เลี้ยงลูกด้วย นมแม่ นานๆ จะทำให้กระดูกแม่แข็งแรง หรือกระดูกพรุนกันแน่? ได้คำถามนี้มาจากคุณแม่นักปั๊มที่ให้นมลูก เองมาตั้งแต่แรกคลอด จนตอนนี้ลูกอายุ 9 เดือน น้ำนมแม่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ถามว่าดีไหม เป็นที่น่ายินดีเพราะมีนมให้ลูกกินได้นานเลย แต่ว่าจะทำให้แคลเซียมในร่างกายแม่ลดลงไหมนะ! ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบมาให้ค่ะ
เลี้ยงลูกด้วย นมแม่ หนึ่งภารกิจต้องทำให้สำเร็จ
เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อมีว่าที่คุณแม่ และแม่มือใหม่จำนวนมากยังตั้งใจ เลี้ยงลูกด้วย นมแม่ กันอยู่ เพราะความวิเศษของนมแม่ นอกจากจะช่วยให้ประหยัดเงินค่าซื้อนมผงให้ลูกทานแล้ว น้ำนมแม่ยัง สด สะอาด ปลอดภัยเป็นอาหารหนึ่งเดียวที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนตั้งแต่หนึ่งหยดน้ำนมแรกที่ลูกได้กินชั่วโมงแรกหลังคลอดเลยค่ะ
นมแม่ช่วง 3-4 วันแรก จะเรียกว่าเป็น ระยะหัวน้ำนม ที่มีคอลอสตรัม (colostrums) คือ มีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อประมาณร้อยละ 10 ของการคลอด จากการศึกษาในปากีสถานและในสวีเดนพบว่า การให้น้ำนมแม่ในระยะแรกเกิดสามารถลดอัตราการเกิดภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด (neonatal sepsis) ได้ ในน้ำนมแม่จะมีสารภูมิคุ้มกันที่สำคัญซึ่ง ได้แก่ secretary IgA, เม็ดเลือดขาว, ไลโซไซม์ (lysozyme เอนไซม์ที่มีฤทธิ์ย่อยสลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียทำให้เชื้อตาย), แลตโตเฟอริน (lactoferrin โปรตีนที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค) และ bifidus growth factor (สารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของแล็กโต-บาซิลัส ช่วยให้แบคทีเรียไม่สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้)[1]
บทความแนะนำ คลิก>> นมเกลี้ยงเต้า บันไดสู่การให้นมแม่สำเร็จ
เห็นไหมคะว่าถ้าตั้งใจและเต็มที่กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะมีแต่ได้ประโยชน์ ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่องที่หากให้ลูกกินนมแม่นานๆ แล้วจะทำให้แม่กระดูกเสื่อมหรือเปล่า หรือให้ลูกกินนมแม่นานๆ ทำให้แม่กระดูกแข็งแรงใช่ไหม? เราจะไปค้นหาคำตอบในเรื่องนี้พร้อมกันค่ะ
อ่านต่อ ให้ลูกกินนมแม่นาน ช่วยกระดูกแข็งแรง หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เลี้ยงลูกด้วย นมแม่ ช่วยให้กระดูกแม่แข็งแรงจริงหรือไม่?
แคลเซียมในร่างกายคือตัวกำหนดความแข็งแรงของกระดูก ฟัน และข้อต่อต่างๆ ให้กับร่างกายของเราทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนสูงอายุ ถ้าแคลเซียมลดน้อยลงไปนั่นหมายความว่ากระดูกย่อมเสื่อมโทรมเร็วและไม่แข็งแรง ยิ่งโดยเฉพาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์การเติมเต็มแคลเซียมให้กับร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะลูกในท้องจะมีการแบ่งเอาแคลเซียมในร่างกายแม่ส่วนหนึ่งไปใช้ในการสร้างร่างกาย กระดูก และฟัน ไปดูกันค่ะว่าในหนึ่งวันปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
- เด็ก 3–10 ขวบควรได้รับแคลเซียมประมาณ 800 มิลลิกรัมต่อวัน
- วัยรุ่นและผู้ใหญ่ 800–1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
- สตรีมีครรภ์และคุณแม่ที่ให้นมบุตรควรได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้นคือ 1,200-1,500 มิลลิกรัมต่อวัน[2]
แคลเซียมไม่เพียงแต่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นสารที่จำเป็นต่อกระบวนการทางชีวเคมีที่สำคัญต่างๆ ในเซลล์ภายในร่างกายของทุกคนอีกด้วยค่ะ ซึ่งถ้าจะพูดกันตามจริงเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณแม่นั้นไม่ขาดแคลเซียมก็คือ ควรเริ่มสะสมแคลเซียมให้กับร่างกายมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และเมื่อท้องแล้วก็ต้องเติมแคลเซียมให้มากขึ้นกว่าปกติ(เพื่อลูกในท้องด้วย) และช่วงให้นมลูกก็ยังต้องเติมแคลเซียมให้ร่างกายอยู่ตลอด เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่จะไม่มีปัญหาขาดแคลเซียมนั่นเองค่ะ
ให้นมลูกนานๆ ช่วยให้กระดูกแม่แข็งแรงได้ใช่ไหม?
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ “นมแม่ ช่วยลดปัญหากระดูกพรุน โรคกระดูกหักเมื่อเข้าสู่วัยทอง ยิ่งให้ นมลูกนาน ยิ่งทำให้กระดูกแม่แข็งแรง เพราะขณะที่แม่ให้นม จะมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาซึ่งทำหน้าที่ช่วยพาแคลเซียมที่ อยู่ในลำไส้ไปสะสมที่กระดูกได้ดีขึ้น ขณะที่แม่ไม่ได้ให้นมลูก จะไม่มีฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมา แคลเซียมที่กินเข้าไป จะ ถูกดูดซึมเข้าร่างกายน้อยกว่า จะสูญเสียออกไปทางลำไส้มากกว่า”[3]
การให้ลูกกินนมแม่ได้นานๆ เป็นเรื่องดีสองต่อค่ะ คือ ช่วยให้ร่างกายลูกแข็งแรงเจริญเติบโตมีพัฒนาการดี และสองช่วยให้ แม่ไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความแม่จะให้นมลูกอย่างเดียวโดยที่ไม่เติมแคลเซียมกลับไปให้ร่างกาย กันนะคะ เพราะการทานอาหารที่มีแคลเซียมยังจำเป็นและสำคัญอยู่ค่ะ
ให้ลูกกินนมแม่เสี่ยงเสียแคลเซียมในร่างกายได้ไหม?
ในคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก ร่างกายมีความจำเป็นต้องใช้แคลเซียมในปริมาณมากเพื่อการสร้างน้ำนม จึงทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก
บทความแนะนำ คลิก>> สุดยอด อาหารสมุนไพร กระตุ้นน้ำนมแม่ เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพช่วยลูกสมองดี
ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ จากหน่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร ร่างกายควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,200 – 1,500 มิลิกรัม/วัน ซึ่งพบว่านอกเหนือจากอาหารที่มีแคลเซียม และอาหารเสริมแคลเซียมแล้ว แม่ที่ให้นมลูกควรออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ เช่น การว่ายน้ำ และ กิจกรรมกลางแจ้งซึ่งต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละชั่วโมงต่อวัน จะช่วยเพิ่มการดูดแคลเซียมที่ทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี”[4]
เพื่อเป็นการลดเสี่ยงปัญหาทางสุขภาพอย่างโรคกระดูกผุ กระดูกพรุน แนะนำว่าคุณแม่ควรเพิ่มปริมาณการทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากกว่าปกติ และหมั่นออกกำลังตามคำแนะนำข้างต้น เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกได้อย่างมีความสุขและมั่นใจได้ว่าสามารถให้นมลูกได้นานโดยที่กระดูกจะไม่มีปัญหา แต่กลับจะเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้นค่ะ
อ่านต่อ 16 อาหารแคลเซียมสูง แม่ให้นมลูกควรกิน หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
16 แหล่งอาหารแคลเซียมสูง ที่อยากให้แม่ให้นมลูกได้กิน!
เพื่อให้มั่นใจว่าการให้นมลูกร่างกายจะไม่ขาดแคลเซียม ผู้เขียนมีแหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมสูงมาแนะนำให้ค่ะ ซึ่งข้อมูลนี้มาจาก กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
ดื่มนม 1 กล่อง(250 มิลลิลิตร) จะได้ปริมาณแคลเซียม 300 มิลลิกรัม
- นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม
ดื่มนมถั่วเหลือง 1 กล่อง(250 มิลลิลิตร) จะได้ปริมาณแคลเซียม 250-300 มิลลิกรัม
- โยเกิร์ต
ทานโยเกิร์ต 1 ถ้วย จะได้รับปริมาณแคลเซียม 157 มิลลิกรัม
- นมเปรี้ยมพร้อมดื่ม
ดื่มนมเปรี้ยม 1 กล่อง(180 มิลลิลิตร) จะได้ปริมาณแคลเซียม 106 มิลลิกรัม
- ยาคูลท์
ดื่มยาคูลท์ 1 ขวด จะได้ปริมาณแคลเซียม 38 มิลลิกรัม
- เต้าหู้อ่อน
ทานเต้าหู้อ่อน 5 ช้อนโต๊ะ จะได้ปริมาณแคลเซียม 150 มิลลิกรัม
- ปลาเล็กปลาน้อยทอด
ทานปลาเล็กปลาน้อย 2 ช้อนโต๊ะ จะได้ปริมาณแคลเซียม 226 มิลลิกรัม
- ปลาซาร์ดีนกระป๋อง
ทานปลาซาร์ดีน 2 ช้อนโต๊ะ จะได้ปริมาณแคลเซียม 90 มิลลิกรัม
- กุ้งแห้ง
ทานกุ้งแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ จะได้ปริมาณแคลเซียม 140 มิลลิกรัม
- หอยนางรม
ทานหอยนางรม 6 ตัว จะได้ปริมาณแคลเซียม 300 มิลลิกรัม
- ผักคะน้าผัด
ทานผักคะน้า 1 ทัพพี จะได้ปริมาณแคลเซียม 71 มิลลิกรัม
- ยอดแค
ทานยอดแค 1/2 ขีด (50 กรัม) จะได้ปริมาณแคลเซียม 198 มิลลิกรัม
- ใบยอ
ทานใบยอ 1/2 ขีด (50 กรัม) จะได้ปริมาณแคลเซียม 420 มิลลิกรัม
- บรอคโคลี่
ทานบรอคโคลี่ 2/3 ถ้วย จะได้ปริมาณแคลเซียม 88 มิลลิกรัม
- ถั่วแระต้ม
ทานบรอคโคลี่ 1 ขีด(100 กรัม) จะได้ปริมาณแคลเซียม 194 มิลลิกรัม
- งาดำ
ทานงาดำ 1 ช้อนโต๊ะ จะได้ปริมาณแคลเซียม 132 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ก็ยังมีอาหารแคลเซียมสูงนอกเหนือจากตัวอย่างอาหารที่แนะนำไปข้างต้นนะคะ คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนทานได้ค่ะ ผู้เขียนขอให้คุณแม่ทุกคนมีความสุขกับการเป็นแม่ และสุขยิ่งขึ้นที่ได้ให้ลูกกินนมแม่ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ขนาดกระเพาะทารก จะจุปริมาณน้ำนมแม่ได้เท่าไหร่?
7 ท่าโยคะ หลังลูกหย่านม ช่วยเต้านมแม่หายเหี่ยวกลับมาเต่งตึงอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1ศิราภรณ์ สวัสดิวร, กุสุมา ชูศิลป์, กรรณิการ์ บางสายน้อย.มีอะไรในน้ำนมแม่.ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
2 ศ.ดร. นทีทิพย์ กฤษณามระหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “แคลเซียม” นั้นสำคัญไฉน?
3พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.ให้ลูกกินนมแม่นาน ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น. www.breastfeedingthai.com
4ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ จากหน่ายวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. แม่ให้นมบุตรเสี่ยงสูญเสียแคลเซียม.www.bangkokbiznews.com