AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รู้ไหม “แม่หลังคลอด” ต้องได้รับการคนดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องร่างกายและอารมณ์

แม่หลังคลอด มีหลายสิ่งเกิดขึ้นกับมาก แต่น้อยรายนักที่จะสังเกตเห็น เพราะลำพังแค่เรื่องเจ้าตัวน้อยก็ยุ่งวุ่นวายจนหัวหมุนอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายๆคนถึงขอเว้นวรรคเรื่องของตัวเอง พอรู้ตัวอีกที ความเครียดก็เข้าจู่โจมแล้ว เมื่อบวกกับอาการอดนอน กินไม่เต็มที่ทุกมื้อ และฮอร์โมนที่ขึ้นแรงลงแรงยิ่งกว่าราคาทองคำเข้าไปด้วยแล้วล่ะก็ทำเอาแม่แทบทรุด ผิวก็เยิน ผมก็ร่วง อย่าปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งไปลึกขนาดนั้น ควรแบ่งเวลาให้กับตัวเองบ้าง ฉวยจังหวะช่วงที่ลูกนอนหลับนี่แหละ ดูแลเติมเต็มความสุขให้ตัวเองอย่างเต็มที่


แม่หลังคลอด สังเกตดูสิ อะไรที่เปลี่ยนแปลงไป

ผิวหน้า+ผิวกาย งานนี้ต้องโทษเจ้าฮอร์โมนตัวดี ที่ทำให้ผิวเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฝ้าตามโหนกแก้ม และหน้าผาก ผิวหน้า ผิวกายหมองคล้ำ เกิดสิว ผื่นคัน รวมถึงผิวแห้ง

วิธีแก้ ปัญหาแย่ๆ เหล่านี้

1.กินอาหารบำรุงผิวให้ครบ 5 หมู่

เพื่อซ่อมแซมผิวหนังส่วนที่สึกหรอในร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินอีและวิตามินซี ช่วยผลัดเซลล์ผิวส่วนที่หมองคล้ำให้จางลงได้

 

2. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นจัด

เพราะจะทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นและเกิดการระคายเคือง

 

3. พักผ่อนให้เพียงพอ

ฟังดูยากแต่คงต้องพยายามทำกันสักนิด เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ และสร้างเซลล์ใหม่ ๆ ขึ้นมา

4. ออกกำลังกายเบา ๆ

เช่น เดินช้า ๆ หรือการเล่นโยคะท่าง่ายๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อต้นขา กระชับขึ้น โดยคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ ควรพักประมาณ 2-3 อาทิตย์ก่อนแล้วจึงเริ่มออกกำลังกาย ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอดควรพักประมาณ 1 เดือน

่อ่านเรื่อง “รู้ไหม “แม่หลังคลอด” ต้องได้รับการคนดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องร่างกายและอารมณ์” คลิกหน้า 2

5.ประคบสมุนไพร อบไอน้ำ ขัดผิว

ก็ช่วยฟื้นฟูให้ผิวหลังคลอดกลับมาสวยขึ้นได้ เพราะการประคบร้อนช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นผิวพรรณจึงเปล่งปลั่งขึ้น ยิ่งถ้าได้ขมิ้น หรือมะขาม มาเป็นผู้ช่วยแล้วล่ะก็ ผิวยิ่งวิ้งเลยล่ะ ส่วนการอบไอน้ำนอกจากจะช่วยผ่อนคลายได้ทั้งจิตใจและผิวแล้ว ยังช่วยกระชับผิวได้ด้วย ข้อควรระวัง สำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด ไม่ควรประคบร้อนหรือขัดผิวในบริเวณที่ใกล้กับแผลผ่าคลอด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ ทางที่ดีคุณแม่ควรเริ่มทำหลังจากคลอดประมาณ 1 เดือนค่ะ

6. หลีกเลี่ยงสารเคมี

หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแทน เพราะถ้าเราได้รับสารเคมีมากเกินไปอาจส่งผ่านให้ลูกทางน้ำนมได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นทำจากธรรมชาติ ก่อนอื่นพลิกดูฉลากก่อน ต้องไม่มีน้ำหอม ปราศจากสารพาราเบน และ SLS (Sodium Lauryl Sulfate)

7. ดูแลรอบดวงตาให้มากเป็นพิเศษ

เพราะนอกจากการอดนอนแล้ว ความเครียด น้ำหนักที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงกระทันหันของฮอร์โมน มีส่วนทำให้ดวงตาเราหมองคล้ำทั้งนั้น แนะนำให้ใช้อายครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินเค แต่ถ้าหาไม่ได้จะใช้อายครีมที่ส่วนผสมหลักจากธรรมชาติก็ได้

่อ่านเรื่อง “รู้ไหม “แม่หลังคลอด” ต้องได้รับการคนดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องร่างกายและอารมณ์” คลิกหน้า 3

นอกจากนี้ ผู้หญิงหลังคลอดอาจมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด
มาดูกันว่าเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปผู้หญิงหลังคลอดใหม่ๆ ภายในสัปดาห์แรก อาจมีอาการร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หรือวิตกกังวล ซึ่งพบได้ราว 85% ของผู้หญิงหลังคลอด ภาวะนี้จะเรียกว่า ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues) โดยภาวะนี้จะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวและมักดีขึ้นได้เองในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

อารมณ์เศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร?

ในปัจจุบันยังไม่มีการอธิบายสาเหตุที่แน่นอนของภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด(Postpartum Blues)ว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนอย่างมากในช่วงหลังคลอด ซึ่งภาวะนี้จำเป็นต้องแยกจากโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด (Postpartum Depression) ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงกว่าและส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูทารกอย่างมาก และมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของทารก


อารมณ์เศร้าหลังคลอดจัดว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่? 

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues)จัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตจากปรับตัว ที่ยังไม่ถึงขั้นจะจัดว่าป่วยจะมีแค่อาการอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่ายขึ้น หงุดหงิด วิตกกังวลเล็กน้อย หรือนอนหลับยากขึ้นเท่านั้นโดยอาการจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆหลังคลอด และจะสามารถดีขึ้นได้เองภายในเวลาไม่เกิน2 สัปดาห์
แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด (Postpartum Depression) ที่จัดว่าเป็นความป่วยจะมีอาการที่รุนแรงกว่าและ โดยผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้าอย่างมาก วิตกกังวลจนเกินเหตุ กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับทารก หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายถึงขั้นโทษตัวเอง หรือคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาการจะเริ่มเกิดช้ากว่าภาวะแรก โดยจะเกิดหลังจากคลอดไปแล้ว 2-4 สัปดาห์

ภาวะนี้จำเป็นต้องมารักษาหรือไม่ อย่างไร?

ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดนั้นมีอาการไม่รุนแรง และสามารถดีขึ้นได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านเศร้า เพียงแค่ได้รับการปลอบโยนและประคับประคองจิตใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะ สามี สมาชิกในครอบครัว และเพื่อนๆ ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ส่วนโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอดเป็นโรคที่รุนแรงกว่าและไม่สามารถหายได้เอง การปลอบโยนและประคับประคองจิตใจจากคนรอบข้างดังเช่นในภาวะแรกก็ยังจำเป็น แต่ควรต้องได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจำเป็นต้องได้รับยาต้านเศร้าร่วมกับทำจิตบำบัด คนรอบข้างต้องช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้ป่วยในการดูแลทารก งานบ้านและการงานอื่นๆ บ้าง เพราะผู้ป่วยทำอะไรได้ไม่มากนักขณะที่ป่วย

จะป้องกันและดูแลตนเองได้อย่างไร?

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด และโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด มีเพียงการศึกษาถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เท่านั้น โดยพบว่า ถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคซึมเศร้ามาก่อน เคยมีภาวะอารมณ์แปรปรวนในช่วงก่อนมีรอบเดือน เคยมีอารมณ์เศร้าในขณะตั้งครรภ์ หรือเคยมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดในครรภ์ก่อนๆ ร่วมกับมีปัญหากับคู่สมรส และมีความเครียดในช่วงตั้งครรภ์ ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้น

บทความโดย : กองบรรณาธิการ AMARIN Baby & Kids, เรื่อง “ซึมเศร้าหลังคลอด”จากเว็บไซต์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย