ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คืออะไร?
ในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่คอยทำหน้าที่ตึงตัวและช่วยขยายทางเดินหายใจในช่องคอจะหย่อนตัวลง ซึ่งภาวะนี้เองทำให้ทางเดินหายใจแคบลง แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเด็กหรือคนทั่วไป แต่ในผู้ป่วย OSA ทางเดินหายใจจะตีบแคบลงมาก ทำให้การหายใจลำบากขึ้น สมองจะรับรู้ภาวะนี้และสั่งการให้เพิ่มแรงในการหายใจ สิ่งนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่นเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อช่องคอกลับมาตึงตัวและเปิดทางเดินหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ นับสิบหรือถึงร้อยครั้งในแต่ละคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับและส่งผลให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอขณะนอนหลับ
ภาวะ OSA หากไม่รักษาจะเกิดผลเสียอย่างไร?
หากนอนพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ร่างกายมีปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้อย่างแน่นอน เช่น ทำให้มีปัญหาในการเรียน หงุดหงิดง่าย ง่วงซึม อ่อนเพลีย เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เลี้ยงไม่โต สมาธิลดลง การเรียนแย่ พฤติกรรมเปลี่ยนไป ปัสสาวะรดที่นอนได้ และหากไม่ได้รับการรักษาในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคซึมเศร้า และโรคอื่น ๆ ตามมาได้
สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
- น้ำหนักตัวเกิน ทำให้ไขมันไปสะสมที่เนื้อเยื่อในลำคอมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีคอหนา จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง หายใจลำบากมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
- ทางเดินหายใจแคบ ซึ่งสาเหตุนี้ อาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม หรือมีต่อมทอนซิลหรือต่อมแอดีนอยด์ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองอยู่บริเวณหลังโพรงจมูกและลำคอโต ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้น
- เยื่อบุโพรงจมูกบวมโตหรือภาวะคัดจมูก รวมถึงผู้ที่มีผนังกั้นช่องจมูกคดและผู้ป่วยริดสีดวงจมูก จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง และมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากถึง 2 เท่าของคนทั่วไป
- เพศ เด็กชายจะมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าเด็กผู้หญิงถึง 2 เท่า
- พันธุกรรม พบได้มากในผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด เป็นต้น
การป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
การป้องกันสามารถทำได้โดยการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน จะช่วยลดการหดตัวของทางเดินหายใจ ลดการกรน และทำให้ไม่ง่วงในระหว่างวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น แอโรบิก หรือเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับลงได้
- นอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะเพิ่มโอกาสให้ลิ้นไปปิดกั้นทางเดินหายใจ
การนอนของเด็ก นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมการนอนที่ผิดแปลกไป หรือมีพฤติกรรมการนอนผิดปกติที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและป้องกันต่อไปค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกชาย เมย์ มาริษา นอนกรน ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเช็กภาวะหยุดหายใจ
13 ความเสี่ยงเมื่อ ลูกคลอดก่อนกำหนด
คัมภีร์นอนหลับ สร้างอัจฉริยะให้ลูกน้อย
สังเกตด่วน! ลูก นอนอ้าปาก เสี่ยงเป็น 4 โรคนี้!
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, พบแพทย์, ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่