AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ติดจอ เล่นสมาร์ทโฟนหนัก เสี่ยงภัยทางสายตา

ในยุคของโลกดิจิตอล ทุกๆ คนต่างก้มหน้าก้มตาจ้องอยู่แต่กับสมาร์ทโฟน แท็บเลต และทีวีดิจิตอล หลายคนเอาแต่ก้มหน้าไม่พูดคุยกับคนรอบข้าง โดยเฉพาะเด็กๆ ในยุคปัจจุบันที่เป็นโรค ติดจอ จนบางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหา ปวดคอ และส่งผลต่อปัญหาสายตา ทำให้สายตาล้าเรื้อรัง

ติดจอ เสี่ยงภัยทางสายตา

ในปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาทางสายตาผิดปกติมากถึง 6.6% และต้องใส่แว่นอีก 4.1% ซึ่งเป็นทั้งเด็กในเมือง และชนบท เพราะพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในระยะที่ใกล้มาก ทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเลต และสมาร์ทโฟน

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปัจจุบัน เด็กๆ มีการอ่านหนังสือ และใช้สื่อเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ต้องใช้สายตามาก ส่งผลต่อปัญหาทางสายตา ทำให้มีสายตาสั้นมากขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะมีปัญหาทางสายตาอยู่ 10% ขณะที่เด็กที่อยู่นอกเขตตัวเมืองมีปัญหาทางสายตาเพียง 3-4% แต่ในปัจจุบันเด็กทั่วประเทศมีปัญหาทางสายตาไม่แตกต่างกันเลย

เด็กที่สายตาสั้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้องก่อนวัย 6 ขวบ อาจจะทำให้มีปัญหา กลายเป็นโรคตาขี้เกียจตามมา ทำให้การมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่า ตาข้างนั้นจะเห็นภาพมัว และส่งผลให้เกิดปัญหาตาเหล่ตามมา เนื่องจากมองเห็นไม่ชัด จึงต้องเพ่ง ทำให้กล้ามเนื้อสายตาเข สุดท้ายตาก็จะเหล่ได้

การพัฒนาของสายตานั้น จะเริ่มตั้งแต่แรกคลอด และสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ แล้วสายตาจะคงที่ไปจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ การมีความผิดปกติของตาตั้งแต่เด็ก จะมีผลอย่างมากต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต คุณพ่อ คุณแม่จึงควรสังเกตความผิดปกตินี้ เช่น อาการตาเข ตาเหล่ ตาลอย เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ ตามวง ตาเอียง ฉะนั้นอย่าให้ลูกน้อยเอียงหน้า เอียงคอมอง อย่าดูหนังสือ หรือสื่อเทคโนโลยีในระยะใกล้ คอยสังเกต ถ้าลูกน้อยบ่นปวดศีรษะในตอนเย็น หรือหลังเลิกเรียน บ่นว่ามองไม่ชัด ขอให้คุณพ่อ คุณแม่พาลูกน้อยไปหาจักษุแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาก่อนที่จะสายเกินไป

และมีข่าวดีสำหรับลูกน้อย ในปี 2560 นี้ กระทรวงสาธารณะสุข ได้จัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี” เพื่อตรวจคัดกรองสายตาให้เด็กๆ ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 1,040,000 คน พร้อมมอบแว่นตาอันแรกแก่เด็กๆ ที่มีปัญหาทางสายตาฟรี 43,006 คน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “อันตรายของการติดจอกับการรักษาด้วยเลสิก” คลิกหน้า 2

อันตรายของการติดจอ

พญ.โสมสราญ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปคนเราจะกระพริบตาประมาณ 20 ครั้งต่อนาที เพื่อให้ดวงตาได้รับความชุ่มชื้น แต่เมื่อเราใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ หรือเล่นแท็บเล็ตเป็นเวลานานมากกว่า 40 นาที ทำให้เลนส์ตาเกร็งตัว

ทำให้อัตราการกระพริบตาลดลง รวมทั้งแสง UV และแสงสีฟ้าที่สะท้อนออกมาทำลายดวงตาให้ผิดปกติ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้หน้าจอเล็กเกินไป แสงสว่างในบริเวณที่เล่นไม่เพียงพอ หรือมีแสงภายนอกที่สะท้อนเข้ามาปะทะหน้าจอ แล้วสะท้อนกลับมาเข้าตาผู้ใช้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้งได้ ทำให้เกิดปัญหาการยืดหยุ่นของเลนส์กล้ามเนื้อจนเป็นตะคริว และเกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสายตาสั้น computer vision syndrome ต้อเนื้อ ต้อลม และจอประสาทตาเสื่อมได้

การรักษาดวงตาด้วยการทำเลสิก

ภาวะสายตาผิดปกติ อาจแยกออกได้เป็นสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด สายตาเอียง และสายตายาวตามอายุ ซึ่งวิธีการแก้ไขทางสายตานั้นมีหลายวิธี เช่น การใส่แว่นตา การใส่คอนแทคเลนส์ หรือวิธีสมัยใหม่คือการผ่าตัด ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีตั้งแต่ การกรีดกระจกตา ขัดผิวกระจกตา จนมาถึงวิธีที่ปลอดภัย และแม่นยำ คือการทำเลสิก (LASIK) ซึ่งมีการพัฒนาทางเทคนิคต่างๆ ช่วยให้กระจกตาเรียบเนียน อ่อนโยนต่อดวงตา ลดความคลาดเคลื่อนในการแยกชั้นกระจกตา และสามารถปรับความโค้งของกระจกตาให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ โดยวิธีการนี้เรียกว่า ReLEX ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 วิธีด้วยกัน คือ

  1. ReLEx: FLEX (Femtosecond Lenticule extraction) เป็นการยิงเลเซอร์แยกชั้นกระจกตาออกเป็นฝากระจกตา แล้วจึงนำกระจกตาที่แยกไว้เป็นเลนส์ออก จากนั้นจึงปิดฝากระจกตาให้กลับสู่สภาพเดิม
  2. ReLEx : SMILE (Small Incision Lenticule Extraction) เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก โดยการยิงเลเซอร์ ช่วยแยกชั้นกระจกตาให้เป็นเลนส์ในเนื้อกระจกตา แล้วนำเนื้อส่วนนี้ออก ผ่านแผลกระจกตาซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 2-5 มิลลิเมตร จะทำให้รู้สึกสบายตาในขณะผ่าตัด

ซึ่งทั้ง 2 วิธีจะช่วยลดการรบกวนกระจกตา ทำให้มีผลข้างเคียงน้อย และมีความแม่นยำในการรักษา แต่การทำเลสิกแบบ ReLEX นั้น จะเป็นการแยกชั้นกระจกตา จึงไม่เหมาะกับคนที่มีเลนส์ตาบางเกินไป และสายตาสั้นมากๆ โดยก่อนเริ่มผ่าตัด จะได้รับการหยอดยาปฏิชีวนะ และยาชาในตา ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการแยกชั้นกระจกตา แล้วใช้เลเซอร์ปรับแต่งในมีความโค้งที่เหมาะสม จากนั้นจึงทำความสะอาดแผล และปิดกระจกตาที่แยกชั้นไว้ กลับเข้าที่เดิม ผิวกระจกตาจะสมานตัวได้เอง ซึ่งใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 15 นาทีเท่านั้น แล้วปิดฝาครอบตาที่มีความใส และมีรูเล็กๆ สามารถมองลอดผ่านได้ สามารถใช้สายตาได้ปกติ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ทันที

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ “ปฏิบัติตัวหลังทำเลสิก และป้องกันปัญหาสายตา” คลิกหน้า 3

วิธีการปฏิบัติตัวหลังทำเลสิก

หลังจากได้รับการผ่าตัดทำเลสิก ควรพักสายตาเป็นระยะ ระวังไม่ให้น้ำเข้าตา หมั่นหยอดยาป้องกันการติดเชื้อ งดขยี้ตา งดแต่งหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ใส่แว่นกันแดดเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีแสงจ้า รวมทั้งใน 2 วันแรก ควรงดการใช้สมาร์ทโฟน หรือหน้าจอของเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้สายตามากเกินไป และไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันปัญหาทางสายตา

สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่ต้องทำงาน และอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ มักมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ตาโฟกัสช้า  เคืองตา ตาแห้ง ดวงตาล้า และบ่อยครั้งมีอาการปวดหัวร่วมด้วย อาการทางสายตาเหล่านี้เกิดจากการจ้องดูข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อเนื้อ ต้อลม และจอประสาทตาเสื่อม

ฟังดูแล้วน่ากลัวทั้งนั้น ทางที่ดีหันมาถนอมดวงตาเรา และลูกน้อยให้อยู่ไปนานๆ กันดีกว่า เมื่อไหร่ที่ตาของคุณพ่อ คุณแม่เกิดอาการล้า ให้ทำตามดังนี้

1.ไม่ควรเพ่งหน้าจอมากๆ หยุดพักสายตาทุกๆ 30 นาที เพื่อลดอาการปวดตาเรื้อรัง

2.ปรับแสงหน้าจอ และแสงสว่างภายในห้องให้เหมาะสม

3.ดูแลสุขภาพจากภายในด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสายตา เช่น วิตามินเอ หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยในการถนอมดวงตาไม่ให้โดนทำลาย

4.ทำจิตใจ และสมองให้ปลอดโปร่ง หันมาพูดคุยกับคนรอบข้างบ้าง จะทำให้มองเห็นอะไรๆ ชัดเจนขึ้น

5.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ ห่างเจ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ให้มากขึ้น มองธรรมชาติภายนอกห้องเป็นระยะ

เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ThaiPR.NET

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

Tablet มือถือ คอมพิวเตอร์ อันตรายเสี่ยงลูกป่วยทางสายตา

ปัญหาสายตาในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

อุทาหรณ์ ลูกน้อยติดมือถือจนถึงขั้น “ลงแดง!!”

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Save

Save

Save