เตือน!! ผักดิบ 9 ชนิดดังต่อไปนี้ที่หากกินดิบบ่อย ๆ อาจเป็นการสะสมสารอันตรายต่อร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว
“ผัก” ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะทำไปปรุงอาหารหรือถ้าสามารถกินผักสดได้ด้วยแล้วจะยิ่งได้รับวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งใยอาหาร สารพฤกเคมี (ประโยชน์ของผักหลากสี) และมีผักบางชนิดที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
หากพูดถึงอาหารสุขภาพ แน่นอนว่าจะต้องมีอาหารจำพวกผักอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งคุณประโยชน์ของผัก โดยรวมก็ช่วยเสริมสร้าง ควบคุมการทำงาน และช่วยควบคุมการไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย ช่วยป้องกันและบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ แถมยังช่วยบำรุงผิวพรรณ … “ผัก” นั้นมีประโยชน์มากมายจริงๆ แต่หากว่าเรากินผักไม่ถูกวิธี ผักที่ว่าเป็นประโยชน์นั้นก็อาจจะกลายเป็นโทษไปก็ได้
ซึ่งการทานผักสดในบางครั้งก็ไม่ได้ให้ประโยชน์กับร่างกายเสมอไปนะคะ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องที่มีอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ ที่ใครๆ ก็แนะนำว่าให้เน้นทานผักเยอะๆ จะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย ใยอาหารในผักก็จะช่วยให้เรื่องระบบขับถ่ายของเด็กให้ดีขึ้น >> แต่ก็มีผักอยู่บางชนิด ที่ไม่ควรบริโภคแบบดิบๆ ซึ่งผักที่ห้ามกินดิบ จริง ๆ แล้วอาจไม่ถึงกับเป็นผักต้องห้าม ทว่าควรบริโภคแต่น้อยเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ หากกินดิบ ๆ ในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ได้
1. กะหล่ำปลีดิบ
กะหล่ำปลีมีวิตามินซีสูง กินแล้วมีประโยชน์แน่ ๆ แต่ต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เนื่องจากหากกินกะหล่ำปลีดิบในปริมาณมาก สารออกซาเลต (Oxalate) ในกะหล่ำปลีจะไปจับกับแคลเซียมที่กรวยไต จนกลายเป็นสารแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งหากมีสารตัวนี้ที่กรวยไตมาก ๆ ก็เสี่ยงต่อโรคนิ่วในไตได้ อีกทั้งในกะหล่ำปลีดิบยังมีน้ำตาลชนิดหนึ่ง ซึ่งคนที่มีปัญหาในระบบย่อยอาหารอาจย่อยน้ำตาลชนิดนี้ไม่ได้ และอาจนำไปสู่อาการท้องอืด แน่นท้อง แต่หากนำกะหล่ำปลีไปปรุงสุก น้ำตาลที่ว่าก็จะเปลี่ยนโมเลกุลเป็นสารที่ย่อยได้ง่าย ไร้ปัญหาท้องอืดแน่นอน
นอกจากนี้ในกะหล่ำปลีดิบยังมีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) สารที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายดึงไอโอดีนจากเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ จนอาจก่อให้เกิดโรคคอหอยพอกได้ แต่กอยโตรเจนจะสลายได้อย่างรวดเร็วเมื่อโดนความร้อน ฉะนั้นจึงควรบริโภคกะหล่ำปลีแบบปรุงสุกจะดีกว่า ส่วนคนปกติทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก หรือลาบก็คงไม่มากเท่าไหร่ ยกเว้นทานเป็นกิโลๆ
2. ดอกกะหล่ำดิบ
พืชชนิดหัวอีกอย่างที่ต้องระวังหากจะกินดิบ ๆ เพราะดอกกะหล่ำก็มีน้ำตาลชนิดเดียวกันกับกะหล่ำปลีด้วย ดังนั้นหากไม่อยากเกิดอาการท้องอืด ก็ควรนำดอกกะหล่ำไปปรุงให้สุกก่อนรับประทานนะคะ
3. บรอกโคลีดิบ
มาตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลีและดอกกะหล่ำเลย บรอกโคลีมีน้ำตาลที่ควรต้องถูกย่อยด้วยความร้อนก่อนจึงจะไม่ก่อให้เกิดอาการท้องอืด และในบรอกโคลีดิบยังมีฮอร์โมนบางชนิดที่เป็นตัวกระตุ้นความเสี่ยงโรคไทรอยด์ แต่เจ้าฮอร์โมนที่ว่าจะถูกย่อยสลายไปเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นบรอกโคลีจึงจัดเป็นผักอีกชนิดที่กินดิบมาก ๆ อาจก่อให้เกิดโทษได้
4. ผักโขมดิบ
ผักใบเขียวขจีอย่างผักโขมดิบ ๆ มีกรดออกซาลิก (Oxalic) ที่มีฤทธิ์ทำให้ลำไส้ระคายเคือง แถมยังเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กและแคลเซียม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคนิ่วในไตอีกทางหนึ่งได้ด้วย ทว่าเจ้ากรดออกซาลิกตัวนี้จะหมดฤทธิ์ทันทีเมื่อเจอความร้อน ซึ่งก็หมายความว่าเราควรปรุงผักโขมให้สุกก่อนนำมารับประทานนั่นเองนะคะ
อ่านต่อ >> “ผักที่ไม่ควรกินแบบดิบๆ อีก 5 อย่าง” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
5. ถั่วฝักยาวดิบ
ถั่วฝักยาวดิบจะมีปริมาณไกลโคโปรตีนและเลคตินค่อนข้างสูง ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนชักนำอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการท้องเสียได้ในเวลา 3 ชั่วโมงหลังรับประทานถั่วดิบ ๆ เข้าไป ซึ่งทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกายังออกมาเตือนอีกด้วยว่า ไม่ใช่แค่ถั่วฝักยาวเท่านั้นที่กินดิบ ๆ แล้วอาจให้โทษ ทว่าถั่วแดงหรือถั่วดำก็ไม่ควรกินดิบด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นอาจทำให้ไม่สบายได้
6. ถั่วงอกดิบ
ผักดิบ ผักกินสดฮอตฮิตอันดับต้น ๆ อย่างถั่วงอกมักจะมีสารโซเดียมซัลไฟต์ ซึ่งเป็นสารฟอกขาวที่เหล่าพ่อค้า แม่ค้ามักจะนำมาฟอกสีให้ถั่วงอกมีสีขาวน่ารับประทาน อีกทั้งยังเป็นสารที่รักษาความสดของถั่วงอกให้เก็บไว้ขายได้นาน ซึ่งหากผู้บริโภคมีอาการแพ้สารชนิดนี้ หรือกินถั่วงอกดิบในปริมาณมาก ทางศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ก็บอกว่าอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ และปวดท้องได้ แต่ถ้าหากนำถั่วงอกไปปรุงสุกก็จะช่วยทำลายสารฟอกขาวได้จนไม่ก่อให้เกิดอันตรายค่ะ
7. หน่อไม้ดิบ
ศูนย์ข้อมูลด้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ในหน่อไม้สดมี Cyanogenic glycoside ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ อันมีพิษต่อร่างกาย และหากร่างกายได้รับสารตัวนี้ในปริมาณมาก Cyanogenic glycoside จะเข้าไปจับกับฮีโมโกลบิน ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน ทุรนทุราย หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ปรุงสุกหน่อไม้หรือนำหน่อไม้ไปดอง (ซึ่งต้องผ่านการต้ม) ก่อนรับประทาน เพราะวิธีการปรุงสุกด้วยความร้อนจะช่วยสลาย Cyanogenic glycoside ได้
8. มันสำปะหลังดิบ
Cyanogenic glycoside สารตัวนี้ยังตามมาหลอกหลอนในมันสำปะหลังด้วย ซึ่งทางสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้บอกว่า หากรับประทานมันสำปะหลังดิบในส่วนหัว ราก ใบ อาจมีพิษทำให้ถึงตายได้ โดยมีพิษขัดขวางการทำงานของระบบหัวใจและทางเดินโลหิต ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง หรือเบาะ ๆ อาจเกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วง
9. เห็ดดิบ
เห็ดสดที่มีเนื้อสีขาวทั่วไปมักจะตรวจพบสารอะการิทีน (Agaritine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง แต่จะสลายไปได้เองหากเห็ดเหล่านั้นผ่านการปรุงสุกแล้ว
อย่างไรก็ดี ขอย้ำกันอีกทีว่าผักเหล่านี้ไม่ใช่ผักต้องห้าม แต่ควรจำกัดปริมาณการบริโภค ผักดิบ ไม่ให้กินเยอะครั้งละเป็นกิโลกรัม หรือรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน ๆ จนเกิดการสะสมของสารที่เป็นโทษต่างหากนะคะ
การกินผักโดยรวมให้ปลอดภัยก็ต้องล้างให้สะอาด แต่บางชนิดก็ต้องกินสุก และบางชนิดต้องต้มให้ถึงอุณหภูมิ เช่น หน่อไม้ มันฝรั่ง ต้องต้มเกิน 10 นาที แต่บางชนิดเช่น กระหล่ำปลีก็สามารถใช้แค่การลวกเท่านั้นได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
วิธีการต้ม/ลวก ผักดิบ ให้เขียวกรอบน่ากิน
มีผักบางชนิดจะมีรสชาติอร่อยมากขึ้นเมื่อผ่านการลวก ผักลวกนิยมรับประทานคู่กับอาหารที่มีรสจัด เช่น น้ำพริกนานาชนิด แกงกะทิ แกงไตปลา ที่มีรสจัด เพื่อที่จะลดความเลี่ยนและความเผ็ดของอาหาร และยังช่ายเพิ่มคุณค่าทางอาหารอีกด้วย แต่ผักบางชนิดเมื่อลวกแล้วผักกลับดำคล้ำไม่น่ารับประทาน วันนี้มีเทคนิคง่ายๆ สำหรับการลวกผักให้กรอบ เขียวสวยน่ารับประทานมาฝากกัน
- ขั้นตอนแรก ล้างผักให้สะอาด แยกผักออกเป็นส่วนที่สุกยากเช่น ต้น ก้าน และส่วนที่สุกง่ายเช่น ใบ ยอด ดอก
- ขั้นตอนต่อไป ตั้งน้ำให้เดือด พยายามใส่น้ำให้น้อยที่สุด หรือพอให้ท่วมผักเมื่อใส่ลงไปในหม้อแล้ว (เพื่อถนอมคุณค่าทางอาหารของใบเขียว) ต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือ และน้ำมันอย่างละประมาณ 1 ช้อนชา (เกลือทำให้ผักมีรสชาติ น้ำมันทำให้ผักมีสีเขียว)
- ขั้นที่สาม เร่งไฟแรง ใส่ผักลงไปต้ม โดยใส่ส่วนที่สุกยากก่อน สักพักแล้วค่อยตามด้วยส่วนที่สุกง่าย
- ขั้นสุดท้าย เมื่อผักสุกใบเปลี่ยนเป็นสีเขียวสม่ำเสมอ ให้ตักผักขึ้นแช่ในน้ำแข็งทันที คลุกเคล้าผักกับน้ำแข็งเบาๆเพื่อให้ผักคายความร้อน ไม่สุกต่อ ถ้าไม่แช่น้ำแข็งจะทำให้ผักนิ่ม ไม่กรุบกรอบ และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือเขียวคล้ำไม่น่ากิน
เพียงเท่านี้ผักลวกของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเขียว กรอบ น่ารับประทานแล้ว ง่ายขนาดนี้ถ้ามีเมนูน้ำพริกผักลวกครั้งต่อไป หรือหากต้องการให้ลูกน้อยหัดกินผัก ก็อย่าลืมลองนำเทคนิคที่ให้นี้ไปทำดูนะคะ ^^
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : health.kapook.com , www.khaosod.co.th , guru.sanook.com