AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อยู่ไฟหลังคลอด เข้ากระโจม ทับหม้อเกลือ วิธีโบราณ ช่วยดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอดให้ดีขึ้น

ขอบคุณภาพ แม่นายการะเกด อยู่ไฟหลังคลอด จาก : [Twitter] aumaum3098

อยู่ไฟหลังคลอด …การ อยู่ไฟ เป็นวิธีโบราณของไทยแต่เดิมมา ที่คนเฒ่าคนแก่ได้สอนให้แม่ลูกอ่อนที่เพิ่งคลอดลูกทุกคนได้ทำการอยู่ไฟ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ มดลูกเข้าอู่ ได้เร็ว สุขภาพดี มีน้ำนมมาก

จากกระแสดังที่ไม่มีใครเกินในวินาทีนี้…จนทำให้คนไทยหลายคนย้อนรำลึกไปถึงสมัยโบราณ กับ ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ละครแนวย้อนยุคสมัยอยุธยา ที่ถูกนำมาจากนวนิยายชื่อดัง และก็มีหนึ่งในฉากสุดประทับที่ แม่หญิงการะเกด ต้องมา อยู่ไฟ  หลังจาก คลอดลูก คนแรก ซึ่งเป็นวิธีการอยู่ไฟแบบสมัยโบราณ จึงอาจเรียกได้ว่าวิธีนี้เป็นการช่วยฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่หลังคลอดได้เป็นอย่างดี และมีมาช้านานแล้วจริงๆ

อยู่ไฟหลังคลอด วิธีโบราณ ช่วยดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอดให้ดีขึ้น

อยู่ไฟหลังคลอด ถือเป็นภูมิปัญญาไทยโบราณ  โดยมีหลักการคือ การใช้ความร้อนและสมุนไพร จากความเชื่อที่ว่าความร้อนนั้นดีต่อร่างกายมากกว่าความเย็น เพราะความร้อนจะทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยให้แผลหายเร็ว ซึ่งขั้นตอนการอยู่ไฟแบบดั้งเดิมสมัยก่อนจะใช้เวลาทั้งวัน

อีกทั้งยังมีการให้เข้ากระโจม เพื่อนวดตัวด้วยลูกประคบ นาบด้วยหม้อเกลือ ซึ่งคุณแม่ที่คลอดลูกเองแบบธรรมชาติสามารถ อยู่ไฟหลังคลอดได้ทันที ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอดควรรอให้แผลผ่าตัดแห้งติดสนิทเรียบร้อยดีก่อนจึงอยู่ไฟได้

โดยการ อยู่ไฟ สมัยก่อนจะให้ คุณแม่หลังคลอด นอนบนกระดานแผ่นเดียวหรือบางพื้นที่ใช้แคร่ไม้ไผ่ มีไฟก่อไว้ข้างล่างพอร้อน เป็นระยะเวลา 7-14 วัน บางรายอาจจะอยู่เพียง 3 วัน หรือนานถึง 1 เดือน หรือนานถึง 44 วัน

ประโยชน์ของการ อยู่ไฟหลังคลอด

นอกจากนั้น การอยู่ไฟจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนทำให้ลดอาการปวดเมื่อยร่วมด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้มารดามีสุขภาพแข็งแรง

Good you know : การอยู่ไฟอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ เช่นเดียวกับคนที่อบเซาน่าหรือแช่น้ำแร่ร้อนเกิน 15 นาที ซึ่งจะมีเหงื่อออกมากจนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ทำให้น้ำนมน้อยลง คุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ระหว่างที่อยู่ไฟด้วยนะคะ

การอยู่ไฟหลังคลอดในปัจจุบัน

ซึ่งในปัจจุบันการอยู่ไฟได้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ด้วยการใช้ความร้อนคู่กับสมุนไพรไทยมาเป็นเครื่องมือหลัก ๆ มีการประยุกต์โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระโจมร้อน ๆ แบบสมัยก่อน เพียงแค่อบไอร้อนในตู้อบสมุนไพรให้โผล่ออกมาแต่คอ หรือการอบเซาน่าโดยใช้สมุนไพรที่ใช้อบตัวซึ่งหาซื้อได้ง่ายขึ้นตามร้านค้า จะช่วยประหยัดเวลาและสะดวกสบายขึ้นมากกว่าแต่ก่อน

โดยมีระยะเวลาในการอยู่ไฟตั้งแต่ 7 วันขึ้นไปเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็สามารถเลือกบริการจากแพทย์แผนไทยหรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญได้ ตามโรงพยาบาล คลินิกแพทย์แผนไทย ไปจนถึงบริการอยู่ไฟถึงที่บ้านแบบเดลิเวอรี่ก็ได้

อันดับแรก ก่อนที่คุณแม่หลังคลอดต้องการอยู่ไฟ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจซักถามข้อมูลสุขภาพของคุณแม่ เพื่อนำไปวิเคราะห์และเลือกขั้นตอนต่าง ๆ ให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคล รวมไปถึงสอบถามอาการ โรคประจำตัวของคุณแม่แต่ละคนด้วย โดยวิธีการอยู่ไฟในสมัยใหม่จะมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้…

1. การประคบสมุนไพร

นำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด การบูร พิมเสน เกลือ ใบมะขาม เป็นต้น นำมาโขลกพอแหลก คลุกรวมเข้ากัน ห่อเป็นลูกประคบ นำมาผ่านไอความร้อนจากน้ำเดือด เมื่อได้ความร้อนจากไอเต็มที่ นำลูกประคบมาประคบบริเวณหลัง สะโพก ท้อง และขา สมุนไพรที่ใช้ประคบส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อถูกความร้อนจะส่งกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย

ประโยชน์ของการประคบด้วยสมุนไพรหลังคลอด ได้แก่ ลดการเป็นตะคริว ลดการช้ำบวม ลดการอักเสบ กระตุ้นให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย ช่วยให้การหายใจดีขึ้น

2. การอาบน้ำสมุนไพร

นำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาอาบ สมุนไพรที่ใช้ต้ม เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบเปล้า ใบหนาด เป็นต้น

การอาบน้ำสมุนไพรจะทำร่วมกับการประคบเปียก หรืออบสมุนไพรโดยปรับตามความเหมาะสม การอาบสมุนไพรช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผิวหนังสะอาด ลดอาการคัน ลดอาการหวัด คัดจมูก เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบ เป็นการบำรุงผิวพรรณไปในตัว

3. การเข้ากระโจมหรือการอบไอน้ำสมุนไพร

การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มในกระโจม เพื่อให้ไอน้ำที่ได้จากการต้ม ซึ่งจะต้องอยู่ในที่มิดชิด เพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง ในปัจจุบันจะมีการปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้สะดวกขึ้น เป็นการอบสมุนไพรในตู้อบสำเร็จรูปหรือห้องอบสมุนไพร ส่วนสมุนไพรที่ใช้จะใช้เหมือนกับการอบไอน้ำสมุนไพร

สมุนไพรที่ใช้ในการอบไอน้ำ มี 4 กลุ่ม คือ 

1) สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ปวดเมื่อย อาการหวัดคัดจมูก เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ฯลฯ
2) สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง เช่น ใบมะขาม และใบหรือฝักส้มป่อย
3) สารหอมที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อน เช่น พิมเสน การบูร ช่วยแต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น
4) สมุนไพรที่ใช้เฉพาะโรค เช่น กรณีผื่นคันใช้เหงือกปลาหมอ กรณีปวดเมื่อยใช้เถาวัลย์เปรียง กรณีแก้เจ็บตา ตาแฉะ ใช้กระวาน เกสรทั้ง 5 แต่งกลิ่น ช่วยระบบการหายใจ

4. การทับหม้อเกลือ

เป็นการนำเกลือสมุทรใส่หม้อตั้งไฟให้ร้อน แล้วมาวางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้ ห่อผ้าแล้วนำมาประคบตามอวัยวะต่าง ๆ ของหญิงหลังคลอด การทับหม้อเกลือเริ่มจากนำสมุนไพร ได้แก่ ไพล ว่านนางคำ ว่านชักมดลูก ไม่ต้องปลอกเปลือกหั่น และตำให้พอแหลก เคล้าตัวยาทั้ง 3 ผสมกับการบูร วางลงบนผ้าที่จะใช้ห่อ นำใบพลับพลึงกรีดเอาเส้นกลางใบออกวางขวางสลับกันเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม วางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ จากนั้นนำหม้อทะนนหรือหม้อดินขนาดเล็กใส่เกลือเม็ด ตั้งไฟจนเม็ดเกลือแตก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกหม้อเกลือวางลงบนใบพลับพลึงและสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ หลังจากนั้นห่อผ้าแล้วน้ำมาทับบริเวณท้อง หลัง สะโพก และขา

ข้อควรระวังในการทับหม้อเกลือ

1) ห้ามทำในรายที่มีไข้
2) ห้ามรับประทานอาหารหนักก่อนทับหม้อเกลือ
3) ห้ามทำกรณีที่มดลูกยังลอยตัว ต้องรอให้มดลูกเข้าอู่ก่อนหรือหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์
4) การคลอดโดยวิธีผ่าตัด ทำหมัน ห้ามทับหม้อเกลือ หรือควรจะรอให้เกิน 1 เดือน

ประโยชน์ของการทับหม้อเกลือ ได้แก่ ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ลดไขมันหน้าท้อง บรรเทาอาการปวดเมื่อย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก การทับหม้อเกลือควรทำติดต่อกัน 3-5 วัน ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง และควรทำในตอนเช้า

อ่านต่อ >> “ขั้นตอนการอยู่ไฟในสมัยใหม่ที่แม่หลังคลอดทำได้” คลิกหน้า 3

5. การนวดหลังคลอดการนวดหลังคลอด

จะมีท่านวดที่เรียกว่า“การนวดเข้าตะเกียบ” เนื่องจากหญิงหลังคลอดจะมีอาการขัดสะโพกและขา เพราะเกิดจากการขยายตัวของอุ้งเชิงกรานในช่วงตั้งครรภ์และขณะคลอด จนทำให้เกิดอาการดังกล่าว ซึ่งปกติแล้วข้อต่อเหล่านี้สามารถกลับเข้าที่ได้เอง ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ แต่การนวดเข้าตะเกียบเป็นการช่วยให้ข้อต่อกลับเข้าที่ได้เร็วขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ชำนาญเท่านั้น ที่สามารถทำให้กับแม่หลังคลอดได้ เพราะถ้าไม่มีความชำนาญอาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อได้

ขอบคุณภาพจาก : Naresuan University

 

6. การคาดไฟชุดตำราหลวง

เป็นไฟชุดสำเร็จรูปลักษณะเป็นกล่องนำความร้อนด้วยก้านแท่งบรรจุอยู่ในช่องผ้าคล้ายเข็มขัดขนาดใหญ่ เพื่อใช้คาดที่เอวหรือบริเวณหน้าท้อง เพื่อช่วยแก้อาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวแก้อาการหนาวสะท้าน แก้อาการตะคริว อีกทั้งเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องยังสามารถช่วยลดหน้าท้องได้อย่างถาวรอีกด้วย (ขณะใช้ไฟชุดสามารถปฏิบัติภารกิจประจำวันได้ด้วย)

7. การดื่มน้ำสมุนไพร

โดยการดื่มน้ำขิงเป็นประจำทุกวันในช่วงอยู่ไฟ จะช่วยปรับสมดุลของร่างกายและกระตุ้นเลือดลมให้เดินเป็นปกติ รวมไปถึงจะช่วยรักษาสมดุลของร่างกายไม่ให้เย็นมากจนเกินไป

8. สครับขัดบำรุงผิว

เป็นวิธีการใหม่ที่เพิ่งมีเข้ามาสำหรับการอยู่ไฟในยุคนี้ ด้วยการพอก ขัด นวดด้วยเกลือสะตุและสมุนไพรไทยต่าง ๆ จะช่วยกระชับ บำรุงผิวที่แตกลาย เซลล์เสื่อมสภาพให้เรียบเนียนและมีสุขภาพดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากคุณแม่ที่คลอดลูกแล้วสนใจวิธีการ อยู่ไฟหลังคลอด ก็ควรปรึกษากับแพทย์ให้แน่ชัดเสียก่อนว่าสภาพร่างกาย บาดแผลของคุณแม่แต่ละคนมีความเหมาะสมและสามารถทำการอยู่ไฟได้หรือไม่ อย่างไร และเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคุณแม่ที่จะซื้อชุดอยู่ไฟมาทำเองที่บ้าน ยิ่งต้องศึกษาและขอคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วยนะคะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก :  baby.kapook.com , www.stou.ac.th , www.yesspathailand.com , www.thaibreastfeeding.org