AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

บล็อกหลังผ่าคลอด กับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้!!

บล็อกหลังผ่าคลอด กับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น

บล็อกหลังผ่าคลอด เป็นอีกหนึ่งวิธีของการคลอดลูก ซึ่งคุณแม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการคลอดลูกมาก่อนส่วนใหญ่แล้วจะเกิดความกลัว และกังวลว่าจะมีผลหรืออาการข้างเคียงอะไรหรือไม่ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาให้ได้ทราบกันค่ะ

 

บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร ทำไมต้องบล็อกหลัง?

ว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่กำลังเตรียมตัวคลอดลูกด้วยวิธีการผ่าคลอดมีความจำเป็นต้อง บล็อกหลังผ่าคลอด ซึ่งการบล็อกหลัง (Painless Labor) คือการฉีดยาชาที่ไขสันหลัง เพื่อช่วยระงับความเจ็บปวดจากการเจ็บท้องคลอดลูก

ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นทางสุขภาพไม่สามารถเบ่งคลอดลูกตามธรรมชาติได้ คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าคลอด ซึ่งการผ่าคลอดหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องมีก็คือการบล็อกหลังโดยจะต้องฉีดยาชาตรงบริเวณรอบนอกของเส้นประสาทไขสันหลังช่วงบั้นเอว

การบล็อกหลังจะเริ่มขึ้นตอนไหน?

ตามทางการแพทย์การบล็อกหลังจะต้องทำโดยคุณหมอวิสัญญีแพทย์โดยเฉพาะค่ะ ซึ่งการบล็อกหลังเพื่อระงับอาการเจ็บครรภ์ จะทำเมื่อเข้าสู่ช่วง active phase ที่ปากมดลูกจะต้องเปิดอย่างน้อย 3-4 เซนติเมตรขึ้นไป และมดลูกบีบตัวด้วยความถี่สม่ำเสมอทุก 3-4 นาที[1]

คุณแม่พอทราบกันคร่าวๆ แล้วนะคะว่าบล็อกหลังคลอดลูกคืออะไร ต่อไปเราจะไปดูกันว่าบล็อกหลัง ผลข้างเคียงมีอะไรร้ายแรงหรือไม่ รวมถึงข้อดีของการบล็อกหลังด้วยค่ะ

อ่านต่อ ข้อดีขอการบล็อกหลังคลอดลูก หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ข้อดีของการบล็อกหลัง

เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ คนกลัวการบล็อกหลังกันใช่ไหมคะ เพราะจากที่เคยได้ยินคนที่เขามีประสบการณ์มาก่อนเล่าให้ฟังว่าต้องนอนงอหลังเหมือนกุ้งแล้วก็จะมีเข็มจิ้มลงไปที่หลัง แค่นึกภาพก็หวาดเสียวแล้ว แต่รู้ไหมคะว่าการบล็อกหลังก็มีข้อดีอยู่ด้วยเหมือนกันค่ะ ไปดูกันว่าคืออะไร…

  1. ไม่เกิดความเจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์คลอด
  2. คุณแม่รู้สึกตัวตลอดเวลาขณะผ่าคลอด
  3. ทารกในครรภ์จะไม่ถูกกดการหายใจ ซึ่งหากเป็นการดมยาสลบ ตัวยาอาจทำให้เสี่ยงต่อการหายใจของทารกทำให้เกิดอาการตัวเขียวขึ้นได้
  4. การเย็บแผลผ่าคลอด คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บ
บทความแนะนำ คลิก>> ผ่าคลอด หรือ คลอดธรรมชาติ แบบไหนดีกว่ากัน?

บล็อกหลัง ผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอด!!

  1. การบล็อกหลังจะต้องมีการแทงเข็มขนาดเล็กเพื่อฉีดยาชาเข้าไปที่บริเวณกระดูกสันหลังระดับเดียวกับบั้นเอว ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เจ็บบริเวณสันหลัง หรือเสียวร้าวลงไปที่ขา[2]
  2. ผลของยาชาอาจทำให้เกิดการขยายตัวของเส้นเลือด และทำให้คุณแม่บางรายมีความดันโลหิตลดลง ทำให้เลือด ไปเลี้ยงที่มดลูกและรกลดลง อาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะขาดออกซิเจนชั่วคราว ทารกจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้[3]
  3. คุณแม่บางคนหลังผ่าคลอดแล้ว อาจมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนขึ้นได้
  4. ไม่สามารถขยับ หรือลุกขึ้นเดินได้ประมาณ 2-4 ชั่วโมงหลังจากผ่าคลอดแล้ว
  5. ไม่สามารถให้นมลูกได้ทันที เพราะคุณแม่บางคนหลังผ่าคลอดเสร็จ จะเพลียและหลับไป
  6. ปัสสาวะไม่ออก เป็นผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 12 ชั่วโมงแรก ซึ่งมักจะได้รับการสวนสายปัสสาวะช่วย
  7. อาการปวดหลัง อาจจะเป็นได้ในช่วง 1-2 เดือนแรก หรือคุณแม่บางท่านอาจมีอาการของผลข้างเตียงนี้นานเป็นเดือน

ถึงแม้ว่าการบล็อกหลังจากมีอาการข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ค่ะ เพราะหลังจากคุณแม่ได้พักฟื้นทั้งที่โรงพยาบาล และกลับมาพักที่บ้านอย่างเต็มที่แล้ว อาการข้างเคียงเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไปจนเป็นปกติค่ะ

อ่านต่อ การดูแลรักษาแผลผ่าคลอด หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การดูแลรักษาแผลผ่าคลอด

อย่างที่ทราบกันดีว่าการผ่าคลอดอาจจะทำให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดได้ช้ากว่าคุณแม่ที่คลอดลูกธรรมชาติ ดังนั้นเพื่อให้สุขภาพหลังคลอดลูกกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว สิ่งสำคัญคือการดูแลรักษาแผลหลังผ่าคลอดลูกนั่นเองค่ะ

  1. ในช่วง 7 วันแรก หลังผ่าตัด ต้องทานยาและทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด หากมีอาการปวดแผลสามารถทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดได้
  2. เมื่อครบ 7 วัน คุณหมอจะนัดมาดูแผลผ่าตัด หากแผลติดสนิทดี คุณหมอจะให้ตัดไหม หลังจากนั้นคุณแม่ต้องดูแล ทำความสะอาดแผลให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  3. ควรสอบถามคุณหมอเรื่องแผล ว่าสามารถโดนน้ำได้หรือไม่ เพราะแผลผ่าตัดคลอดที่โดนน้ำมีโอกาสอักเสบ ติดเชื้อสูงกว่าแผลฝีเย็บ และทำให้แผลปริแยก ติดยาก ผิวไม่เรียบเนียนอีกด้วย
  4. ในช่วง 1-2 เดือน หลังคลอด ยังไม่ควรยกของหนัก ขับรถ ออกกำลังกาย และมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากแผลภายใน มดลูกจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะหายสนิท ดังนั้นหากเกิดการกระทบกระเทือนอาจทำให้ฉีกขาดได้ เมื่อแผลหายสนิทจึงเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกว่าจะเป็นปกติ
  5. แผลคีลอยด์ หรือแผลนูนแดงที่เกิดจากการผ่าตัด สามารถป้องกันได้ โดยในช่วง 3 เดือนแรกหลังผ่าตัดไม่ควรใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะทำให้แผลยืดตึงตลอดเวลา เพราะการยืดและหดของผิวหนังจะทำให้แผลนูนไม่เรียบเนียนตามเดิม

การคลอดลูกไม่ว่าจะด้วยวิธีการเบ่งคลอดธรรมชาติ หรือคลอดด้วยวิธีการผ่า ต่างก็ต้องได้รับการดูแลเอาใจในเรื่องของสุขภาพหลังคลอดด้วยกันทั้งนั้น เพื่อให้คุณแม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว จึงแนะนำว่านอกจากการดูแลแผลจากการคลอดลูก คุณแม่ควรต้องบำรุงสุขภาพร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วยค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ไขข้อข้องใจ! “ผ่าคลอด น้ำนมไหลช้า” จริงหรือ? พร้อมเทคนิคนวดเปิดท่อน้ำนม (มีคลิป)
แผลผ่าคลอดอักเสบ ปวด คัน เป็นหนอง ต้องทำอย่างไร?


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2แพทย์หญิงปิยะรัตน์ สัมฤทธิ์ประดิฐ์. การฉีดยาที่ไขสันหลัง (Painless labor). หนังสือคู่มือตั้งครรภ์ทันสมัย หน้า  216-217.
3รศ.นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์. การบล็อกหลัง. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่. หน้า 367.