานจนเกินไปจนยาหมดอายุและเสื่อมสภาพลงจนมีผลให้คุณภาพลดน้อยลงไปจากเดิม

ตัวอย่างลักษณะยาที่เสื่อมสภาพ

ยาเม็ด

เมื่อหมดอายุก็มักมีสีเปลี่ยนไปมีจุดด่างขึ้นรา และสังเกตได้ว่าเม็ดยาจะแตกร่วน เป็นผงง่าย เอามือจับรู้สึกเม็ดยานิ่ม ๆ บีบเบา ๆ ก็แตกแล้ว

ส่วนยาเม็ดที่เคลือบน้ำตาล (เช่น วิตามินรวม) เม็ดยามักดูเยิ้มเหนียว มีกลิ่นหืน ๆ บูด ๆ ผิดไปจากเดิม

 
ยาแคปซูล

> แคปซูลแข็ง: แคปซูลมักจะบวมโป่งอาจมีจุดเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่าผงยาเปลี่ยนสี จับกันเป็นก้อน เช่น ยาเตตราซัยคลินที่เสียแล้ว ผงยาจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็น อันตรายต่อไต

> แคปซูลนิ่ม : เปลือกแคปซูลเยิ้มเหลวเหนียวกว่าปกติ แคปซูลเปื่อยทะลุทำให้ตัวยาไหลออกมากด้านนอก

 
ยาผงแห้ง

ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติไม่สามารถละลายได้และถ้าที่ผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำแสดงว่ายาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้

แต่ถ้าเป็นยาแก้อักเสบบางชนิดที่เป็นผงต้องเติมน้ำและเขย่าก่อนกินนั้น หากเติมน้ำเข้าไปในขวดเลยบางครั้งก็เขย่ายากมาก ไม่ยอมละลาย ก่อนเติมน้ำต้องเขย่าขวดให้ผงยากระจาย ไม่เกาะติดก้นขวดก่อนเติมน้ำ และเขย่าอีกครั้ง อย่างนี้ไม่ใช่เสียเพียงแต่เขย่าผิดวิธี

 
ยาน้ำแขวนตะกอน

เช่น ยาลดกรดยาคาลาไมน์ ทาแก้คัน หากเสื่อมสภาพตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น ทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไปจากเดิม

 
ยาน้ำอิมัลชั่น

ปกติเมื่อตั้งทิ้งไว้จะแยกเป็นชั้น และเมื่อเขย่าจะเข้ากันดี…แต่ถ้ายาเสื่อมแล้วเมื่อเขย่าจะไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

 
ยาน้ำเชื่อม

เช่น ยาแก้ไอสำหรับเด็ก หากหมดอายุ ยาจะมี ลักษณะขุ่นมีตะกอน ผงตัวยาละลายไม่หมด สีเปลี่ยน มี กลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว

ยาขี้ผึ้ง

เกิดการแยกของของเหลวออกมาเยิ้มที่ผิวหน้าของยาเตรียมมีความข้นหนืด เปลี่ยนไป และมีกลิ่นเหม็นหืน

 
ยาครีม

การแยกของอิมัลชัน การโตของผลึก การหดตัวของเนื้อครีมเนื่องจากการระเหยของน้ำ และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์


ยาเจล

หากยาเสื่อมสภาพเนื้อเจลใสจะเปลี่ยนเป็นขุ่นและไม่เป็นเนื้อเดียวกัน

อินซูลิน (ยาฉีด)

ลักษณะที่สำคัญที่สุดของสารละลายปราศจากเชื้อคือความใสและการคงสภาพความปราศจากเชื้อซึ่งมักสังเกตไม่ได้ด้วยตาเปล่า แต่อินซูลินชนิดขุ่น หากเสื่อมสภาพตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะ ติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป

 
ยาหยอดตา

ถ้าเสื่อมจะเปลี่ยนจากน้ำใสๆ เป็นน้ำขุ่น หรือหยอดแล้วมีอาการแสบตา มากกว่าปกติ

นมผง และอาหารกระป๋อง หมดอายุ

นอกจากยาแล้ว อาหารหลายอย่างโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป นม มักมีอายุการเก็บ รวมทั้งวิธีการเก็บที่ถูกต้อง หากเก็บผิดวิธี อาจเสียก่อนหมดอายุ … หากกินอาหารหรือนมที่เสียแล้วหรือหมดอายุแล้ว อาจก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ โดยมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียในอาหาร นม รวมทั้งสภาพทางชีวเคมีของอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป

การปฐมพยาบาล เมื่อกินยา หรือกินอาหารหมดอายุ

เบื้องต้นหากเพิ่งรู้ว่าทานยาหมดอายุไปอย่าตกใจเกินเหตุ และไม่ต้องล้วงคอ ไม่ต้องดื่มนม แต่ควรดื่มน้ำตามไปก่อน และเก็บฉลากให้รู้ชนิดยาที่กิน จำนวนที่กินเข้าไป สังเกตลักษณะที่ผิดปกติ เช่น สีที่เปลี่ยน กลิ่นที่ผิดปกติ และโทรถามศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี หมายเลข 02-201-1083 ซึ่งศูนย์พิษนี้จะเปิด 24 ชั่วโมง มีนักเภสัชวิทยาคอยให้คำแนะนำ บอกวิธีการปฐมพยาบาล และความจำเป็นที่จะต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือไม่ 

ดังนั้น ก่อนใช้ยาใดๆ จึงควรดูวันหมดอายุ และสังเกตสภาพยาว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะนอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจให้ทิ้งไป และเพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : med.mahidol.ac.th

www.pharmacy.mahidol.ac.th

www.thaihealth.or.th