มะเร็งเต้านม ขึ้นชื่อว่ามะเร็งพอได้ยินก็กลัวกันทั้งนั้น ยิ่งสตรีที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก เมื่อคุณหมอบอกว่าแม้ตัดออกหรือทำการรักษาจนหาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีก มาดูกันว่าเราจะสังเกตและดูแลตัวเองอย่างไรดี
หญิงไทยเราป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังยืนยันถึงความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมมาอีกว่า มะเร็งเต้านมคือโรคที่คร่าชีวิตหญิงไทยไปมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีอัตราการเสียชีวิตปีละ 3,000 คน เลยทีเดียว และยังพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากถึง 19 ล้านคนอีกด้วย…
มะเร็งเต้านม จะรู้ได้ยังไง ว่าเรามีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมมากน้อยแค่ไหน
1. ครอบครัวมีประวัติ เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน
2. ประจำเดือนครั้งแรก มาก่อนอายุ 12 ปี
3. สำหรับคุณแม่ และญาติผู้ใหญ่ ประจำเดือนยังมา หลังอายุ 55 ปี
4. อายุมาก ความเสี่ยงยิ่งมาก
5. ทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับพวกรังสี สารเคมีอันตราย
6. เคยใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเป็นเวลานาน
7. บริโภคอาหารมันๆ หรือเนื้อแดงมาก เป็นโรคอ้วน
8. ดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่จัด
9. สุดท้าย หากมีบุตรช้า หรือไม่มีบุตรเลย ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
หากเป็นมะเร็งเต้านม อาการจะเป็นอย่างไร
1. คลำเจอก้อนที่เต้านม หรือรักแร้
2. เต้านมมีขนาดที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะใหญ่ หรือบวมขึ้นอย่างผิดปกติ
3. มีน้ำไหลออกจากหัวนม
4. เจ็บ หรือรู้สึกเหมือนหัวนมถูกดึงรั้ง
5. ผิวเต้านมไม่เรียบ ขรุขระและหยาบเล็กน้อยเหมือนเปลือกส้ม
6. สำหรับผู้ที่มีอาการหนัก อาจจะปวดกระดูก น้ำหนักลด มีแผลที่ผิวหนัง หรือแขนบวมได้
อ่านต่อ >> “วิธีตรวจหามะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเอง” คลิกหน้า 2
วิธีตรวจหามะเร็งเต้านมเบื้องต้น ด้วยตัวเอง
อาการที่บ่งบอกว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็ง อันได้แก่ “ระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปร แผลที่ไม่รู้จักหาย ร่างกายมีก้อนตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินกลืนอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝหูดที่เปลี่ยนไป ไอและเสียงแหบจนเรื้อรัง” และยังมี 7 สัญญาณอันตรายของอาการที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน
- เริ่มด้วยสัญญาณที่หนึ่งมีก้อนที่เต้านมหรือที่รักแร้ เป็นอาการยอดนิยมอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงรีบมาพบแพทย์ ไม่ว่าจะแน่ใจหรือไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้องอกหรือเนื้อเต้านมที่หนาผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำหรือส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติม
- สัญญาณที่ 2 รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ต้องหมั่นสังเกตทั้งรูปทรงและขนาดของเต้านมอย่างสม่ำเสมอ และควรเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของรอบเดือน
- ต่อด้วยสัญญาณที่ 3 มีน้ำผิดปกติไหลจากหัวนม ผู้หญิงในวัย 41-58 ปีอาจมีของเหลวที่ออกจากหัวนมทั้งสองข้างได้บ้างจำนวนเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนตามรอบเดือน แต่ถ้าออกจากหัวนมข้างเดียวหรือมีสีคล้ายเลือดก็ควรมาพบแพทย์
- สัญญาณที่ 4 รูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปกติรูปร่างและขนาดของหัวนมมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตามอายุขัยและน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นได้ แต่ที่ต้องระวังหมั่นสังเกตเป็นพิเศษคือ หัวนมที่เคยปกติกลายเป็นหัวนมบอด อาจเกิดจากมีก้อนเนื้อมะเร็งใต้หัวนม ที่ลุกลามไปที่ท่อน้ำนมและดึงรั้งหัวนมให้บุ๋มลง รวมถึงต้องสังเกตด้วยว่ามีแผลที่หัวนมหรือไม่
- สัญญาณที่ 5 สีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีรอยบุ๋ม รอยย่น ผื่นคันที่รักษาแล้วไม่หายขาด เป็นๆ หายๆ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
- สัญญาณที่ 6 อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือที่รักแร้ ที่ไม่ใช่อาการเจ็บเต้านมปกติระหว่างมีประจำเดือน โดยเฉพาะเจ็บเต้านมข้างเดียวหรือรักแร้ข้างเดียว
- สัญญาณที่7 ผิวหนังของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นรอยบุ๋มแบบลักยิ้ม มีรอยย่น ผิวหนังบวมหนาตัวเหมือนผิวของเปลือกส้ม ก็อย่านึกว่าไม่มีอะไร เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่าเซลล์มะเร็งได้ลุกลามขึ้นมาที่ชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วิธีการป้องกันการเป็นโรคมะเร็งเต้านม
- ลดของมัน ของทอด และเนื้อแดง
- เลือกรับประทานผัก และผลไม้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 30-45 นาทีเป็นอย่างน้อย
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มากจนเกินเกณฑ์
- งดแอลกอฮอล์ บุหรี่
- หากเป็นไปได้ มีบุตรในช่วงอายุที่เหมาะสม ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกันค่ะ
อย่างไรก็ตามคุณผู้หญิงต้องหมั่นสังเกตหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งตามสัญญาณอันตรายทั้ง 7 ประการนี้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ต้องรีบไปพบแพทย์ตรวจเมื่อมีอาการต้องสงสัยทันที และตรวจแมมโมแกรมประจำปีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลังนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจาก Amarin Baby & Kids
อ่านต่อ >> “12 อาหารต้านมะเร็งเต้านม” คลิกหน้า 3
เพราะมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม และนั่นรวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเรามาทานอาหารต้านมะเร็งเต้านมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายกันดีกว่าค่ะ
- ธัญพืชโดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น ช่วยให้ร่างกายได้รับโฟเลทซึ่งสามารถให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้
- เต้าหู้หรือน้ำนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วสามารถให้ผลดีต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งและลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รับประทานในปริมาณมากเกิน เพราะการได้รับถั่วเหลืองในปริมาณมากเกิน ก็สามารถส่งผลให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตขึ้นจากฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิงของถั่วเหลืองได้
- กระเทียมและหอมมีสารออร์กาโนซัลเฟอร์ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ มีกลิ่นฉุน แต่สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะกระเทียมป้องกันมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง อีกทั้งเพิ่มภูมิคุ้มกันลดน้ำตาลในเลือด ต้านการเหนี่ยวนำการเกิดมะเร็งจากสารเคมี ลดการเจริญของเซลล์มะเร็ง และลดคอเรสเตอรอลได้อีกด้วย
- พริกมีสรรพคุณทางยาอีก พริกคือ แคปไซซิน ซึ่งช่วยให้เซลล์มะเร็งตายได้ นอกจากพริกแล้วสารแคปไซซินยังพบได้ในพริกไทยอีกด้วย ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีพริกเป็นส่วนประกอบจึงช่วยต้านมะเร็งได้
- ขิงและข่าในข่ามีสารเคมีธรรมชาติที่กระตุ้นเอนไซม์กลูตาไธโน-เอส-ทรานสเฟอรเรส ซึ่งมีหน้าที่ในการแอนติออกซิแดนท์ จึงมีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็งได้ ดังนั้น เราควรรับประทานอาหรที่มีข่าขิงซึ่งเป็นพืชในกลุ่มเดียวกับข่าก็ยังช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ เนื่องจากขิงมีสาร 6-จินเจอรอล ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
- ขมิ้นและพริกไทยดำสารเคมีธรรมชาติที่พบได้ในขมิ้นและพริกไทยดำ ช่วยยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกที่เต้านม
- ผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัดและควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ผลไม้ที่มีสีแดงสดและมีสีออกแดงหรือสีส้ม ที่สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือกเพราะให้สาร flavonoid ลดการเกิดมะเร็งได้
- กลุ่มผักมีสีได้แก่ บีทรูท ผักโขม แครอท มะเขือเทศ ยิ่งมีสีเข้มมากย่อมหมายถึงว่ามาสารมีประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น สารสีเหล่านี้ได้แก่ ไบโอฟลาวานอยด์ และแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนูมูลอิสระที่ช่วยปกป้องร่างกายและยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการทำลายเซลล์มะเร็งอีกด้วย
- กระหล่ำปลีกระหล่ำดอกซึ่งมีสารไฟโตเคมิคัล ที่มีสรรพคุณในการต่อต้านมะเร็งเต้านม โดยการปรับเปลี่ยนฮอร์โมนเอสโตรเจนประเภทที่ส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็ง ให้กลายเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยป้องกันมะเร็ง
- เห็ดการบริโภคเห็ดและสารสกัดจากเห็ด มีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็ง และกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และการวิจัยก็พบอยู่เสมอว่า ชาเขียวก็มีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็งเช่นกัน
- ชาเขียวในการศึกษาเดียวกันนี้พบว่าเมื่อบริโภคเห็ดร่วมกับชาเขียวจะยิ่งป้องกันมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม โดยไปลดผลความรุนแรงของมะเร็งลง
- พืชผักจากทะเลมีคุณสมบัติช่วยชะลอการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น สาหร่ายทะเล
ลองเปลี่ยนอาหารตามใจปาก มาหมั่นทานอาหารต้านมะเร็งเต้านมดูบ้างนะคะ ร่างกายจะได้แข็งแรง และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คือ ไขมัน น้ำตาล นม อาหารผสมสี ผลไม้รสหวาน เนื้อสัตว์ ของดอง ด้วยนะคะ
ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์ โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ , health.sanook.com/3225/
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก กระทรวงสาธารณสุข, BCACampaign.com,siamhealth.net