ส่วนวิธีการสังเกตยาที่มีการระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยจะมีวันหมดอายุดังต่อไปนี้
- ยาแบ่งบรรจุล่วงหน้า( pre-pack) ยานำมาแบ่งบรรจุจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี นับจากวันที่แบ่งบรรจุ แต่ต้องไม่เกินอายุยาที่ระบุจากบริษัทยา ดังนั้นยาที่จะนำมาแบ่งบรรจุ ต้องมีอายุการใช้งานเหลืออย่างน้อย 1 ปี
- ยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้ จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต ส่วนยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก หลังจากเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน การเก็บรักษายาจะต่างกันไปตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด และหากเปิดใช้ยาน้ำแล้วขึ้นกับว่าดูแลการปนเปื้อนได้ดีหรือไม่ เช่น ยาแก้ไอ แต่ใช้ปากจิบจากขวดยา (ห้ามทำเช่นนี้เด็ดขาด เพราะเราจะไม่รู้ขนาดที่กินเข้าไปชัดเจน) ก็จะทำให้ปนเปื้อนและเสียได้ในเวลาสองสามวัน หากเทใส่ช้อนกิน จะไม่ปนเปื้อน ให้ปิดฝาอย่างดี แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้ถึง 3 เดือน
- ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย โดยทั่วไปหลังผสมถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้องเก็บได้ 7 วัน ถ้าเก็บในตู้เย็นเก็บได้ 14 วัน
- ยาน้ำเชื่อม หลังเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 1 เดือน และเก็บที่อุณหภูมิห้อง (การแช่ตู้เย็นไม่ช่วยยืดอายุยา แต่อาจทำให้ยาตกตะกอน หรือน้ำเชื่อมตกผลึก แต่ AZT syrup ต้องเก็บในตู้เย็น)
- ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค(Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ เนื่องจากสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ใส่ไปมีประสิทธิภาพดีในช่วง 1 เดือน หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน
- ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิต ที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา (สี กลิ่น รส)เปลี่ยนแปลงไป เป็นการบ่งบอกถึงความไม่คงตัวของยา ก็ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป
ทั้งนี้ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงอายุยาที่กล่าวข้างต้นได้ หากอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต แต่เมื่อมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ยาก็จะเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ … ดังนั้นการสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาร่วมด้วยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากยามีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ก็อาจอนุมานได้ว่าคุณภาพของยาน่าจะเปลี่ยนแปลงและผู้บริโภคไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป